งมงายกับศรัทธา

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: งมงายกับศรัทธา ต่างกันอย่างไร

งมงายกับศรัทธา ต่างกันอย่างไร

ถาม :  เราจะแยกความ งมงายกับศรัทธา ออกจากกันได้อย่างไร ในเมื่อความต่างของสองสิ่งนี้ถูกกั้นด้วยเส้นบาง ๆ เท่านั้น

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ ไขปัญหาข้อนี้ว่า

ความงมงายกับศรัทธา แยกได้ไม่ยาก ศรัทธามี 2 ส่วน ส่วนแรกคือศรัทธาที่ไม่มีปัญญาประกอบหรือไม่มีปัญญาสัมปยุต อย่างเช่น ศรัทธาในเรื่องโลก ๆ ซึ่งแบบนี้ไม่สามารถทำให้จิตเป็นอิสระ เบาสบาย ปลดล็อกใจของเราไม่ได้อย่างแท้จริง เพราะความรู้สึกของเรายังถูกควบคุมอยู่ภายใต้สิ่งที่ทำอยู่หรือศรัทธาอยู่ อาทิ เราไปศรัทธาใครสักคนหนึ่งอย่างอาจารย์ขมังเวทย์ต่าง ๆ ที่มีสาวกเป็นล้าน อาจารย์คนนั้นก็จะมีอำนาจเหนือเรา สามารถสั่งเราได้ จะไม่ทำก็ไม่ได้ ใจเป็นทุกข์ ศรัทธาแบบนี้เรียกว่า “งมงาย”

อีกส่วนคือ ศรัทธาแบบมีปัญญาประกอบหรือศรัทธาแบบพุทธ เมื่อทำสิ่งไหนเกี่ยวโยงกับใครหรืออะไร จิตจะเป็นอิสระ ไม่รู้สึกว่าถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้สิ่งนั้น ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ถึงไม่ทำใจก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะเข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย เช่น เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ต้องไหว้ของเก้าอย่าง เช่น ผลไม้เก้าอย่าง เมื่อทุกคนในโลกต้องไหว้พร้อมกันหมด ของมีโอกาสที่จะขาดตลาด เมื่อถึงเวลาต้องไหว้แล้วไม่สามารถซื้อของมาได้ครบเก้าชนิด คนไหว้ก็เกิดความไม่สบายใจ กระวนกระวาย ในขณะที่อีกคนคิดว่า ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนแค่นั้น ความต่างก็อยู่ตรงนี้

ในวันตรุษจีน พระอาจารย์เลยแนะนำลูกศิษย์ว่าปีนี้ของไหว้เจ้ามีโอกาสจะขาดแคลน พระอาจารย์ขอให้ทุกคนลองไหว้ด้วย “ความว่าง” แทน โดยการตั้งโต๊ะเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่บนโต๊ะว่างเปล่า ให้เราแสดงความเคารพเจ้าและบรรพบุรุษด้วยใจ นึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ คุณปู่คุณย่า คุณพ่อคุณแม่อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไปมัวกังวลกับข้าวปลาอาหาร

ในเมื่อชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว พระอาจารย์ก็อยากให้ทุกคนได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ บ้าง ให้เจ้าที่ได้กิน “ความว่าง” บ้าง ให้ท่านกินหัวหมูทุกปีก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ ไม่งั้นท่านอาจเป็นโรคไขมันอุดตันหรือโรคเบาหวานแน่ ๆ (หัวเราะ)

 

ข้อมุลจาก : คอลัมน์ Dhamma Daily นิตยสาร Secret


บทความน่าสนใจ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ไม่อยากให้คนอื่นงมงาย แต่พูดออกไป ก็ขัดศรัทธาเขา

กรรม…เชื่ออย่างไรไม่กลายเป็นคนงมงาย

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ดูดวงกับพระ ผิดหรือไม่

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่อง “ฤกษ์ยาม” ไว้อย่างไร

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ไม่อยากให้คนอื่นงมงาย แต่พูดออกไป ก็  ขัดศรัทธา เขา

หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การเจริญกุศล โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.