เสียได้เสียไป ใจไม่ทุกข์ บทความให้กำลังใจจากพระไพศาล วิสาโล
ช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงในกรุงเทพมหานคร มีการวางเพลิงเผาทำลายศูนย์การค้าหลายแห่ง ปรากฏว่าร้านอาหารชื่อดังโดนลูกหลงไปด้วย ถูกเผาไปพร้อม ๆ กัน 4 สาขา ผู้จัดการสาขาและพนักงานทั้งเศร้าเสียใจและโกรธแค้นมาก ใจไม่ทุกข์
เมื่อผู้จัดการใหญ่ทราบเรื่องก็พูดปลอบใจลูกน้องว่า “ไม่เป็นไร เรายังมีอีกตั้ง 320 สาขา” ว่าแล้วก็ยิ้ม โดยไม่มีวี่แววแห่งความทุกข์เลย ร้านค้า 4 สาขาถูกเผาไม่ใช่เรื่องธรรมดาก็จริง แต่สำหรับซีอีโอผู้นี้ มันกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับสาขาที่ยังมีอยู่อีกมากมาย
เวลาเงินหายหรือทรัพย์สินมีอันเป็นไป คนส่วนใหญ่มักเป็นทุกข์ จนลืมไปว่า ตนยังมีทรัพย์สินอีกมากมาย อาจจะมีเป็นจำนวนหลายสิบหลายร้อยเท่าของที่สูญเสียไปด้วยซ้ำ แทนที่จะมัวคร่ำครวญกับสิ่งที่เสียไป ไม่ดีกว่าหรือ หากเราจะหันมาใส่ใจกับสิ่งที่ยังมีอยู่อีกมากมาย
เศรษฐินีผู้หนึ่งถูกโกงเงินไปหลายสิบล้าน เธอเสียใจอยู่สองสามวัน แต่หลังจากนั้นก็ยิ้มได้ เพื่อนสงสัยว่าทำไมถึงไม่เสียใจแล้ว เธอตอบว่า “ฉันมาคิดได้ว่า ในเมื่อฉันยังมีอาหารที่อร่อยกิน ยังมีบ้านที่อยู่สบาย แล้วจะทุกข์ไปทำไม” สิ่งที่สูญเสียไปแล้ว มิใช่อะไรอื่น หากคืออดีต เหตุใดเราจึงหวงแหน ยึดติดกับอดีตที่เจ็บปวด แทนที่จะใส่ใจ หรือให้คุณค่ากับสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เพียงปล่อยวางอดีต หันมาให้คุณค่าหรือชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราก็จะเป็นสุขได้ไม่ยาก เราสูญเสียอะไรไปมากมายเพียงใด ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีอะไรอยู่ในปัจจุบัน หากให้ความสำคัญกับสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็จะพบว่า ความสุขมีอยู่รอบตัว
ความข้อนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องทรัพย์สมบัติเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพร่างกายด้วย กนกวรรณ ศิลป์สุข เป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด จึงมีร่างกายแคระแกร็น กระดูกเปราะ และต้องให้เลือดเป็นประจำ หมอคาดว่าเธอจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี แต่ปัจจุบันก็มีอายุเกือบ 30 ปีแล้ว แม้มีชีวิตไม่เหมือนคนปกติ แต่เธอก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความสุข เธอให้เหตุผลว่า “เลือดเราอาจจะจาง จะแย่หน่อย แต่เราก็ยังมีตาเอาไว้มองสิ่งที่สวย ๆ มีจมูกไว้ดมกลิ่นหอม ๆ มีปากไว้กินอาหารอร่อย ๆ แล้วก็มีร่างกายที่ยังพอทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะมีความสุข”
คนพิการเป็นอันมากมีความสุขได้ เพราะเขาไม่มัวเสียใจคร่ำครวญกับแขนขาที่เสียไป (หรือที่ไม่เคยมี) และรู้จักใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะที่หลงเหลืออยู่ หรือสมอง และจิตใจที่ยังคงทำงานได้เหมือนคนปกติ
สว่าง ทองดี นักปั่นจักรยานวิบากข้ามประเทศ เล่าถึงประสบการณ์คราวหนึ่งที่ได้ไปเยือนเทือกเขาหิมาลัย และภูเขาเอเวอเรสต์ว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่พบเห็นเพื่อนร่วมทางหลายคนเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย บางคนก็แขนขาดขาขาด แต่พวกเขาสามารถบุกบั่นดั้นด้นไปยังดินแดนทุรกันดาร ที่แม้แต่คนธรรมดาก็ทำได้ยาก ผู้ป่วยและคนพิการเหล่านั้นทำได้อย่างไร ในที่สุดเขาก็พบคำตอบว่า “หากคิดจะก้าวไปข้างหน้าแล้ว จงอย่าคิดถึงสิ่งที่เราไม่มีหรือข้อด้อยของตัวเอง แต่ให้มองว่าเรามีสิ่งใดอยู่กับตัวบ้าง การจะทำฝันให้สำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้สิ่งที่เรามีอยู่ได้แค่ไหนต่างหาก”
เมื่อประสบความสูญเสีย อย่ามัวคร่ำครวญอาลัยกับสิ่งที่เสียไป เพราะนั่นจะทำให้เราหลงลืมสิ่งงดงามที่ยังมีอยู่อีกมากมาย และละเลยประโยชน์ที่จะได้รับจากสิ่งเหล่านั้น จะว่าไปแล้วยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดกับเราได้หากไม่จมปลักอยู่ในความคร่ำครวญเสียใจ
นั่นคือบทเรียนจากความสูญเสีย ความสูญเสียทุกครั้งล้วนบอกแก่เราว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ทุกอย่างมาแล้วก็ไป ความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา ความสูญเสียแต่ละครั้งยังเป็นเสมือนสัญญาณเตือนเราว่า จะมีความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เลวร้ายกว่านั้นตามมาอีกในอนาคต ดังนั้น หากเราทำใจไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เราจะรับมือกับความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้อย่างไร
ใช่หรือไม่ว่า สักวันหนึ่งคนที่เรารักก็ต้องตายจากไป และในที่สุดเราเองก็ต้องละจากโลกนี้ไป หากไม่อยากทุกข์ทรมานเมื่อวันนั้นมาถึง ก็ต้องเตรียมใจฝึกใจขณะที่ยังมีเวลา ความสูญเสียที่ทยอยเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น มิใช่อะไรอื่น หากคือแบบฝึกหัดเพื่อให้เราฝึกทำใจแต่เนิ่น ๆ จะได้มีความพร้อมสำหรับเหตุร้ายที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
เราทุกคนเกิดมาตัวเปล่า เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากไปตัวเปล่า อะไรที่ได้มาก็เอาไปไม่ได้สักอย่าง ในเมื่อจะต้องสูญเสียทุกอย่างอยู่แล้ว
หากจะต้องสูญเสียวันนี้ พรุ่งนี้ หรือ เมื่อถึงวันนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างกัน
ที่มา นิตยสาร Secret