ผมชื่อ พงศธร ธรรมวัฒนะ หลายคนเห็นนามสกุลผม คงคิดว่ารวยแล้ว ไม่ต้องทำงานอะไรก็อยู่ได้ แต่ผมกลับคิดว่า ถ้าเงินทองไม่ได้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองแบบนั้นไม่เรียกว่ารวย
จริง ๆ แล้วตอนเด็ก ๆ ผมกับคุณแม่และพี่สาวอาศัยอยู่กับคุณป้าในบ้านเล็ก ๆ ชั้นเดียวแถวตลาดสี่มุมเมือง ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป นั่งรถเมล์ไปโรงเรียนกับพี่สาว ตอนนั้นแอบคิดเหมือนกันว่าทำไมเพื่อนคนอื่นมีคนขับรถมารับมาส่ง
ทำไมบ้านเราจนขนาดนี้ งานในบ้านผมก็ทำเองทุกอย่าง ซักผ้ารีดผ้า พูดง่าย ๆ ว่าชีวิตผมห่างไกลคำว่าคุณหนูที่มีคนรับใช้คอยปรนนิบัติพัดวี แต่ก็พยายามปลอบใจตัวเองว่ายังมีอีกหลายคนที่เป็นเหมือนเรา
จนกระทั่งคุณอา (ห้างทอง ธรรมวัฒนะ) เสียชีวิตผมเพิ่งรู้ว่าครอบครัวตัวเองมีฐานะ ต่อมาผมได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านคุณอา คราวนี้ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือมาอยู่ที่นี่ไม่ต้องทำอะไรเลย มีคนทำให้หมดทุกอย่าง มีคนมารับมาส่งที่โรงเรียนเหมือนที่เคยอยากมี กลับถึงบ้านก็ไปเล่นกีฬากับญาติ ๆ เรียนเทนนิส มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ทุกอย่างดูดีไปหมด แต่แปลกที่ผมกลับรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ใช่ผมผมเคยชินกับการที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ซักเสื้อผ้าส่วนตัวเองโดยเฉพาะกางเกงชั้นใน ผมไม่ชอบให้ใครมาเอาไปซักให้ ช่วงนั้นผมไม่มีความสุขเท่าที่ควรคำว่าบ้านสำหรับผมควรเห็นกันได้ง่าย ๆ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งอยู่ห้องฟิตเนส อีกคนอยู่ห้องรับแขกที่อีกฟากหนึ่งของบ้าน พอหากันไม่เจอ ต้องโทร.หากันแล้วถามว่าอยู่ตรงไหน มันไม่ถึงกับเป็นความรู้สึกเลวร้ายอะไรนัก เพียงแต่รู้สึกว่าสิ่งนี้ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตผม ผมอยู่ที่บ้านหลังนี้ไม่นานก็ย้ายไปอยู่บ้านที่แม่ซื้อใหม่
ในเวลานั้นคนอื่นอาจมองว่าผมสบายแล้ว รวยแล้ว ไม่ต้องทำอะไรก็มีกินไปทั้งชาติ แต่ผมกลับคิดว่าทรัพย์สมบัติที่คุณปู่คุณย่าหาไว้ให้ไม่เรียกว่าเป็นคนรวย คำว่ารวยสำหรับผมต้องเกิดจากการหาเงินด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ผมจึงอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ตอนนั้นยังเด็ก ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร รู้แต่ว่าผมชอบเล่นของเล่น ติดของเล่นมากขนาดเข้าห้องน้ำก็เอาเข้าไปเล่นด้วย รู้สึกว่าของเล่นเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด
แต่พอเรียนมัธยมผมไม่กล้าเล่นของเล่นอีก เพราะกลัวคนจะมองว่าโตแล้วยังเล่นของเล่นอีกเหรอ แฟนผมพอรู้ว่าผมสะสมของเล่นก็บอกว่าติงต๊อง สุดท้ายต้องเลิกกันเพราะทัศนคติไม่ตรงกัน ผมมานั่งคิดว่าการเล่นของเล่นทำให้ภาพลักษณ์เราไม่ดี จึงเลิกสนใจ จนวันหนึ่งไปค้นเจอกล่องของเล่นของคุณพ่อ จำได้แม่นว่าหัวใจพองฟูมาก เพราะทำให้คิดขึ้นมาว่าขนาดคุณพ่อยังเล่นเลย ทำไมเราจะเล่นไม่ได้นับแต่นั้นผมกลับมาเล่นของเล่นเหมือนเดิม จนพี่สาวบอกว่า
“วัน ๆ มัวแต่เล่นของเล่นไร้สาระแบบนี้ อนาคตจะไปเอาดีอะไรได้”
ถามว่ารู้สึกแย่ไหมกับคำพูดแบบนี้ ผมบอกเลยว่าแย่มากแต่นั่นก็เป็นแรงผลักดันว่าสักวันหนึ่งผมจะต้องเลี้ยงตัวเองจากสิ่งไร้สาระพวกนี้ให้ได้
แล้วโอกาสนั้นก็มาถึง เมื่อผมได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ตอนนั้นผมเรียนหนังสือใกล้จบแล้ว เป็นวัยกำลังอยากรู้อยากเห็น
พอเข้าไปในห้าง เห็นหุ่นยนต์สูงประมาณ 4 เมตร แล้วมีคนต่อแถวกันยาวเหยียด ด้วยความอยากรู้ว่าเขาทำอะไรกัน จึงไปต่อแถวกับเขาด้วย ถึงได้รู้ว่าเขารอซื้อของเล่น ผมเห็นว่าไหน ๆ ก็มาต่อคิวแล้ว ซื้อไปด้วยเลยแล้วกัน
หลังจากซื้อเสร็จ ผมไปเข้าห้องน้ำ มีคนคนหนึ่งเดินมาหาแล้วขอซื้อของเล่นในมือผมด้วยราคาที่สูงกว่าที่ผมซื้อมาผมอึ้งมาก ไม่คิดว่าของเล่นชิ้นหนึ่งมีคนกล้าให้ราคาสูงขนาดนี้ขณะเดียวกันในหัวผมก็ได้ยินเสียงผู้คนที่เคยสบประมาทผมต่าง ๆ นานาเรื่องของเล่น เหตุการณ์นี้ทำให้ผมตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับของเล่น จึงไปขอนามบัตรเจ้าของแบรนด์ของเล่นที่ผมซื้อมา
ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าเขาทำธุรกิจกันอย่างไร รู้แค่ว่าอยากทำ และจะต้องทำร่วมกับเจ้าของแบรนด์ 3A ให้ได้
เพราะเขาดูเป็นมืออาชีพ และเป็นแบรนด์ของเล่นที่นักสะสมของเล่นรู้จักเป็นอย่างดี
พอกลับถึงเมืองไทย ผมรีบส่งอีเมลตามนามบัตรที่ได้มาทันที รออยู่หลายวันก็ไม่มีตอบกลับมา ผมเพียรส่งอีเมล
อยู่นานหลายเดือน ทำถึงขนาดไปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะอยากทำงานกับเขามากจริง ๆ จนวันหนึ่งความพยายามของผมก็บรรลุผล ผมได้รับอีเมลตอบกลับพร้อมกับนัดคุยธุรกิจที่ฮ่องกง ตอนแรกที่เจอกัน เขาตกใจที่เห็นผมอายุน้อยขนาดนี้ แต่ผมแสดงความตั้งใจจริง ๆ ว่าอยากทำธุรกิจของเล่น ผมขอเขาเป็นตัวแทนจำหน่ายของเล่นแบรนด์ 3A เขายอมตกลง เพราะเห็นว่าผมตั้งใจจริง
ผมเริ่มธุรกิจของเล่นอย่างทุลักทุเลพอสมควร พอได้เป็นตัวแทนจำหน่าย ผมเน้นขายส่ง ขายแบบไม่มีหน้าร้าน นำของเล่นไปฝากขายตามร้านของเล่นทั่วไป บางครั้งก็วางขายแบกะดินบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ลูกค้าที่รู้จักก็มาจากการบอกต่อกันในวงการของเล่น
ผมเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่พักใหญ่ ๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มรับออกแบบของเล่นควบคู่กันไป ชีวิตของดีไซเนอร์ทอยเริ่มขึ้นตั้งแต่ตรงนี้ เพียงแต่ว่าเป็นการออกแบบของเล่นตามสั่ง ยังไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ซึ่งพอทำธุรกิจของเล่นไปสักพัก ผมมาคิดได้ว่าเราควรสะสมฐานลูกค้าที่อยู่ในวงการของเล่นจริง ๆ จึงคิดจัดงาน Thailand Toy Expo จุดประสงค์ที่จัดเพราะผมอยากรู้ว่าคนสนใจของเล่นมากน้อยแค่ไหน จะเรียกว่าผมจัดงานเพื่อหว่านแหดูกลุ่มลูกค้าก็ไม่ผิดนัก
เมื่อผู้ใหญ่หลายคนรู้ว่าผมจะจัดงาน Thailand Toy Expo เขาก็ดูถูกว่า ถ้ามีคนมาร่วมงานมากกว่าหมื่นคน จะยอมกราบเท้าผม เพราะคิดว่างานของเล่นคงไม่มีใครสนใจแน่ ๆ คำพูดพวกนี้ผลักดันให้ผมตั้งใจจัดงานให้ดีให้ยิ่งใหญ่ไม่เฉพาะแต่ระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นระดับโลก เพราะต้องเรียกความสนใจให้ชาวต่างชาติมาร่วมงานด้วยให้ได้
ทุกอย่างผมวางแผนไว้หมดแล้ว แต่ก่อนถึงกำหนดจัดงาน 2 สัปดาห์สปอนเซอร์ที่ตกลงกันไว้ไม่ยอมจ่ายเงิน แถมหายไปเลย ผมกลุ้มใจมากคิดไม่ตกว่าจะไปเอาเงินมาจากไหน ในที่สุดจึงไปคุยกับแม่และพี่สาว โดยจะขอเงินมรดกส่วนของผมมาใช้ คุณแม่กับพี่สาวเห็นความตั้งใจของผม บอกว่าถ้าอย่างนั้นถือเป็นการลงทุนร่วมกันสามคน ถ้าขาดทุนก็ขาดทุนด้วยกัน เราสามคนสมัครใจทิ้งเงิน 10 ล้าน ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
ในที่สุดผมก็สามารถจัดงานได้สำเร็จ Thailand Toy Expo ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2556 ที่เซ็นทรัลเวิลด์เป็นเวลา 4 วัน ผลตอบรับดีเกินคาดมีทั้งคนไทยและต่างชาติมารอต่อคิวเข้างาน สรุปแล้วมีคนมางานประมาณ 400,000 คน ผู้ใหญ่ที่เคยสบประมาทผมไว้ถึงกับพูดไม่ออก แต่ก็ไม่ได้มากราบเท้าอย่างที่เขาพูดไว้หรอกนะครับ อันนั้นมันก็เกินไป (หัวเราะ)
สิ่งที่ได้จากการจัดงานนี้ทำให้เกิดกระแสคนเล่นของเล่น ผู้ใหญ่ที่ชอบเล่นของเล่นกล้าเปิดตัวมากขึ้น แล้วเราเองก็ได้ฐานลูกค้าที่แท้จริง ทีนี้ก็มีคำถามจากลูกค้าว่า ถ้าอยากได้ของเล่นจะไปซื้อจากไหน เพราะงานจบลงไปแล้ว ผมเห็นว่าในเมื่อเรามีฐานลูกค้าแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องมีหน้าร้านเพื่อต้อนรับนักสะสมของเล่นทุกคนเสียที
ผมจึงรวบรวมเงินเก็บทั้งหมดเปิดร้าน The Gate ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และทำแบรนด์ของเล่นของตัวเองชื่อว่า JPX แบรนด์นี้ผมทำขายทั่วโลก และทุกปีผมจะจัดงานนี้ขึ้น ซึ่งก็จัดมา 3 ปีแล้ว เพื่อให้วงการของเล่นเข้มแข็งและแบรนด์ JPX เป็นที่รู้จักให้มากที่สุดในตลาดโลก
ทุกปีที่จัดงาน Thailand Toy Expo ผมคืนกำไรให้สังคม โดยในวันแรกของงานผมจะพาน้อง ๆ จากสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้ามาเที่ยวดูงานก่อนใคร และวันที่มีการประมูลของเล่น รายได้ทั้งหมดผมมอบให้สถานสงเคราะห์โดยไม่หักค่าใช้จ่าย
ผมคิดว่า ยิ่งเราได้จากสังคมมากเท่าไร ก็ต้องคืนกลับไปให้สังคมมากด้วยเช่นกัน นอกจากการได้อยู่กับของเล่นแล้ว การได้ส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้สังคมก็เป็นอีกหนึ่งความสุขของผม เพียงแต่ความสุขอันนี้เป็นความสุขในมุมของผู้ให้ที่มีเงินเท่าไรก็ไม่สามารถซื้อได้
เรื่อง พงศธร ธรรมวัฒนะ เรียบเรียง อุรัชษฎา ขุนขำ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์