พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จัดตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2539เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรานี่แสนอุดมสมบูรณ์”
เนื้อเพลงนี้แสดงให้เห็นถึงภาพของประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเกษตรกรรมที่เคยรุ่งเรืองได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่สนใจทำการเกษตรน้อยลง ซีเคร็ต จึงอาสาพาไปชม เพื่อกระตุ้นเตือนให้กลับมามองรากฐานสำคัญของประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จัดตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2539เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
ต่อมาในปี 2552 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดตั้งสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูและเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญานวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง สร้างสรรค์เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาคีความร่วมมือเพื่อพัฒนายกระดับ และขยายผลการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการเกษตร
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตครอบคลุมพื้นที่กว่า 370 ไร่ ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 6 อาคารจัดแสดง และโซนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ได้แก่
1.อาคาร พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา
เป็นอาคาร 3 ชั้น จัดแสดงพระราชประวัติและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระราชกรณียกิจของพระองค์ทั้งด้านการเกษตรและด้านอื่น ๆ รวมไปถึงนวัตกรรมการเกษตร มีโรงภาพยนตร์ 3 มิติ จุได้ 200 ที่นั่ง จัดฉายภาพยนตร์แอนิเมชั่นให้เลือกชมถึง 5 เรื่อง คือ เรื่องของพ่อในบ้านของเรา, แผ่นดินของเรา, ทรัพย์ดินสินน้ำ, เมล็ดสุดท้าย และ ไผ่รวกกับทานตะวันผู้ยโส ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมีการจัดแสดงพระราชประวัติตลอดรัชสมัย และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรอบโรงภาพยนตร์อีกด้วย
2.อาคาร พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม
นำเสนอเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักอนุรักษ์ ภายในอาคารมีห้องจัดแสดงเมล็ดพันธุ์นับหมื่นเมล็ด
3.อาคาร พิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร
จัดแสดงเรื่องราวการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และมีการจำลองสภาพป่ากลางวันและป่ากลางคืนให้เด็ก ๆ ได้เข้าไปสำรวจส่องสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ
4.อาคาร พิพิธภัณฑ์วิถีน้ำ
ถ่ายทอดเรื่องราวพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาท-สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจัดฉายภาพยนตร์ 4 มิติ 270 องศา เรื่อง “แม่น้ำชีวิต” และ “รักษ์น้ำ”
5.อาคาร พิพิธภัณฑ์ดินดล
จำลองเข้าไปในดินว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดใดอยู่บ้าง ภายในอาคารนี้ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติว่า ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมจากภาพยนตร์ 4 มิติ 360 องศา เรื่อง “ดินมีชีวิต” และ “เพียงพสุธา”
6.อาคาร พิพิธภัณฑ์เกษตรคือชีวิต
จัดแสดงให้เห็นความสำคัญด้านการเกษตร
นอกจากนี้ยังมี MADO Pavilion ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์กษัตริย์เกษตรและร้านค้าจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และสินค้าผลผลิตจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์
ส่วนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแบ่งเป็น 2 โซนย่อย ได้แก่ โซนนวัตกรรมเกษตร ที่แสดงให้เห็นว่าเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงนี้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงทั้งในเมืองและชนบท เพราะเมื่อพูดถึงการเกษตร คนส่วนใหญ่มักนึกถึงชาวบ้านชนบท และคิดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับคนเมือง พิพิธภัณฑ์จึงมุ่งนำเสนออีกด้านหนึ่งให้เห็นว่า คนเมืองก็ทำเกษตรได้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักบนพื้นปูน ปลูกผักบนดาดฟ้า หรือปลูกข้าวในวงบ่อ การทำเกษตรในเมืองก็ช่วยให้มีอาหารที่ปลอดภัยสำหรับตนเองและครอบครัว อีกโซนคือ โซนเกษตรตามรอยพ่อ จัดแสดงเกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พิพิธภัณฑ์จัดหลักสูตรการเรียนรู้ด้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงต่าง ๆ โดยมีให้เลือกทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาวสำหรับหลักสูตรระยะยาว 5 เดือน เหมาะกับผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ และทำการผลิตทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้ทั้งแนวคิดและทักษะในการทำการเกษตร การพึ่งตนเอง การจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงด้านนวัตกรรมเกษตรต่าง ๆ เช่น การทำปุ๋ย การปลูกข้าว การทำอาหารปลา การขยายพันธุ์พืช บนพื้นที่ 1 ไร่ต่อคน โดยยึดตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิพิธภัณฑ์จัดหลักสูตรระยะยาวนี้มาเป็นรุ่นที่ 10 แล้ว
นอกจากนี้ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์พิพิธภัณฑ์ยังจัดกิจกรรมตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นตลาดนัดมิตรภาพที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้จากเกษตรกรเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และภาคีความร่วมมือผู้ปฏิบัติจริงและจำหน่ายสินค้าผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายและภาคีความร่วมมือ โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ - อาทิตย์แรกของเดือน ทั้งยังมีกิจกรรม “เสาร์ – อาทิตย์สุขสันต์” ที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ที่สองและสามของเดือน เป็นกิจกรรมเรียนรู้การเกษตรอย่างง่าย ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้ทรงคุณค่าที่เก็บรักษาเรื่องราวการเกษตรบนแผ่นดินทองผืนนี้เอาไว้อย่างครบถ้วน ควรค่าแก่การได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชมอย่างยิ่ง
ความประทับใจไม่รู้เลือน
“ครั้งหนึ่งตอนเรียนชั้นมัธยม ดิฉันเคยขึ้นไปเที่ยวดอยขุนตาล ในสมัยนั้นทางค่อนข้างทุรกันดารการเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เมื่อขึ้นไปถึง ดิฉันพบในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
“เมื่อไปถึง ดิฉันก็เข้าไปนั่งรับเสด็จด้วยพลางคิดในใจว่าทำไมพระองค์ถึงต้องเสด็จฯออกมาเช่นนี้ ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง ทำให้รู้สึกประทับใจเรื่อยมา
“หลังจากนั้น เมื่อดิฉันรับราชการและได้รับเสด็จ ก็จะมีความรู้สึกว่าพระองค์ทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทย เพราะฉะนั้น เราเองในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ต้องทำตามรอยพระบาทพระองค์
“ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว การทำงานด้านการพัฒนาเกษตรกรเป็นเรื่องที่สวนกระแสพอสมควรดังนั้น เวลาที่ดิฉันเหนื่อยล้าหรือท้อแท้ก็จะคิดถึงพระองค์ และเพลงที่คอยเตือนใจก็คือเพลง ‘ความฝันอันสูงสุด’ ที่ย้ำเตือนให้เรามุ่งมั่นปิดทองหลังพระ และตระหนักว่าเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักเพื่อคนไทย ทำให้เรามีพลังมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ของเราต่อไป”
นางจารุรัฐ จงพุฒิศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์ฯ
สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน)
ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช (นวนครเดิม) ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
www.wisdomking.or.th
facebook: WisdomKingFan
Instagram: @wisdomkingfan
และ Line ID: @wisdomkingfan
โทรศัพท์ 0-2529-2212 – 13, 08-7359-7171, 09-4649-2333 โทรสาร 0-2529-2214
บทความที่น่าสนใจ
เลี้ยงโคนม อาชีพพระราชทาน จากในหลวงรัชกาลที่ 9
เจาะลึกเบื้องหลัง จิตอาสาดูแลคณะสงฆ์ในพระเมรุมาศ ในหลวง รัชกาลที่๙
การฝึกสติ “พละ ๕ คือกำลังหนุนจิต” – พระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลที่ ๙
สุดทึ่งผลงานเยาวชนไทย “ร้อยเรื่องราว หนึ่งภาพเล่า ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ของฉัน”
พระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ พระพรหมมุนี