สนทนาธรรมร่วมสมัย

สนทนาธรรมร่วมสมัย ระหว่าง “พระนักเผยแผ่รุ่นใหม่” และ “ลูกศิษย์สุดแนว”

ฉบับนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ พระวิปัสสนาจารย์ผู้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ได้มาให้ความรู้ทางธรรมและตอบข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้โดยมีลูกศิษย์สุดแนว ป๊อด – ธนชัย อุชชิน เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามสุดจี๊ด พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งทางโลกและทางธรรมกับพระอาจารย์

ก่อนการสนทนาธรรม Secret ได้ซักถามถึงความเป็นมาในการทำงานร่วมกันทั้งทางโลกและทางธรรมระหว่างพระอาจารย์และลูกศิษย์

ย้อนไปเมื่อประมาณ 5ปีที่แล้วคุณป๊อดและพระอาจารย์พบกันได้อย่างไรคะ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :เจอกันครั้งแรกที่สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า ประเทศเนปาล เมื่อก่อนอาจารย์ก็แทบไม่รู้จักป๊อดเลย แต่เคยได้ยินชื่อบ้าง เพราะเราเป็นพระสายปฏิบัติความเคลื่อนไหวทางโลกหายไป ช่วงที่อาจารย์พาคณะลูกศิษย์ไปอินเดีย และเดินทางไปที่เมืองลุมพินี ในประเทศเนปาลได้มาเจอป๊อดที่ที่พักโดยบังเอิญ หนึ่งในลูกศิษย์ที่ไปด้วยกันเป็นรุ่นพี่ของป๊อดที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ จึงชวนป๊อดมารู้จักพระอาจารย์

ป๊อด:ครับ รุ่นพี่คนนั้นชื่อ พี่ใหญ่ เจอกันโดยบังเอิญที่ที่พัก พี่เขาชวนมากราบพระอาจารย์ ผมก็เข้าไปกราบท่านพอได้เจอท่าน ท่านก็ชวนคุย แล้วพี่ใหญ่ก็แนะนำว่า “คนนี้ชื่อป๊อด เป็นนักร้องที่เรานำเพลงเขามาใช้ในคอร์สปฏิบัติธรรมครับ” ผมดีใจมาก ไม่น่าเชื่อว่าเพลงของเรานำไปใช้ในสถาน-ปฏิบัติธรรมได้ด้วย จากนั้นท่านได้มอบหนังสือที่ท่านเขียนให้ผมนี่เป็นครั้งแรกที่พบท่านครับ

วันนั้นคุณป๊อดก็ได้รู้ว่าตัวเองเกิดวันเดียวกับพระอาจารย์ด้วย

ป๊อด:วันนั้นอยู่ ๆ พระอาจารย์ก็ถามว่าผมเกิดวันที่เท่าไหร่เดือนอะไร ปีอะไร ผมตอบไปว่า 24 พฤษภาคม 2514 ท่านก็ว่า “อ้าว ตรงกับอาตมาเลย” เลยได้รู้ว่าเกิดวันเดียวกับท่าน

คุณป๊อดเข้ามาช่วยงานพระอาจารย์ได้อย่างไรคะ

ป๊อด:หลังจากนั้น คุณจอม (ปรียวิศว์ โยธีพิทักษ์) ลูกศิษย์ท่านก็โทร.มาหา บอกว่าพระอาจารย์เชิญไปแลกเปลี่ยนมุมมองในคอร์สปฏิบัติธรรมของท่าน และให้เอากีตาร์มาเล่นดนตรีด้วยปกติผมเล่นคอนเสิร์ตให้คนสนุก กระโดดตัวลอย เฮฮาครั้งนั้นเล่นให้ผู้ชมที่ใส่ชุดขาว นั่งกับพื้นดู และทุกคนดูสงบถือเป็นมิติใหม่ในการแสดงดนตรีของผมมาก (หัวเราะ)

สนทนาธรรมร่วมสมัย

พระอาจารย์ให้คุณป๊อดมาช่วยงานด้านไหนคะ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :จริง ๆ แล้วเขาก็เหมือนเทศน์กัณฑ์บทเพลง บทธรรม ถ้าฟังดี ๆ ก็เหมือนเทศน์กัณฑ์หนึ่งเลยนะคนทั่วไปอาจไม่ได้สนใจหรือตรึกตรองตรงนี้เท่าไร แต่พอทีมงานนำเพลงมาใช้ในหลักสูตรปฏิบัติธรรม เราเอาเพลงเขามาทำเป็นสื่อการสอน เช่น เพลง “มา” ที่มีเนื้อร้องว่า “ทุกอย่างแล้วก็ว่างเปล่า ทุกสิ่งเพียงแค่ชั่วคราว เมื่อเห็นทุกข์ในเรื่องราวและรู้ว่าทุกสิ่งต้องปวดร้าว” นี่เป็นหลักธรรมตั้งแต่ไตรลักษณ์หลักอริยสัจ เชื่อมโยงไปถึงวงจรปฏิจจสมุปบาท จึงมองว่าน่าจะมาทำงานเผยแผ่ธรรมะร่วมกันได้ เพื่อเสริมให้คนทั่วไปเห็นว่าธรรมะแฝงอยู่ทั่วไป ทั่วทุกอณูในชีวิต และทุกอย่างในโลก

ในฐานะศิลปินเขาก็แฝงบทธรรมเหล่านี้ไว้ จึงขอให้เขามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ทางธรรมด้วยกัน เพราะฉะนั้นเวลามีคอร์สปฏิบัติธรรมจึงเชิญเขามาเสริมด้านเนื้อธรรม แก่นธรรม โดยเฉพาะหลัง ๆ มีคนรุ่นใหม่มาเข้าคอร์สกันมาก ถ้าเขาได้ฟังบทเพลงธรรมะประกอบก็จะปรุงจิตให้อ่อนโยน นี่แค่เพลงเดียวเองนะ

เพลง “มา” ที่พระอาจารย์พูดถึงนี้ คุณป๊อดได้แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากไหนคะ

ป๊อด:หลังจากผมบวชประมาณ 4 เดือนครึ่ง เมื่อกลับมาเป็นฆราวาสก็ตรึกตรองดูว่าเราเข้าใจอะไรที่พระพุทธเจ้าทรงสอนบ้าง จึงได้เขียนเพลง “มา” ซึ่งผมซ่อนความหมายในเนื้อเพลงไว้ว่า “(พระพุทธเจ้า) มาทำให้ฉันมีความสุข ในโลกที่ไม่เคยหยุด และไม่เคยรู้มาก่อน มาทำให้ฉันมองดูใหม่ ลึกลงไปในจิตใจ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”

ผมซ่อนความหมายนี้เอาไว้เนียน ๆ เพราะจริง ๆ แล้วเราแต่งเพื่อบอกตัวเอง ยังไม่ได้อยู่ในจุดที่จะไปสอนใคร เราแค่เข้าใจอะไรก็เขียนเป็นเพลง เพื่อสอนใจตัวเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง “มา” “ตาสว่าง” หรือเพลงอื่น ๆ ผมเพียงคิดว่าหากเพลงนี้ไปตรงกับชีวิตใคร แล้วทำให้เขาตาสว่างขึ้นด้วยนับเป็นเรื่องดี จนกระทั่งลูกศิษย์พระอาจารย์มาถอดรหัสและนำไปใช้ ซึ่งผมก็ดีใจที่สุดท้ายแล้วมันเป็นประโยชน์ต่อคนที่มาปฏิบัติธรรม

สนทนาธรรมร่วมสมัย

การสนทนาธรรม

ป๊อด :ในฐานะที่ผมเป็นคนทำงานในวงการบันเทิงมักได้ยินคำถามที่ว่า คนที่ทำอาชีพแบบนี้ คือในวงการบันเทิง ทั้งนักร้อง นักแสดง ทำให้คนเกิดกิเลส ผิดศีล พระอาจารย์เห็นอย่างไรครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ลองตัดคำว่า “อาชีพแบบนี้” ออกไปก่อน และมองว่าอกุศล กาม หรือแม้แต่โทสะ หรือกิเลสอื่น ๆ ล้วนเกิดขึ้นที่ ใจเรา ไม่ได้เกิดขึ้นที่การเป็นนักร้องนักแสดง สิ่งสวยงามในโลกนี้ไม่ใช่กาม ทุกอย่างเป็นกลาง ๆและเป็นอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้เราเน้นดูที่ “ข้างใน”เพราะเรายังต้องอยู่กับโลก ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้

คนส่วนมากมองว่า การละเล่น การแสดง การละครทำให้คนเกิดกิเลส เกิดอกุศล ถ้าตอบว่า “ใช่” แล้วอาชีพอื่นและสิ่งอื่น ๆ ในโลกนี้ล่ะ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส เกิดอกุศลเลยหรือ นอกจากนักร้อง นักดนตรี และนักแสดงแล้วสิ่งอื่น ๆ คุณไม่เคยมองเห็นโทษเลยใช่ไหม เช่น การช็อปปิ้งการกิน ไม่เป็นกิเลสเลยหรือ

จริง ๆ แล้วทุกอย่างเหมือนกันหมด พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราดูเจตนาข้างใน แม้แต่ผู้ที่ทำอาชีพบันเทิงก็ต้องดูว่ามีจุดมุ่งหมาย ความตั้งใจจะสื่ออะไรให้ผู้ชม ผู้ฟัง มีเจตนาที่จะมอมเมาหรือยั่วให้คนที่ยังไม่เกิดโลภะให้มีโลภะ หรือที่ยังไม่เกิดโทสะก็ทำให้เกิดโทสะ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นอกุศล ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรามีเจตจำนงสนับสนุนให้เกิดการตื่น ตาสว่าง เกิดปัญญา เข้าใจชีวิต เข้าใจสัจธรรมว่า ทุกสิ่งเพียงชั่วคราว ทุกอย่างแล้วว่างเปล่า หากเป็นเช่นนี้ตอบได้เลยว่าไม่ผิดศีล เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าเรามีเจตนาเช่นไร

 

ป๊อด :พระอาจารย์มีคำแนะนำในการปฏิบัติธรรมสำหรับคนในวงการบันเทิงหรือทำงานกลางคืนอย่างไรบ้างครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :อาจารย์พูดเสมอว่า การปฏิบัติธรรมไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่ไปจากธรรม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอะไร แต่อยู่ที่ว่ามีธรรมอยู่หรือเปล่าถ้าธรรมไม่อยู่แล้วก็ไม่น่าทำ เพราะธรรมไม่อยู่แล้วจะเป็นกรรม

ถ้ายังเลิกทำอาชีพแบบนี้ไม่ได้ก็ให้มีธรรมประจำใจ เช่นสมาธิ สติ หรือกุศลอื่น ๆ โดยเฉพาะธรรมภาคปฏิบัติ เช่นการกลับมาดูลมหายใจเป็นช่วง ๆ ในระหว่างการทำงาน ทั้งกลางวันและกลางคืน หรือทำอาชีพอะไรก็ตาม แม้จะไม่ได้บริสุทธิ์ทั้งหมด แต่ช่วงเวลาที่กลับมาอยู่กับลมหายใจ จิตก็มีที่ตั้ง มีสติ มีสมาธิ เรียกว่า ธรรมยังประกบอยู่กับโลก ต่อให้อาชีพนั้นเป็นบาป เป็นอกุศล แต่ถ้าคุณไม่ได้เอาจิตไปอยู่กับงานตรงนั้นทุกวินาที ทุกนาที หรือทุกชั่วโมง โดยมีบางช่วงที่ถอนจิต ถอนความรู้สึกให้มาอยู่กับกุศล ให้ใจสงบ ร่มเย็นธรรมก็ยังมีส่วนร่วมกับโลก เมื่อธรรมอยู่กับโลก ธรรมก็คุ้มครองโลก

ป๊อด :การปฏิบัติเช่นนี้น่าจะเหมาะกับทุกคนทุกอาชีพใช่ไหมครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ส่วนมากจะเน้นอาชีพที่ล่อแหลมเมื่อเรายังไม่หลุดพ้นและยังต้องอยู่ในโลก ก็ไม่ควรหนีไปจากโลก แต่ขอแค่ให้ธรรมได้มีส่วนร่วมอยู่ในชีวิตของคุณ ขอให้ธรรมมีส่วนแทรก แหวก เจาะ ทะลุทะลวง แทรกเข้าไปในเวลาที่คุณประกอบกิจนั้น ๆ ให้ธรรมะภาคปฏิบัติ เช่น การดูลมหายใจชะแว้บเข้ามา ในช่วงที่อยู่กับลมหายใจจะไม่มีความคิดคำนึงถึงใคร ไม่มีเหตุการณ์ ไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่จิตจะว่าง ว่างจากอารมณ์ ว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ ว่างจากอกุศล ว่างจากกิเลส เมื่อจิตกลับมาอยู่กับกุศลได้มากเท่าไหร่ ก็จะลดปริมาณของการเกิดอกุศลได้มากขึ้นเท่านั้น

ป๊อด :ถ้ายกตัวอย่างคนทำอาชีพโฆษณาล่ะครับบางครั้งต้องโกหก อวดอ้างสรรพคุณสินค้าการกระทำแบบนี้เป็นบาปหรือเปล่า

พระอาจารย์นวลจันทร์ :แค่ “บางครั้ง” ดีแล้ว น่าอนุโมทนาแต่ถ้าไม่ใช่บางครั้ง แล้วเป็นทุกครั้ง อันนี้ไม่น่าอนุโมทนาเมื่อเรายังอยู่ในโลกิยะ อยู่ในวงการธุรกิจ วงการตลาดที่ต้องใช้กิเลสมาปรุงแต่งย้อมจิต ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าถามว่าบาปไหม ก็ตอบว่าเป็นบาปแน่นอน แต่ไหน ๆ จะบาปแล้วก็ต้องมีความฉลาด หรือเรียกว่าการบริหารจัดการ ต้องฉลาดในการทำบาป คือนาน ๆ ทำที ไม่ได้ทำถี่ ๆ หากทำเพียงบางครั้งก็ถูกต้องแล้ว น่าอนุโมทนา

ป๊อด :การทำบาปที่พระอาจารย์กล่าวถึงนี้ คือผิดศีลข้อ 4 ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ถ้าทำงานอยู่ในวงการโฆษณา รักษาศีลข้อ 4 หรือข้อมุสายากมาก คุณก็ไม่ต้องสมาทานศีลข้อนี้เลยแต่อีกสี่ข้อก็ต้องรักษาอย่าให้ขาด ต้องรักษาไว้ให้ได้มากที่สุดความผิดพลาด ความบกพร่องมีอยู่หนึ่ง แต่ส่วนที่ดีมีประโยชน์มีอีกสี่ เราควรมามองที่สี่ข้อที่เหลืออยู่ ต้องรักษาไว้ให้ดี

ป๊อด :ตอนนี้ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยห่วงว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่มองว่าธรรมะเป็นเรื่องของคนสูงอายุเป็นเรื่องเชย พระอาจารย์มีกลยุทธ์อย่างไรให้เด็กวัยรุ่นหันมาสนใจธรรมะ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ง่ายนิดเดียว กลยุทธ์อยู่ที่ “การนำเสนอ” ต้องให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ธรรมะเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วแต่หลายคนไม่เข้าหาธรรมะเพราะรูปแบบการนำเสนอไม่น่าสนใจ ไม่ถูกจริต ไม่เร้าใจ จึงไม่มีโอกาสเรียนรู้แก่นธรรมถ้าเราหวังให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจธรรมะ อาจลองเปลี่ยนจากฟังพระเทศน์มาฟังเพลงธรรมะบ้างก็ได้

ป๊อด :พระอาจารย์ใช้วิธีการไหนในการนำเสนอธรรมะครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :หลักของอาจารย์อยู่ที่กลุ่มผู้ฟังหรือผู้รับ สมมุตินั่งฟังกันอยู่ แล้วเริ่มเห็นว่าบรรยากาศไม่ไหวแล้วก็พาเขาเปลี่ยนกิจกรรมไปทำอย่างอื่นบ้าง จริง ๆ แล้วอาจารย์ก็ดำเนินตามรอยพุทธจริยา พระพุทธเจ้าทรงมองดูกลุ่มผู้รับเป็นหลักเสมอ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเขาเอง ไม่ใช่ว่าเราให้ในสิ่งที่เราอยากจะให้ แต่ควรคำนึงว่าเขาต้องการอะไรต้องมีศิลปะในการให้

คนรุ่นใหม่ไม่อยากเข้าวัด ต้องถามว่าวัดน่าเข้าไหมมีอะไรที่เด็กสนใจไหม จะไปโทษเด็กฝ่ายเดียวไม่ได้ เราต้องมองตัวเองด้วย แต่ตอนนี้ก็มีนิมิตหมายอันดี น่าอนุโมทนาที่มีนักเผยแผ่รุ่นใหม่หลายท่านปรุงวิธีการนำเสนอธรรมะได้อย่างลงตัว หากเขาไม่ได้สนใจพระ ไม่เข้าหาพระ เราก็ไม่ต้องเอาพระไปหาเขา หรือถ้าไม่อยากไปวัด ก็ไม่ต้องไปวัด สมัยนี้จึงมีสวนธรรม มีบ้านปฏิบัติธรรม อย่างน้อยคนที่รู้สึกไม่ดีกับวัดและพระก็ไปปฏิบัติธรรมได้ ตอนนี้ก็มีประยุกต์จัดบ้านจัดสวน จัดบรรยากาศโรงหนัง โรงละครในการเสนอธรรมะอย่างการจัดงานวัดลอยฟ้าที่สยามพารากอนที่ผ่านมา ทำให้คนได้ความรู้ทั้งทางโลกทางธรรม โลกไม่ช้ำ ธรรมไม่เสียตอนหลังก็มีการนำเสนอช็อปปิ้งบุญ ธนาคารออมศีล กิจกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น

ป๊อด :เรื่องวัยรุ่นชอบยกพวกตีกันก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เรื่องนี้พระอาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรครับ และทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดทุกยุคทุกสมัย

พระอาจารย์นวลจันทร์ :จริง ๆ แล้วเกิดจากการปลูกฝังจากผู้ใหญ่และการเห็นชอบตามกันรุ่นต่อรุ่น เรียกได้ว่าเป็นวงจรที่สืบต่อกันมา เช่น เด็กรุ่นใหม่เห็นว่ารุ่นพี่ทำอะไรกันมาก็โอ้โห ฮีโร่ สุดยอด ซึ่งที่จริงแล้วการนำเสนอและการป้อนข้อมูลก็สำคัญ หากมีการให้ข้อมูลที่ไม่ดี แต่นำเสนอว่าดี เด็กรุ่นใหม่ไปเห็นก็กลายเป็นว่าข้อมูลที่ไม่ดีกลับเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่พึงกระทำ น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เช่น ถ้าเข้าอาชีวศึกษา ไม่ยกพวกตีกันเป็นไปไม่ได้ กลายเป็นว่าเขามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี

ป๊อด :ผมเคยพูดในคอนเสิร์ตเวลาที่มีการตีกันว่า “ยุคนี้ยังตีกันอีกเหรอ เชยมาก” เขาจะรู้สึกอายว่าสิ่งที่เขาทำมันเชยเพราะอาจเคยคิดว่าทำแล้วเท่ แต่พอเราบอกไปว่ามันไม่ใช่ของเท่เลยนะ เขาเลยหยุดตีกัน

พระอาจารย์นวลจันทร์ :วิธีที่ป๊อดพูดคือการป้อนข้อมูลใหม่ซึ่งเป็นคำตอบของปัญหานี้ได้ เราต้องสร้างค่านิยมใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ยี่สิบปี หรืออาจเป็นร้อยปี แต่เราต้องสร้างค่านิยมที่ว่าอย่าตีกันเลย เชยแล้ว ซึ่งเราต้องหาทางออกให้เขาด้วย ถ้าเราไม่บอกทางออก ไม่บอกวิธีทำ แต่ไปโทษเขาว่าไม่ดี ๆ แล้วดีคืออย่างไรล่ะ มีใครบอกไหมว่าดีคืออย่างไร ทำแบบไหน ไม่เห็นมีใครบอกเลย

ป๊อด :อีกคำถามที่น่าสนใจคือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เรียกร้องและไม่คาดหวังกับความสัมพันธ์บาปไหม ในเมื่อใคร ๆ ก็ทำกัน

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ประเด็นนี้ดี ที่ว่า “เมื่อใคร ๆ ก็ทำกัน”ถามว่า เมื่อใคร ๆ ทำกัน แล้วเราต้องทำตามหรือ ไฉนเราต้องทำตามใคร ๆ เพราะเห็นใคร ๆ เขาทำ เราจึงต้องทำหรือ ทำไมไม่เป็นตัวของตัวเองบ้าง ถ้าสิ่งที่ใคร ๆ ทำกันไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรม จะทำอย่างไร กลายเป็นว่าเราต้องทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรมเหมือนที่ใครเขาทำกันน่ะสิ ฉลาดนักเหรอ เช่นเราเห็นคนโดดลงนรกไปเป็นหมื่นเป็นล้าน เรายังจะกระโดดลงไป อย่างนี้ฉลาดนักหรือ

สนทนาธรรมร่วมสมัย

ป๊อด :พระอาจารย์มีคำแนะนำสำหรับคนที่กิเลสหนา ทั้งโลภ โกรธ หลง ให้มีดวงตาเห็นธรรมได้อย่างไรครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :คนเรามีกิเลสเท่ากันหมดนั่นแหละทุกคนกิเลสหนา ปัญญาทึบ ที่เรากลับมาเกิดเป็นปุถุชนอีกเพราะไม่มีใครกิเลสบางกว่าใครหรอก ตามพุทธวิธี ท่านจึงประทานหลักปฏิบัติมาให้ คือ มรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมนูญชีวิต เอามรรคทั้ง 8 ไปใช้ ไปสวมชีวิต แจกแจงและน้อมนำมาใช้ทีละข้อ เอามาใช้จริงในชีวิตประจำวัน น้อมนำมาใช้เท่าที่จะใช้ได้ บางวันอาจไม่ครบทั้ง 8 องค์ บางครั้งอาจนำมาใช้แค่ข้อใดข้อหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็ถือว่าได้ปฏิบัติตามพระศาสดา เพราะเมื่อปฏิบัติตามหลักมรรคแล้ว จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด พ้นจากกิเลส หากบางคนไม่เข้าใจเรื่องมรรคมีองค์ 8 ก็ลองฟังแบบเป็นคีตะก็ได้ ลองให้ป๊อดเล่าประสบการณ์ที่ถ่ายทอดเรื่องมรรคมีองค์ 8 ออกมาเป็นเพลงให้ฟัง

ป๊อด :พอดี พี่เอก – ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ทำโปรเจ็กต์“ด้วงแมงแสดงธรรม” โดยน้อมนำธรรมะ เช่น บทปฏิจจสมุปบาทและมรรคมีองค์ 8 มาแจกแจงให้อยู่ในท่วงทำนองเพลง ผมในฐานะนักร้องก็ต้องอ่านบทมรรคมีองค์ 8 ทั้งหมด ต้องทำความเข้าใจแต่ละประโยค เรียกว่าเริ่มจากผู้ส่งสารต้องซึมซับความหมายก่อนเลย และเชื่อว่าสารนี้จะเข้าไปแทรกอยู่ในสมองของคนฟัง หลังจากดูโชว์แล้วบางคนอาจนำมรรคไปใช้ อย่างน้อยถือเป็นการซึมซับโดยใช้ดนตรีเป็นพาหนะในการสื่อสาร โดยนำโอวาทของพระพุทธเจ้ามาสื่อถึงปุถุชน โปรเจ็กต์ด้วงแมงแสดงธรรมถือเป็นไอเดียหนึ่งในการนำเสนออย่างที่พระอาจารย์กล่าวมาครับ

เมื่อผมได้มาถ่ายทอดเพลงนี้ ทำให้คิดถึงมรรคมีองค์ 8ได้คล่องขึ้น และได้เห็นความสัมพันธ์ของศีล 5 และมรรคมีองค์ 8 ว่ามีความทับซ้อนกันอยู่ ก่อนหน้านี้เราอาจมองแยกกันแต่เมื่อเข้าใจแล้วจะรู้ว่ามรรคมีองค์ 8 ก็คือศีล 5 ที่นำมาขยายความอีก เช่น ข้อมุสาของศีล 5 ขยายได้ไปถึงการไม่พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ซึ่งทำให้เราเข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น

ป๊อด :โปรเจ็กต์ด้วงแมงแสดงธรรม อาจารย์คิดไว้นานหรือยังครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ไม่ได้คิดอะไรเลย (หัวเราะ) ไม่ได้คิดอะไรล่วงหน้าไว้ก่อนเลยนะ ทุกอย่างมาตามเหตุ ตามปัจจัย ตามความลงตัวเป็นธรรมะจัดสรร แม้แต่คนที่มาร่วมก็ไม่ได้คิดว่าวันนี้จะไปเจอใคร ที่ไหนทุกอย่างเป็นความประจวบเหมาะพอดี

ป๊อด :พูดถึงเรื่องเพลงและดนตรี มีคำถามหนึ่งครับว่าจริง ๆ แล้วพระแต่งเพลงได้ไหมครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ต้องดูที่เจตนา ว่าแต่งเพื่อให้เกิดสติปัญญา ให้เกิดกุศล ให้ตาสว่าง ให้เห็นสัจจะ ให้เข้าถึงแก่นธรรม เป็นการปรุง การนำเสนอแม้แต่บทสวดมนต์ในภายหลังก็ใส่ทำนองเข้ามาเป็นบทสวดมนต์ทำนองสรภัญญะซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพระ เป็นครูบาอาจารย์แต่ง แต่เป็นการแต่งเพื่อบูชาสรรเสริญในคุณพระศาสดา คุณพระรัตนตรัย มีเจตนาเพื่อยกย่อง เทิดทูนบูชา เคารพยกย่อง แต่ออกมาให้เป็นความงาม เป็นการปรุงแต่งที่เรียกว่า “ปุญญาภิสังขาร”(การปรุงแต่งบุญ) ซึ่งยังเป็นกุศลอยู่ เป็นการแต่งโดยมีเจตนาที่เป็นกุศลหรือแต่งเพื่อให้ศิลปินร้อง โดยหวังผลให้ประชาชนที่ฟังแล้วเกิดสติ เกิดปัญญาเข้าใจสัจจะ เข้าใจชีวิต เข้าใจธรรมะ เข้าใจคำสอนของพระศาสดาผ่านบทเพลงซึ่งพระเป็นผู้แต่ง เพลงเช่นนี้พระก็แต่งได้ แต่แต่งเพลงเท่านั้นนะ ไม่ใช่ร้องเอง

ป๊อด :ตอนนี้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่อยู่กับคนยุคใหม่ตลอดเวลาทำให้คนสนใจเรื่องนอกตัวและเกิดความรู้สึกต่าง ๆ เกิดการเปรียบเทียบ รวมถึงความอิจฉา อาจารย์มีข้อแนะนำการใช้โซเชียลมีเดียให้เหมาะสมได้อย่างไรบ้างครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ต้องเสริมธรรมให้คู่กับโลก เพราะอย่างไรก็ต้องเจออิทธิพลภายนอกดึงเราให้สนใจเรื่องนอกตัวอยู่แล้ว หากไม่มีธรรมะประกบแล้วจิตใจจะเลื่อนลอย ไม่มีหลัก สมัยนี้เขาก็เล่นกันทั้งเฟซบุ๊ก อินเทอร์เน็ตและอื่น ๆ สื่อพวกนี้คนรุ่นใหม่ก็ต้องเล่น แต่หลักของธรรมและหลักการปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การดูลมหายใจ หรือถ้าพูดเป็นศัพท์ทางการคือให้มีกรรมฐาน หรือการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน คือไม่ทุ่มเวลาทั้งหมด ทั้งกายทั้งใจไปกับทางโลกเสียหมด นาน ๆ ก็ต้องวกกลับมาที่กายที่ใจด้วย

อย่าว่าแต่โซเชียลมีเดียเลย แม้แต่การขับรถ ล้างห้องน้ำถักโครเชต์ ทำงานบ้าน กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราถลำลึกได้หมด ทำจนลืมกินข้าวกินปลา ดึงให้เราไม่สนใจกายไม่สนใจใจ ฉะนั้นควรปรับสมดุลให้ธรรมคู่กับโลก เพราะเรายังต้องทำงานอยู่กับโลก แต่ถ้าโลกขาดธรรม โลกจะร้อนทำให้ใจเราร้อน เพราะใจถูกดูดถูกดึงไป ใจไม่ตั้งมั่น แต่ถ้าเราทำงานไป ไม่ว่าจะงานอะไร ต้องกลับมาดูลมหายใจเป็นช่วง เป็นระยะ เขาเรียกว่าเป็นการชักเย่อ มีการต้านกำลังกัน

ป๊อด :เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าคนทั่วไปเป็นกันมากคือความกังวล อาจารย์มีเทคนิคเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรครับ

พระอาจารย์นวลจันทร์ :ไม่ต้องกังวลเรื่องกังวล กังวลเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นจริตหนึ่งในหกข้อ ซึ่งวิตกจริตเป็นธรรมชาติ คนเรามักมีอัธยาศัยร่องเดิม รอยเดิม มีความเคยชินคุ้นชินของจิตที่สั่งสมมา 500 ชาติ เราเคยสั่งสมเรื่องวิตกจริต ชาตินี้จะไม่วิตกจริตได้อย่างไร มีอะไรก็ต้องกังวลไว้ก่อน

จริง ๆ แล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องกังวล เรื่องกังวลไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเลย มีเรื่องอื่นน่ากังวลอีกตั้งเยอะ เช่น การเกิดแก่ เจ็บ ตาย ภายในสังสารวัฏ มากังวลเรื่องนี้ดีกว่าว่าถ้าเราตายแล้วยังมีกิเลสหนาปัญญาทึบ ต้องกลับมาเกิดอีกมาสร้างความดีกันดีไหม กลับมาเกิดจะได้เจอสิ่งดี ๆ เรื่องแบบนี้น่ากังวลมากกว่า เราต้องรู้จักกังวลให้ถูกเรื่อง หาเรื่องอื่นมาเปลี่ยนแทน เพราะมันต้องมีสิ่งใหม่ให้จิตประจักษ์และยึด เพราะว่าจิตในโลกิยะไม่ใช่จิตที่ต้องปล่อยวาง มันปล่อยวางไม่ได้ มันต้องหาสิ่งใหม่จับ ก่อนจะพรากไปจากสิ่งเดิม ต้องมีสิ่งใหม่มาให้จับก่อน

ถ้าเราเป็นคนเจ้าความคิด เจ้าวิตกจริตอยู่แบบนี้ ท่านจึงบอกให้เอาจิตมาอยู่กับลมหายใจ เข้าสู่อานาปานสติภาวนาสามารถแก้วิตกจริตได้ ย้ายฐานมาอยู่กับลมหายใจเข้า -ออก มาวิตก คือ ยกจิตมาสู่อารมณ์นี้ และวิจารณ์ คือคลุกเคล้าคลอเคลียอยู่กับลมหายใจไปเรื่อย ๆ สักพักก็จะเป็นสมาธิ เกิดปัญญาและปีติสุข

การสนทนาธรรมในวันนี้จบลงอย่างอิ่มเอม พร้อมด้วยข้อคิดและสาระทางธรรมที่มีประโยชน์ หากเพียงเราเข้าใจตามที่พระอาจารย์นวลจันทร์ชี้ให้เห็นว่า ธรรมะแฝงอยู่ทั่วทุกอณูในชีวิตและทุกอย่างในโลกและน้อมจิตกลับมาอยู่ที่ลมหายใจอยู่เสมอ เราก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 172

เรื่อง เชิญพร คงมา 

ภาพปก / ภาพประกอบ วรวุฒิ วิชาธร ผู้ช่วยช่างภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี, ทศพล ฆ้องคำ

สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์ 

แต่งหน้า - ทำผม ภูดล คงจันทร์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.