อาจมีคุณสมบัติหลายประการที่ทำให้ศาสตราจารย์ อมารตยา กุมาร เซน ได้รับการยอมรับจากนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก แต่คงไม่มีข้อไหนโดดเด่นเท่ากับการที่ท่านเป็นคนแรกที่สะกิดให้ประชาคมโลกตระหนักว่า บรรทัดฐานในการวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับความสุขของประชาชน…มิใช่สิ่งอื่น
ครอบครัวของศาสตราจารย์เซนเป็นเหมือนคลังสรรพวิชาที่มีไว้เพื่อหล่อหลอมนักปราชญ์โดยเฉพาะ คุณตาของท่านเป็นผู้พิพากษาและนักอักษรศาสตร์ด้านปรัชญาฮินดูผู้มีชื่อเสียงและเป็นเพื่อนสนิทของ รพินทรนาถ ตะกอร์ หรือที่คนไทยรู้จักในนาม รพินทรนาถ ฐากูร…กวี นักเขียน และนักปราชญ์ของโลก บิดาของท่านเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาเคมีในมหาวิทยาลัย ส่วนมารดาเป็นนักเต้นรำและร่วมแสดงเป็นตัวเอกในละครหลายเรื่องของตะกอร์ นอกจากนี้ท่านยังทำงานเป็นบรรณาธิการให้นิตยสารสตรีอีกด้วย
ศาสตราจารย์เซนไม่ใคร่มีชีวิตส่วนตัวที่โลดโผน นอกจากเคยเป็นมะเร็งที่ปากเมื่ออายุ 18 และเข้ารับการรักษาในอีกสิบปีให้หลัง ท่านผ่านการหย่าหนึ่งครั้ง และสูญเสียภรรยาคนที่สองจากโรคมะเร็ง กล่าวได้ว่า ชีวิตของท่านค่อนข้างราบรื่น ท่านมีทายาททั้งหมด 6 คน ลูกสาวคนรองเข้าสู่วงการบอลลีวู้ด ส่วนที่เหลือยังคงใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงวิชาการ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 1933 ที่ อมารตยา กุมาร เซน เกิด ราวกับตะกอร์จะรู้ว่าทารกน้อยจะเติบโตขึ้นเป็นคนสำคัญของโลก ท่านจึงตั้งชื่อให้ว่า อมารตยา มีความหมายว่า อมตะ
ศาสตราจารย์เซนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากตะกอร์สูงมาก และท่านยึดถือการทำงานบนพื้นฐานของการทำวิจัยตามหลักวิชาการเสมอมา
นอกจากพื้นฐานการเป็นนักคิดที่ได้จากครอบครัวแล้ว ประสบการณ์ที่ท่านประสบด้วยตัวเองตั้งแต่เยาว์วัย ก็เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ท่านสนใจการศึกษาแนวปรัชญาในเวลาต่อมา
”บ่ายวันหนึ่งในเมืองธากา (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศบังกลาเทศ) ชายคนหนึ่งเดินผ่านประตูหน้าบ้านเข้ามาพร้อมกับส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลืออย่างน่าสังเวช เลือดไหลออกจากบาดแผลเขาไม่หยุด ชายผู้นี้ถูกแทงที่หลัง เขาทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน และเป็นชาวมุสลิมชื่อว่า Kader Mia เขาต้องการทำงานเพื่อแลกค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย แต่แล้วก็ถูกแทงโดยผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนของผู้นับถือศาสนาฮินดู ในขณะที่พ่อของผมกำลังนำเขาส่งโรงพยาบาลอยู่นั้น เขาพร่ำพูดแต่ว่า ภรรยาผมเตือนแล้วว่าไม่ให้เข้ามาในเขตนี้”
เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความสะเทือนใจให้ศาสตราจารย์เซนอย่างลึกซึ้ง เพราะชายผู้นั้นเสียชีวิตในที่สุด ท่านรู้สึกว่า การที่สมาชิกของชุมชนหนึ่งเอาชีวิตสมาชิกของอีกชุมชนหนึ่งได้โดยที่ไม่มีความบาดหมางกันเลย และไม่แม้แต่จะรู้จักกัน แต่ฆ่าเพียงเพราะอีกฝ่ายมีอัตลักษณ์ (Identity) ที่ต่างจากตนเอง เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ที่สำคัญที่สุด การที่ชายแปลกหน้าตัดสินใจเสี่ยงเข้ามาทำงานในพื้นที่ที่เขารู้ดีว่าอันตราย สะท้อนว่า เขาขาด “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นสาเหตุของความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น
“เขาต้องการเป็นพ่อที่ดีและเลี้ยงดูลูกๆ ให้มีชีวิตรอด เขาจึงต้องฉกฉวยทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม…”
“เสรีภาพ” ได้เข้ามาอยู่ในหัวใจของศาสตราจารย์เซนตั้งแต่บัดนั้น
ศาสตราจารย์เซนใช้ชีวิตช่วงต่อมาในโลกของการศึกษา ท่านเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเพรสซิเดนซี ในเมืองกัลกัตตา จากนั้นจึงเดินทางไปเรียนต่อที่ทรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในระดับปริญญาตรีในปี 1953 และเรียนจบภายในสองปี ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 1959 จากผลงานการวิจัยที่เกี่ยวกับ ทฤษฎีทางเลือกทางสังคม ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่ของการนำความเป็นมนุษย์เข้ามาอธิบายปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน สิทธิของผู้หญิง ฯลฯ
ท่านเป็นนักวิชาการคนแรกที่ประกาศว่า ความรุ่งเรืองของประเทศหนึ่งๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP: Gross National Product) เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ต่างหาก
ปัจจัยที่บ่งชี้คุณภาพของประชาชนคือ “ความสามารถในการเข้าถึงสิ่งที่เขาคิดว่ามีคุณค่าต่อชีวิต” (Capability Approach) กล่าวคือ แม้ว่ามนุษย์จะมีศักยภาพและขีดความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนมีสิทธิโดยเท่าเทียมกันที่จะดำเนินชีวิตตามที่ตนเองปรารถนา เช่น ถ้าคนคนหนึ่งเรียนหนังสือเก่งมาก แต่ชอบทำอาหารมากกว่า และมีฝีมือระดับเชฟโรงแรมห้าดาว เขาควรได้รับการส่งเสริมให้ทำในสิ่งที่เขารัก ได้รับการยอมรับจากสังคม มีรายได้ที่เหมาะสม รวมทั้งได้รับเสรีภาพในด้านอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยในชีวิต หลักประกันทางสังคม เสรีภาพด้านความเชื่อ ฯลฯ
แม้จะให้ความสำคัญกับการสร้างรัฐสวัสดิการ แต่ท่านก็สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยสุดตัว เพราะนี่เป็นการปกครองรูปแบบเดียวที่นักการเมืองต้องฟังเสียงประชาชน และจะเป็นระบอบที่มีประสิทธิภาพ ถ้าคนในสังคมช่วยกันส่งเสริมเสรีภาพของผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน
ภายหลัง มาร์ธา นัสส์บาม ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและจริยธรรมแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ทำการวิจัยเครื่องชี้วัดดัชนีการพัฒนาของมนุษย์ (HDI: Human Development Index) และเสนอว่า ประเทศที่ประกาศตัวว่าเป็นประชาธิปไตยต้องนำดัชนีนี้ไปใช้เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์เซนได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1998 โอกาสนี้ คณะกรรมการได้สดุดีท่านไว้ว่า
“เป็นผู้ฟื้นฟูมิติด้านจริยธรรมให้กลับคืนมาสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง”
ท่านนำเงินรางวัลที่ได้ไปก่อตั้งมูลนิธิสองแห่ง คือ มูลนิธิที่วิจัยเกี่ยวกับความยากจนในบังกลาเทศ และมูลนิธิที่ทำงานด้านการศึกษาในอินเดีย และทำงานร่วมกับเอ็นจีโอ เช่น Oxfam และโครงการต่างๆ ของยูเอ็น
ศาสตราจารย์เซนดำรงตำแหน่ง Master of Trinity (เทียบเท่าอธิการบดี) ระหว่างปี 1998 – 2004 นับเป็นอธิการบดีคนแรกที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษ นอกจากรางวัลโนเบลแล้ว ท่านยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอีกนับไม่ถ้วน ปัจจุบัน ท่านทำงานเป็นอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ท่านเขียนหนังสือและบทความอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ท่านยังมีงานเดินสายแสดงปาฐกถาทั่วโลก
ด้วยข้อสรุปที่ไม่ได้มาจากสัญชาตญาณหรือการคาดเดา แต่มาจากการวิจัยอย่างต่อเนื่องมากว่าค่อนชีวิตของศาสตราจารย์ท่านนี้ ทำให้เราแน่ใจว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่เสรีภาพในการเลือกหนทางในการดำเนินชีวิต และตราบใดที่ยังอยู่บนผืนแผ่นดินที่เป็นประชาธิปไตย เราย่อมมีช่องทางในการใช้เสรีภาพของเรา แต่ที่จะลืมไม่ได้ก็คือ การพัฒนาใดๆ ก็ตามต้องเริ่มต้นจากตัวของเราเอง
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ playgoogle.com