3 คนทำงานหัวใจน่ายกย่อง เหนื่อย-หนัก-เงินน้อย แต่สุขมาก

ใครๆ ก็รู้ว่า “สุข…ทุกข์อยู่ที่ใจ” ทว่า “สุข” กับ “ทุกข์” ของหลายๆ คนกลับอยู่ที่ “งาน” แม้ว่าการทำงานไปด้วย มีความสุขไปด้วยจะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย โดยเฉพาะงานที่เครียดแสนเครียด เหนื่อยหนัก แถม รายได้น้อย แต่เขาทั้งสามคนกลับมีความสุขอยู่เสมอ

 

ลุงฟรุต” พ่อค้าผลไม้

คุณบักเซี้ย แซ่ลิ้ม หรือที่ชาวจุฬาฯเรียกว่า ลุงฟรุต หรือ ลุงโป๊ง (เหน่ง) ทำอาชีพขายผลไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเกือบ 25 ปี ทุกวันลุงโป๊งภรรยา และลูกๆ จะช่วยกันเตรียมผลไม้ เริ่มตั้งแต่การคัด ซื้อ ล้าง ปอกและหั่นอย่างพิถีพิถัน เช่น เงาะหรือองุ่นก็จะคว้านเม็ด แตงโมก็จะแคะเม็ดออกจนเกลี้ยง ส่วนผลไม้อื่นๆ เช่น แตงทิเบต เมลอนญี่ปุ่น แอ๊ปเปิ้ล มะม่วงฝรั่ง ชมพู่ และกล้วยน้ำว้า ฯลฯ จะหั่นเป็นชิ้นพอคำ บรรจุถุงและเรียงใส่ไว้ในถังน้ำแข็งขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เท่าที่รถเวสป้าคู่กายจะบรรทุกไหว

ลุงโป๊งจะขี่รถเข้าไปในคณะต่างๆ และมองหาลูกค้าประจำ ซึ่งลุงโป๊งจะจำได้หมดว่าลูกค้าคนไหนชอบผลไม้แบบใด และรู้ว่าลูกค้าบางคนชอบไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ เช่น ชอบกินแอ๊ปเปิ้ลที่ปอกเปลือกเท่านั้น ลุงโป๊งก็จะเตรียมเผื่อไว้ให้

ลุงโป๊งเล่าว่า สมัยหนุ่มๆ ลุงโป๊งเคยฝันที่จะร่ำรวยเป็นเถ้าแก่ แต่แล้ว “การทำงานเพื่อเงิน” กลับทำให้ลุงหมดตัว ลุงโป๊งเริ่มต้นใหม่โดยหันมาใช้ความรู้ในการขายผลไม้ที่ซึมซับมาจากคุณพ่อ และหมั่นปรับปรุงทักษะในการเป็น คนขายผลไม้ที่เอาใจใส่ต่อความต้องการของลูกค้า จนสามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคงเหมือนอย่างทุกวันนี้

“อาชีพคนขายผลไม้ทำให้เราได้เงินมาด้วยความบริสุทธิ์ ลุงคิดเสมอว่าลูกค้ามีเมตตาต่อเรา เราจึงต้องตอบแทนเขา ลุงจะเลือกผลไม้ที่มีคุณภาพ ดูแลเรื่องราคาให้เหมาะสม และต้องมีจิตใจรักการบริการ ลุงเชื่อว่าขอเพียงมีสามอย่างนี้ เราจะยึดอาชีพนี้ได้ตลอดไปแม้บางคนอาจมองว่าอาชีพขายผลไม้เป็นอาชีพหาเช้ากินค่ำ แต่เชื่อเถิดว่า ทำดีได้ดี และความดีช่วยเราได้จริงๆ”

 

“พี่เผด็จ” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

คุณเผด็จ วันทอง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณป้อมหน้าของบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้รถยนต์ที่ผ่านเข้า – ออกในบริษัทตั้งแต่เวลาเจ็ดโมงเช้าถึงหนึ่งทุ่ม ทุกครั้งที่เราหันไปมอง “พี่ รปภ.” ผิวเข้ม เขาจะตะเบ๊ะให้เป็นการทักทาย หรือถ้าเดินเข้าไปหาพี่เผด็จจะมีคำพูดติดปากว่า “มีอะไรให้รับใช้ครับผม”

หน้าที่หลักของพี่เผด็จคือ การดูแลบริเวณหน้าอาคารอำนวยการและให้ความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาติดต่อโรงพิมพ์ แต่เมื่องานส่วนนี้เริ่มเบาบางลง เขาจะไปช่วยทำหน้าที่แลกบัตรที่บริเวณประตูใหญ่ เพราะตัวเองเป็นคนชอบงานบริการ

ไม่เพียงแต่ชาวอมรินทร์ฯเท่านั้นที่จะได้รับน้ำใจของพี่เผด็จ เนื่องจากถนนหน้าบริษัทค่อนข้างแคบ ในบางครั้งจึงมีเหตุการณ์รถติดในซอยเกิดขึ้น และด้วยนิสัย “เห็นก่อน ทำก่อน ไม่นิ่งดูดาย” พี่เผด็จจะอาสาไปช่วยโบกรถอยู่บ่อยๆ ทำให้เขากลายเป็นขวัญใจของคนแถวนี้ไปโดยปริยาย  “แม้ รปภ.จะเป็นอาชีพที่รายได้น้อย แต่ถ้าเราทำด้วยใจรักและตั้งใจ สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นตามมา อย่างทุกวันนี้ค่ารถไป – กลับอาจจะแพง แต่ค่ากินไม่ค่อยต้องเสีย เพราะมีคนซื้อหามาฝากบ่อยๆ และการที่หลายๆ คนแสดงออกว่า ‘ชอบสิ่งที่เราทำ’ เช่น ยิ้มให้พูดขอบใจ หรือแม้แต่ช่วงเทศกาลก็มีแก่ใจซื้อของเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจมาก”

 

“ลุงชาญชัย” ผู้ใหญ่บ้าน

ช่วงรุ่งอรุณที่ทุกคนยังคงนอนอุตุอยู่บนเตียงอย่างสุขสบายกลับมีคุณลุงท่านหนึ่งปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยแถบเส้นบางนา-ตราดราวกับเป็นสายลับซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ไร้เสียง  ไร้ร่องรอย  มีเพียงน้ำเต้าหู้ 1 ถุงถูกทิ้งไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น

ชาญชัย  เทพทอง คือคุณลุงคนที่เราหมายถึง ในอดีตเขาเคยทำงานวิศวกร  หัวหน้า  รองผู้จัดการโรงงานเงินเดือนสูง แต่สุดท้ายก็ลาออกมารับหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 15  ตำบลบางแก้วอำเภอบางพลี  จังหวัดสมุทรปราการ

เมื่อได้รับเลือกให้เป็นคนดูแลสุขและทุกข์ของคนในหมู่บ้าน ลุงชาญชัย ก็ริเริ่มโครงการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุขึ้น ด้วยหวังว่าเมื่อคนแก่มีสุขภาพที่ดีก็ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลานขาดงานเพื่อพาพ่อแม่ไปหาหมอ

ทุกวันหลังเสร็จสิ้นการออกกำลังกายลุงชาญชัยก็จะควักกระเป๋าซื้อโอวัลติน  กาแฟน้ำชา  มาเลี้ยงบรรดาผู้สูงอายุ  ทว่านาน ๆ เข้ากลับพบว่าสิ่งเหล่านี้ยิ่งเพิ่มน้ำตาลให้กับร่างกาย  ทั้งยังสิ้นเปลืองเงินอีกด้วย จนกระทั่งคุณลุงได้อ่านหนังสือของคุณหมอท่านหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องคุณค่าของนมถั่วเหลือง จึงตัดสินใจลองทำน้ำเต้าหู้แทน

หลังจากปลุกปล้ำลองผิดลองถูกด้วยตัวเองจนได้น้ำเต้าหู้แสนอร่อย ซึ่งเป็นสูตรพิเศษไม่ใส่น้ำตาล  ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา  ภาพที่ชาวบ้านเห็นจนชินตาคือชายสูงวัยร่างผอมปั่นจักรยานคันเก่งออกตระเวนแจกจ่ายน้ำเต้าหู้ “ฟรี” ไปตามบ้านเรือนในช่วงเช้ามืดมาตลอด 17 ปี บ้างหย่อนใส่กล่องไปรษณีย์  บ้างใส่ไว้ตามตะกร้าสานที่ชาวบ้านห้อยไว้ตามบ้านเรือนเพื่อรอรับน้ำเต้าหู้จากคุณลุงชาญชัยโดยเฉพาะ

จากที่แจกเฉพาะผู้สูงอายุก็เริ่มมีคนในหมู่บ้านต่างเรียกร้องขอชิมบ้าง  ทำให้น้ำเต้าหู้ของลุงชาญชัยกลายเป็นที่นิยมของลูกบ้านทุกคนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนปัจจุบันนี้ลุงชาญชัยต้องแจกน้ำเต้าหู้กว่า 100 ถุงเป็นประจำทุกวัน หากวันใดหยุดไป ก็จะได้ยินเสียงโทรศัพท์กริ๊งกร๊างมาไถ่ถามถึงน้ำเต้าหู้ทั้งวัน

ชีวิตของลุงชาญชัยหลังจากลาออกจากงานมาเป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างจริงจังไม่ได้ราบรื่นนัก  เพราะถูกดูถูกดูแคลนจากคนอื่น ๆ ว่าตกงานจนต้องไปขายน้ำเต้าหู้เต้าฮวย  บ้างก็ว่าลุงกำลังหาเสียงเพื่อเข้าไปเล่นการเมือง

“เวลาคนอื่นว่า  ลุงไม่ได้สนใจอะไรเพราะเขาไม่ทราบที่มาที่ไปเรา  สมัยก่อนผมได้เงินเดือนตั้งหลายหมื่น  พอมาเป็นผู้ใหญ่-บ้านเงินเดือนเหลือไม่กี่ร้อยบาท  แต่ใจมันอิ่ม  เพราะได้ทำเพื่อผู้คนในหมู่บ้าน

“ดึก ๆ ดื่น ๆ หมากัดกัน  ลูกบ้านก็โทร.มาให้ไปเคลียร์  คนตีกันก็เรียกผมให้ไปช่วยดู  งูเข้าบ้านก็ให้ผมไปช่วยเก็บ…เรียกได้ว่าทำทุกอย่าง  มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของชาวบ้านจริง ๆ”  ถึงแม้จะเหนื่อยกาย  เหนื่อยใจบ้าง  แต่วันนี้ลุงผู้ใหญ่ได้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคมาหมดแล้ว…

ทุกวันนี้ลุงชาญชัยเกษียณจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว  แต่ยังคงปั่นจักรยานแจกน้ำเต้าหู้แสนอร่อยและเป็นผู้นำออกกำลังกายอยู่ทุกวัน  รวมถึงยังทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  ทั้งยังเป็นประธานกองทุนหมู่บ้าน  นายกฌาปนกิจสงเคราะห์ กรรมการของสภาวัฒนธรรม  และอีกมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์

สังคมของเราประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพ ต่างคนก็ต่างมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน บางคนทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ บางคนทำเพื่อครอบครัว บางคนทำเพื่อประเทศชาติ แต่ไม่ว่าคุณจะทำเพื่อจุดมุ่งหมายใด ขอเพียงคุณทำงานอย่างเต็มที่มีความสุจริตเป็นที่ตั้ง และทำงานด้วยความเบิกบานใจ สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่เข้มแข็งและเต็มไปด้วยรอยยิ้มอย่างแน่นอน

 

ภาพ อนุพงศ์ เจริญมิตร / สรยุทธ  พุ่มภักดี

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.