ความทุกข์ของหัวหน้างาน

ความทุกข์ของหัวหน้างาน ลูกน้องไม่ปลื้ม ติดหัวหน้าเก่า เจอบ่างช่างยุ ทำอย่างไรดี

ความทุกข์ของหัวหน้างาน มีลูกน้องคนไหนคิดเห็นใจ แล้วเข้าใจว่าต้องเจอปัญหาสารพันในการปกครองคน

ซีเคร็ตมีปัญหาจากประสบการณ์ตรงจากผู้อ่าน และคำตอบจากพระอาจารย์มาไขปัญหาทุกข์นี้ค่ะ

ดิฉันเพิ่งย้ายเข้ามาทํางานที่ใหม่ในตําแหน่งหัวหน้างาน แต่เนื่องจากมีงานต้องทํามากจึงไม่ค่อยมีเวลาไปกินข้าวหรือนั่งคุยกับลูกน้องมากนัก ประกอบกับหัวหน้าคนเก่าของเขาทํางานเก่งกว่า ดิฉันควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อ ลูกน้องไม่ยอมรับ และยังยึดติดกับหัวหน้าคนเดิมอยู่

พระวิชิต ธมฺมชิโต  พระอาจารย์ผู้ไขปัญหาประจำฉบับอธิบายว่า

ต้องเข้าใจก่อนว่าการย้ายงานหรือเข้าไปสวมบทบาทใหม่ใดๆ ย่อมต้อง อึดอัด กดดัน หรือเครียดเป็นธรรมดา แต่ความตึงเครียดกดดันที่เกิดจากการเข้ารับตําแหน่งเป็นหัวหน้าใหม่ยังถือว่าน่ายินดีกว่าภาวะตึงเครียดในสถานการณ์อื่นๆ เพราะคือโอกาส คือความท้าทาย ความก้าวหน้า ผลักดันให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้นการที่หัวหน้าเก่าเก่งมากยิ่งเป็นสิ่ง ท้าทายความสามารถของเราส่วนการที่ลูกน้องไม่ยอมรับชอบเปรียบเทียบกับหัวหน้าเก่าก็เป็นเรื่อง ธรรมดาอีกเช่นกันเราเองก็คงเคยนึกเปรียบเทียบหัวหน้าเก่ากับหัวหน้าใหม่ มาก่อน เมื่อเวลาผ่านไป คุ้นเคยกับงานมากขึ้น ได้พัฒนาทักษะที่จําเป็นขึ้นมา ได้รู้จักลูกน้องเพิ่มขึ้น สถานการณ์ต่างๆ ย่อมดีขึ้น

แน่นอนว่า ความสามารถในบางด้านของเราอาจจะเทียบกับหัวหน้าเก่าไม่ได้แต่เราก็อาจ มีความสามารถในด้านอื่นๆ ที่เหนือกว่า เพียงแต่ยังไม่ได้แสดงออกมาให้ ลูกน้องได้เห็นชัดเจนเท่านั้น สิ่งที่ควรทําช่วงนี้คือยอมรับในความธรรมดาของภาวะตึงเครียดที่เกิดขึ้น มีความเมตตาและเข้าใจความรู้สึกของลูกน้องมุ่งมั่นทํางานพัฒนาตนให้เต็มที่ ไม่นานสถานการณ์จะคลี่คลายไปพร้อมกับการที่เราเติบโตขึ้น

ส่วนกรณีที่ลูกน้องที่อายุมากกว่าดื้อรั้น และไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ชอบเล่นพรรคเล่นพวก โกหกและใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงชอบยุยงให้คนอื่นผิดใจกันเสมอควรทำอย่างไร

พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ กล่าวว่า ต้องเรียกเขามาตักเตือนว่าอย่าทำอย่างนี้ คุยกันด้วยเหตุผลว่า นโยบายใหม่เป็นอย่างไร เขาในฐานะลูกน้องต้องทำอย่างไร หากเขายังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม ก็ต้องใช้ธรรมะให้เขาเปลี่ยนงานใหม่เพราะเราเป็นหัวหน้า ถ้าบอกแล้วเขาไม่ทำก็ต้องย้ายเขาออกไป ถ้าเขาไม่ออก เราก็ต้องย้ายตัวเองออกไปโลกคือละคร เป็นละครโรงใหญ่ที่ทุกคนต่างก็เป็นนักแสดงอยู่บนเวทีชีวิต

หากใครปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องทั้งทางโลกและทางธรรมก็ถือว่าเป็น ผู้ที่ได้ปฏิบัติกุศลธรรมหรือทำในสิ่งที่ดีงาม ตรงข้าม ยามใดที่ปฏิบัติหน้าที่ในทางที่ผิดศีลธรรม ก็ถือว่าเป็นผู้ที่ทำในสิ่งที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศลธรรม

เราต่างก็มีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหรือจะต้องแสดงด้วยกันทั้งนั้น แต่ละคนก็มีบทบาทที่จะต้องแสดงมากมายหลายบทบาท   ตามสถานะของตน เป็นต้นว่า เมื่ออยู่ในครอบครัว หากมีสถานะเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ต้องเล่นบทบาทของความเป็นพ่อเป็นแม่ต่อลูก ขณะเดียวกัน เราเป็นลูก ก็ต้องเล่นบทบาทลูกต่อพ่อแม่ เมื่อเป็นสามี ภรรยา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นนาย เป็นบ่าว ก็ต้องเล่นบทบาทตามสถานะที่เป็น

ในที่ทำงานแต่ละคนก็มีบทบาทให้เล่นหลายบทบาท ตามตำแหน่งหน้าที่ หรือหัวโขนที่ครอบเราอยู่ มีทั้งบทบาทหัวหน้า ลูกน้องเพื่อนร่วมงาน ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ขององค์กร

เมื่ออยู่ในสังคม เราต้องเล่นบทบาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมขึ้นอยู่กับว่าเราจะพบปะสัมพันธ์กับใคร นอกจากนี้ยังต้องเล่นบทบาทในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศชาติ เป็นประชากรของโลก

แต่ละบทบาทย่อมมีวิธีการแสดงที่แตกต่างกัน จะใช้บทบาทเดียวแสดงกับทุกๆ คนไม่ได้ เช่น เมื่อเล่นบทเป็นหัวหน้า จะแสดงให้ลูกน้องประทับใจก็ต้องแสดง บทคุณธรรมของหัวหน้าต่อลูกน้อง ทั้งในเรื่องการมอบหมายงานที่ชัดเจน เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของลูกน้อง หากงานนั้นเป็นงานยาก หรือเป็นของใหม่สำหรับเขา อาจจะคอยติดตามถามไถ่เพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษา เมื่องานสำเร็จด้วยดีก็ให้คำชม ให้การยอมรับ ให้ความไว้วางใจ ให้ความก้าวหน้า สร้างแรงจูงใจด้วยการให้ความรักความเมตตา ความเข้าใจ ให้เวลา ให้โอกาส ให้ลูกน้องได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทัศนคติ และศักยภาพอันนำไปสู่การพัฒนา ให้ความเอื้ออาทรห่วงใยยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือยามมีปัญหา ใช้วาจาท่าทีที่สุภาพไม่ก้าวร้าว แม้ในยามที่ลูกน้องทำงานผิดพลาดก็ให้คำแนะนำตักเตือนด้วยความเมตตา ไม่ผูกใจอาฆาตพยาบาทต่อลูกน้อง เป็นต้น

เมื่อต้องเล่นบทเป็นลูกน้อง ก็ต้องมีความขยันขันแข็งในการทำงานมีวินัยในการทำงาน เช่น ไม่ไปทำงานสายหรือกลับก่อนเวลาเลิกงาน หากงานนั้นยังไม่เสร็จและเป็นงานที่จะต้องทำให้เสร็จตามกำหนดเวลา ก็ต้องทำงานล่วงเวลาหรือมาทำงานในวันหยุด โดยไม่ต้องรอให้หัวหน้าสั่ง รับผิดชอบต่อเป้าหมายและความสำเร็จของงาน เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน พยายามพัฒนางานที่ทำให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดเวลา ค่าใช้จ่าย ความสูญเสีย ขณะเดียวกันก็สร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภคหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับคำแนะนำสั่งสอนของหัวหน้าด้วยท่าทีที่อ่อนน้อม ไม่ก้าวร้าว นำคุณของหัวหน้าไปสรรเสริญ แทนที่จะนำไปนินทา สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต เพราะถ้าขาดความซื่อสัตย์แล้ว แม้จะเก่งเพียงไร ก็ไม่เป็นที่ปรารถนาขององค์กร


บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำงานให้สนุกเหมือนกับการเล่นกีฬา  พุทธทาส

8 วิธี สร้างบรรยากาศการทำงานอย่างสร้างสรรค์

Q: การถอนเอาความอยาก-ไม่อยาก ออกไปจากการทำงาน คือการ “ทำงานด้วยจิตว่าง” อย่างที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวถึงหรือเปล่าคะ

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.