การเจริญสติ

เรือนจำเคนยาใช้การเจริญสติ ช่วยลดความรุนแรงและเชื่อมสัมพันธ์ผู้คุมกับผู้ต้องขัง

เรือนจำเคนยาใช้ การเจริญสติ ช่วยลดความรุนแรงและเชื่อมสัมพันธ์ผู้คุมกับผู้ต้องขัง

การเจริญสติ กำลังแพร่หลายทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เรือนจำ ไนวาชาจีเค (Naivasha GK) ซึ่งเป็นเรือนจำความมั่นคงสูงที่ใหญ่ที่สุดของเคนยา ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงไนโรบี กำลังใช้โปรแกรมอบรมการเจริญสติ เพื่อจัดการกับความรุนแรง และดึงผู้คุมกับผู้ต้องขังให้มาใกล้ชิดกันมากขึ้น

ในเรือนจำแห่งนี้มีความตึงเครียดสูงมาก เนื่องจากแออัดไปด้วยผู้ต้องขังมากกว่า 2,000 คน ที่กำลังชดใช้โทษติดคุกตลอดชีวิตหรือรอวันประหารชีวิต ที่นี่รู้จักกันดีว่าเป็นสถานที่บ่มเพาะความรุนแรง อุปกรณ์เครื่องใช้ก็เก่าเก็บมีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม จำนวนผู้ต้องขังแออัดล้นเกิน 100% ดังนั้นสถานการณ์จึงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน

มีรายงานความขัดแย้งถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันมาตลอด ระหว่างพัศดี ผู้คุม และผู้ต้องขัง ซึ่งนำไปสู่ความกดดันและสิ้นหวัง ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะกำจัดความตึงเครียดและปรับปรุงบรรยากาศให้ดีขึ้น ซึ่งทางเรือนจำได้หาวิธีมาจัดการกับปัญหานี้ นั่นคือ การเจริญสติ

การเจริญสติ
ผู้คุมเผากระดาษที่เขียนบรรยายอารมณ์ด้านลบเอาไว้

ดอกเตอร์อินมาคูลาดา อะดาร์เวส-โยร์โน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ของอังกฤษ ได้แนะนำโปรแกรมเจริญสติให้แก่ฝ่ายบริหารของเรือนจำ เพื่อนำไปปรับปรุงวัฒนธรรมของเรือนจำให้ดีขึ้น โดยการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ต้องขังหันมาสนใจการเจริญสติ

ผู้คุมที่ผ่านการอบรมมาเป็นพิเศษจะเป็นผู้นำการอบรม และจะเป็นผู้กระตุ้นผู้ต้องขังกับผู้คุมด้วยกันให้มาร่วมแบ่งปันความหวาดกลัวและความอ่อนแอในจิตใจ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงถึงกัน

ผู้ต้องขังโทษจำคุกตลอดชีวิตคนหนึ่งบอกว่า ระหว่างตัวเขากับผู้คุมเปรียบเหมือนนรกกับสวรรค์ ไม่มีทางบรรจบกันได้ แม้แต่มองตากันก็ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ โปรแกรมเจริญสติช่วยให้เขาได้เรียนรู้การปล่อยวางความเจ็บปวด ความหวาดกลัว และอารมณ์ด้านลบต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ณ วันนี้เขามองผู้คุมเป็นเสมือนพี่น้อง ผู้ดูแล คุยกันได้ หัวเราะด้วยกันได้ และให้ความหวังในชีวิต เขาไม่ต้องเรียกผู้คุมว่าท่านอีกต่อไปแล้ว เพราะผู้คุมกลายสภาพมาเป็นคุณครูนั่นเอง

นอกจากนั้นยังช่วยสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้คุมได้เป็นอย่างดี ผู้คุมคนหนึ่งเปิดใจว่า การอบรมทำให้เขาได้เรียนรู้ที่จะใจเย็น หัดควบคุมอารมณ์ และได้เรียนรู้ว่าผู้ต้องขังก็เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ถึงแม้ว่าโครงการในช่วงเริ่มแรก (ริเริ่มโครงการเมื่อปี 2015) จะแสดงให้เห็นว่าการเจริญสติช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตในคุกให้ดีขึ้นได้ แต่ก็ใช้ไม่ได้ผลกับผู้ต้องขังจำนวนหนึ่ง หนึ่งในกลุ่มนี้บอกว่า รู้สึกขำและพิลึกมาก แค่มานั่งหายใจเข้าหายใจออกแล้วก็นั่งเงียบ ๆ 10 นาที ทำกันได้อย่างไร

การเจริญสติ
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คุมกับผู้ต้องขังที่เรือนจำไนวาชาจีเคดีขึ้นมาก

ผู้ต้องขังยังไม่ได้เข้าอบรมโปรแกรมนี้ครบทุกคน แต่สำหรับคนที่ได้เข้าร่วมคอร์สนั่งสมาธิจนจบครบถ้วนอย่างตั้งอกตั้งใจจะได้ผลออกมาดี จากผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 80-90 ของกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเองมีความเครียดลดลงและอารมณ์ฉุนเฉียวก็ลดลงด้วย เอาตัวไปข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งและความก้าวร้าวน้อยลง ให้อภัยมากขึ้น และดื่มเหล้าเสพยาน้อยลง

สิ่งเหล่านี้มีผลกับบรรยากาศโดยรวมในเรือนจำ จนผู้ช่วยพัศดีถึงกับออกปากว่า ที่เรือนจำมีการจราจลและการแหกคุกน้อยลง ผู้คุมและพัศดีสามารถเดินไปไหนมาไหนในเรือนจำได้โดยไม่ต้องพกอาวุธ ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยลงกว่าเดิม

ปัจจุบันโปรแกรมอบรมการเจริญสตินี้ถูกนำไปใช้ในเรือนจำอื่น ๆ ทั่วทวีปแอฟริกา โดยมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของบรรดาผู้ต้องขังแบบวันต่อวัน

ผู้ต้องขังคนหนึ่งจากเรือนจำไนวาชาจีเคกล่าวตบท้ายอย่างลุ่มลึกว่า “ผมอาจไม่มีวันได้ออกจากคุก แต่ตอนนี้ผมก็เป็นอิสระแล้ว”

 

ที่มา  Buddhistdoor

เรียบเรียง  ชนาฉัตร

ภาพ  theconversation.com, bbc.com

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

โรงเรียนในบัลติมอร์ใช้วิธีลง “โทษ” ด้วย “ ธรรม ”

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.