ภิกษุณีเจิงคอม

ภิกษุณีเจิงคอม สตรีผู้มีหัวใจพระโพธิสัตว์

ภิกษุณีเจิงคอม สตรีผู้มีหัวใจพระโพธิสัตว์

“หากจะให้เล่าเรื่องราวชีวิตของข้าพเจ้า คงจะต้องใช้เวลานานมากทีเดียว เพราะข้าพเจ้าผ่านชีวิตมากว่า 80 ปีแล้ว” ภิกษุณีเจิงคอม พระธรรมาจารย์อาวุโสแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เปรยด้วยรอยยิ้ม น้ำเสียงที่ให้สัมภาษณ์นุ่มนวลทว่าหนักแน่น

“ข้าพเจ้าเกิดในเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ในปี ค.ศ. 1938 เป็นลูกคนที่ 8 จากทั้งหมด 9 คน ทั้งพ่อและแม่ของข้าพเจ้าต่างชอบช่วยเหลือคนยากคนจน ทั้งการมอบสิ่งของให้ผู้ยากไร้และการสร้างอาชีพให้ชาวไร่ชาวนา พ่อมักสอนลูก ๆ เสมอว่าไม่ให้เอาเปรียบชาวนาที่ยากจน เพราะเงินเพียงไม่กี่ด่องของเรา อาจหมายถึงเงินที่เขาเอาไปเลี้ยงครอบครัว”

ราวกับว่าความเมตตาอารีนี้จะสามารถส่งผ่านได้ทางสายเลือด เพราะภิกษุณีเจิงคอมก็ชอบช่วยเหลือผู้อื่นเช่นเดียวกัน

“ข้าพเจ้าเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เอกชีววิทยา มหาวิทยาลัยไซ่ง่อนตามความประสงค์ของพ่อ แต่สิ่งที่ดึงดูดข้าพเจ้ามากกว่ากลับเป็นการทำงานช่วยเหลือคนยากไร้ในสลัมใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย สลัมแห่งนี้ตั้งอยู่ในสุสานร้างของชาวฝรั่งเศส ความเป็นอยู่ของคนในสลัมค่อนข้างแร้นแค้น แต่ละครอบครัวอาศัยอยู่บนหลุมฝังศพที่มีพื้นที่ไม่มากนัก

“ทุกช่วงพักกลางวัน หลังจากเสร็จงานในห้องวิจัย ข้าพเจ้าจะรีบไปที่สลัมเพื่อใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงกับเพื่อนใหม่ในสลัม รับฟังเรื่องราวความยากลำบากของพวกเขาก่อนจะกลับมาเรียนต่อ ข้าพเจ้าไม่เคยเหนื่อยกับการทำเช่นนี้ แต่กลับรู้สึกสุขใจเสียมากกว่า ทั้งยังคิดด้วยซ้ำว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ในสลัมมีความสุข

“ข้าพเจ้าเริ่มต้นเรี่ยไรข้าวสารและเงินจากคนร่ำรวย เพื่อนำมาช่วยเหลือคนในสลัม หลายคนถามว่าทำไมข้าพเจ้าถึงไม่ใช้ความรู้และความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อทำงานและหาเงินช่วยเหลือคนเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าเลือกใช้วิธีนี้ก็เพราะต้องการให้คนร่ำรวยตระหนักถึงปัญหาของคนในสลัม และเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตาในหัวใจของคนเหล่านี้ด้วย”

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ภิกษุณีเจิงคอมยังช่วยเด็กในสลัมให้ได้รับการศึกษา ช่วยสร้างอาชีพให้แก่คนในสลัมและช่วยให้สภาพความเป็นอยู่ของคนในสลัมดีขึ้นด้วย

“ในปี ค.ศ. 1959 พระที่ข้าพเจ้านับถือแนะนำให้ข้าพเจ้าเข้าร่วมหลักสูตรธรรมะของหลวงปู่เป็นระยะเวลา 3 เดือน คำสอนที่งดงามและลึกซึ้งของท่านทำให้ข้าพเจ้าประทับใจเป็นอย่างมาก หลังจากการสอนครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็เขียนจดหมายถึงหลวงปู่เล่าถึงงานช่วยเหลือสังคมและความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเวียดนาม ในจดหมายข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการช่วยเหลือคนยากไร้เป็นเพียงแค่การทำบุญ อันที่จริงข้าพเจ้าไม่ได้อยากสั่งสมบุญไว้สำหรับชาติหน้า ข้าพเจ้าเพียงอยากช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากและอยากมีความสุขในปัจจุบันขณะเท่านั้น’

“จากนั้นหลวงปู่จึงตอบจดหมายกลับมาใจความว่า ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใดก็สามารถนำไปสู่การบรรลุธรรมได้ทั้งสิ้น เพียงแค่เราต้องดำเนินชีวิตอย่างลึกซึ้งและมีสติเท่านั้น นอกจากนั้นหลวงปู่ยังเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างแท้จริง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ข้าพเจ้าก็รู้ได้ทันทีว่า หลวงปู่คือครูที่ข้าพเจ้าตามหา”

ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 ท่านติช นัท ฮันห์ก่อตั้งสมาคมนักศึกษาชาวพุทธขึ้น โดยมีภิกษุณีเจิงคอม ขณะยังเป็นฆราวาส ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการสังคมสงเคราะห์ เวลานั้นเวียดนามเหนือและใต้ซึ่งถูกแบ่งแยกมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสงครามสู้รบกันอย่างหนัก ในเวียดนามใต้ก็เผชิญความรุนแรงอันเกิดจากนโยบายต่อต้านพุทธศาสนาของประธานาธิบดีโง ดินห์ เดียม ซึ่งต้องการให้ชาวเวียดนามหันมานับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกับตน

“การต้องเห็นพระสงฆ์ แม่ชี และเพื่อนชาวพุทธทั้งหลายถูกจับทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสิ้นหวังจนอยากจะเผาตัวเอง ตอนนั้นอาจารย์ของข้าพเจ้าจึงแนะนำให้เดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อทำวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งข้าพเจ้าก็ยินดี เพราะตั้งใจจะนำเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนามไปเผยแพร่ให้คนต่างชาติได้รับรู้ เมื่อข้าพเจ้าเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศสไม่เท่าไร รัฐบาลของโง ดินห์ เดียมก็ถูกโค่นล้ม”

ท่านติช นัท ฮันห์ซึ่งในขณะนั้นสำเร็จการศึกษาวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ช่วยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้รับการติดต่อจากพระผู้ใหญ่ในประเทศเวียดนามให้กลับไปช่วยแก้ปัญหาพระสงฆ์ในประเทศ ท่านจึงก่อตั้งโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคมขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนา และช่วยเหลือฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชนในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งภิกษุณีเจิงคอม (ขณะยังเป็นฆราวาส) ได้เข้ามาช่วยบริหารงานหลังเสร็จสิ้นการทำวิจัยที่ประเทศฝรั่งเศส

แต่กระนั้น ท่ามกลางความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจทำให้กิจกรรมเพื่อชาวบ้านและสังคมถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความสงบภายในประเทศ ส่งผลให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนเยาวชนเพื่อการบริการสังคม 5 คนถูกจับตัวไปยิงทิ้งที่ริมแม่น้ำไซ่ง่อน

เมื่อประเทศเวียดนามรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการก็ถูกขับไล่ให้ไปเป็นมนุษย์เรืออยู่กลางทะเล เหตุการณ์ยืดเยื้อบานปลายส่งผลให้ท่านติช นัท ฮันห์ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศ ท่านจึงลี้ภัยไปอยู่ที่ฝรั่งเศส

“หลวงปู่ชวนให้ข้าพเจ้ามาเป็นผู้ช่วยของท่านในการทำงานเพื่อสันติภาพและเพื่อหาเงินทุนช่วยเหลือเหยื่อสงครามและเด็กกำพร้า ซึ่งข้าพเจ้าก็ยินดี เพราะจะได้หาเงินมาช่วยเหลือโรงเรียนเยาวชนและองค์กรศาสนาพุทธต่าง ๆ ในประเทศเวียดนาม”

หลังจากทำงานกับท่านติช นัท ฮันห์มายาวนาน ในที่สุดหลวงแม่เจิงคอมก็บวชเป็นภิกษุณีเมื่ออายุ 50 ปี แม้จะผ่านเรื่องราวความโหดร้ายจากภัยสงครามมาอย่างยาวนาน แต่เรากลับเห็นรอยยิ้มที่เบิกบานบนใบหน้าของภิกษุณีเจิงคอมตลอดการสนทนา จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ท่านยังคงรักษาความเบิกบานนี้ได้อย่างไร

“โศกนาฏกรรมอาจทำให้เกิดความโศกเศร้าในชีวิต แต่การปฏิบัติสามารถสร้างความสงบมั่นคงให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราได้ เมื่อความสงบเกิดขึ้น เราก็จะสามารถรักษาบาดแผลในจิตใจได้ทีละเล็กละน้อย ค่อย ๆ แก้ไขความทุกข์ไปทีละอย่าง อย่าเอาความทุกข์ทุกอย่างมาสุมรวมกัน

“นอกจากนั้นเราต้องฝึกจิตให้เบิกบานกับสิ่งต่าง ๆ รอบกาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ อาหาร และสิ่งต่าง ๆ หากทำเช่นนี้ได้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เราก็จะมีความสุข”

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 229

เรื่อง : อุราณี ทับทอง, เชิญพร คงมา, อิศรา ราชตราชู

ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร, สรยุทธ พุ่มภักดี

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ภาวนาครอบครัว หายใจสงบ เดินเป็นสุข ณ มูลนิธิหมู่บ้านพลัม

10 คำสอนให้ข้อคิด โดยท่าน ติช นัท ฮันห์

ความ(ไม่)กลัว ที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังความเบิกบาน โดย ติช นัท ฮันห์

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.