เตรียมรับมือความเครียด ความเศร้า ความเหงา ที่อาจเกิดขึ้นในวันหยุดยาว

หลายคนรอคอยวันหยุดยาว เพราะจะได้พักผ่อนกายและใจ แต่เชื่อไหมว่า ยังมีกลุ่มคนอีกหลายคนที่ไม่อยากให้ถึงวันหยุด ไม่อยากหยุดหลายวัน เพราะวันหยุดนั้นสร้างความเครียดให้พวกเขามากกว่าวันทำงานเสียอีก

ทำไมวันหยุดถึงสร้างความเครียดได้?…เราลองมาดูสาเหตุความเครียด ความเศร้า ความเหงาๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณเมื่อถึงวันหยุดยาว พร้อมวิธีรับมือเพื่อให้วันหยุดของคุณเป็นวันหยุดที่มีแต่ความสุข ถึงจะทุกข์บ้างแต่เราก็จะผ่านมันไปได้

 

วันหยุดอาจสร้างค่าใช้จ่ายเกินตัว

ถึงวันหยุดทีไร ก็ต้องไปใช้เงินทุกครั้ง อาจเป็นเพราะว่าวันหยุดมันว่างๆ อยู่บ้านก็เบื่อ พอออกไปข้างนอกก็เลยต้องเสียเงิน เพราะช่วงวันหยุดยาวหลายร้านหลายแบรนด์มักจัดงานลดราคาสินค้าเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เราซื้อของ ทั้งเป็นของขวัญให้คนอื่นและเป็นของขวัญให้ตัวเอง  ไหนจะต้องใช้เงินเพื่อไปปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนๆ ด้วย ทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิทสมัยมหาวิทยาลัย เพื่อนสนิทจากบริษัทเก่า ซึ่งตอนที่ไปเดินเล่นซื้อของ ตอนสั่งอาหารกินกันก็ยังรู้สึกสุขใจ เพราะความเครียดนั้นจะมาเมื่อถึงเวลาจ่ายเงินหรือเห็นยอดเงินคงเหลือ

 

วิธีรับมือ

ออมก่อน ใช้ทีหลัง

ก่อนถึงวันหยุดทุกครั้ง หักเงินออมไว้ก่อนเลย เพื่อให้ตัวเองได้วางแผนได้ว่า เหลือเงินเท่านี้จะนำไปใช้ส่วนไหนได้บ้าง และควรลิตส์สิ่งสำคัญที่ต้องทำในวันปีใหม่ เพื่อจะได้คำนวณได้ว่า เราควรเลือกใช้เงินกับอะไรดี แล้วตัดสิ่งไหนทิ้งได้บ้าง แบบนี้จะช่วยให้เราไม่ใช้เงินเกินตัว จนทำให้ไม่มีความสุขในช่วงวันหยุดยาวได้

 

ให้ของขวัญที่ไม่ต้องจ่ายเงิน

ใครที่กำลังเครียดกับการเลือกของขวัญให้เพื่อน ของถูกก็กลัวจะไม่ดี ของแพงก็ค่อยมีเงิน เราขอแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อของขวัญให้เพื่อนด้วยเงินเสมอไป เราอาจจะช่วยเหลือเพื่อนแทน เช่น ช่วยเพื่อนย้ายหอ ช่วยเพื่อนทำความสะอาดบ้าน อาสาดูแลลูกๆ ให้ ช่วยทำสวน สอนหนังสือหรือช่วยเพื่อนทำงานเล็กๆ น้อยๆ  เพราะการให้ช่วยเหลือด้วยใจมีค่ามากกว่าสิ่งของอีกนะ

 

 

วันหยุดที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว

หลายคนอาจรู้สึกแปลกว่า เมื่อถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เราก็อยู่คนเดียวได้ มีงานอดิเรกให้ทำ ไม่เบื่อไม่เหงา แต่ทำไมเมื่อถึงวันหยุดยาวแล้วถึงรู้สึกเหงาทุกครั้ง นั่นเพราะว่าวันหยุดยาวมักทำให้เรานึกถึงงานเฉลิมฉลอง การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่เราต้องอยู่คนเดียว เพราะต้องทำงาน กลับบ้านไม่ได้  วันหยุดยาวจึงทำให้เราเกิดความเครียดและความเหงาขึ้นได้

วิธีรับมือ

อนุญาตให้ติดมือถือในช่วงหยุดยาว

แม้ห่างกายแต่ต้องไม่ห่างใจ สมัยนี้มีเทคโนโลยีล้ำๆ มากมายให้เราได้ติดต่อกับผู้คนได้ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะแชทผ่านตัวหนังสือ โทรศัพท์ วิดีโอคอลที่ทำให้เราได้ยินทั้งเสียงและเห็นหน้าอีกฝ่ายได้ เหงาเมื่อไหร่ก็หยิบมือถือขึ้นมาได้เลย

ไปเดินเล่นคนเดียวอย่างมีภารกิจ

ไปเดินเล่นคนเดียวอาจจะรู้สึกเหงา มองเห็นคนอื่นมากับเพื่อน มากับครอบครัวก็รู้สึกเหงาไปอีก แต่ถ้าเรามีภารกิจในการไปเดินเล่น เราจะไม่เหงาแน่นอน เช่น ภารกิจตามหาของขวัญให้คนที่คุณรัก ภารกิจเดินหาของที่เราอยากได้  ถ้าเราได้ใจจดจ่อกับการหาของเลือกของแล้ว แม้จะอยู่คนเดียวก็ไม่เหงาแน่นอน พอรู้ตัวอีกทีก็จะหมดวันเลยล่ะ

ไปทำงานอาสาสมัคร

งานอาสาสมัครช่วยให้เราได้พบเพื่อนใหม่ มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำโดยที่เราไม่ต้องอยู่ตัวเดียว แถมยังเพิ่มความรู้สึกอิ่มอกใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นด้วย

นั่งลิสต์ว่าปีหน้าอยากทำอะไร

ไหนๆ ก็ว่างแล้ว ลองลิสต์ดูว่า ปีหน้าเราอยากทำอะไรใหม่ๆ ให้ตัวเองบ้าง แล้วดูว่ามีข้อไหนที่เราสามารถเริ่มได้วันนี้เลยได้ไหม ถ้าได้ก็ลงมือทำเลย เช่น อ่านหนังสือ หางานใหม่ พัฒนาทักษะด้านอื่นๆ  มีอะไรให้ทำแบบนี้รับรองไม่มีเหงา

 

 

ความเครียดที่เกิดจาก ‘ครอบครัว’

 

หลายครอบครัวที่ไม่ค่อยได้เจอหน้ากันบ่อยๆ เพราะต้องทำงานแยกห่างกัน เมื่อต้องมาเจอหน้ากันในวันหยุดยาว ใช้ชีวิตร่วมกันหลายๆ วัน ก็อาจมีเรื่องทะเลาะกัน มีเรื่องไม่เข้าใจกันทำให้มีปากเสียงกันได้  ความเครียดก็เลยเกิดขึ้นจนทำให้ทุกคนในครอบครัวไม่มีความสุข

 

วิธีรับมือ

ปัญหาที่มาจาก ‘คำถาม’

เจอหน้าญาติผู้ใหญ่เมื่อไหร่ ทำไมต้องโดนถามว่า งานเป็นอย่างไร มีแฟนหรือยัง เงินเดือนเท่าไหร่ ทำไมไม่หางานใหม่เสียที ทำไมถึงลาออก ฯลฯ คำถามเหล่านี้มักทำให้เราหงุดหงิด รำคาญใจ ไม่อยากตอบ เมื่อารมณ์ไม่ดีแล้วต้องตอบคำถามก็อาจจะมีคำพูดที่ไม่เข้าหูออกมาได้ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้อยากจะสร้างความเครียดความขัดแย้งในช่วงวันหยุดยาว

แต่หากเราลองมองมุมกลับ ลองคิดว่า คำถามเหล่านั้น เป็นคำถามที่เกิดจากความเป็นห่วงในตัวเรา แล้วตั้งสติ ใจเย็นๆ แล้วตอบกลับไปแบบกลางๆ เช่น งานก็ดีค่ะ, ยังไม่สนใจเรื่องแฟนเลยค่ะ งานเยอะ , กำลังหางานใหม่อยู่ค่ะ ยังไม่ได้ที่ลงตัวเลย ฯ  ถ้าเขาพูดแนะนำอะไรกลับมา ก็ขอแค่ให้เราพยักหน้ารับก็พอแม้จะรู้สึกไม่พอใจก็ไม่ต้องเถียงออกไป

แต่ถ้าไม่อยากตอบจริงๆ ก็อาจเลี่ยงไปว่า ขอตัวไปเข้าห้องน้ำก่อนนะคะ ไม่ไหวแล้วจริงๆ หรือขอตัวไปทำธุระที่เพิ่งนึกขึ้นได้   หรืออีกวิธีคือ ทำให้ตัวเองยุ่งเข้าไว้ เช่น ไปช่วยล้างจาน ไปเก็บของ ไปใช้แรงกายเยอะๆ จะได้ไม่ต้องคุยกันเยอะ  ที่สำคัญคือ มีสติและใจเย็นไว้

 

ไปเจอครอบครัวใหม่

หากพ่อแม่หย้าร้างกัน เราจำเป็นต้องไปพบครอบครัวใหม่ของอีกฝ่าย หรือต้องไปพบครอบครัวของคนรัก  บางคนอาจจะเกร็งจนทำให้เกิดความเครียด เพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่ชอบเรา  คำแนะนำก็คือ ไม่ว่าจะเจอใครเราก็ควรจะสุภาพไว้ก่อนเสมอ และต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่ฝืนใจ ทั้งคำพูดและท่าทางต่างๆ อาจแอบถามคนสนิทว่าอีกฝ่ายมีอะไรที่ชอบเป็นพิเศษ แล้วนำสิ่งนั้นติดไม้ติดมือไปด้วย  นอกจากนี้การเป็นคนมีอารมณ์ขันและรู้จักติดตามข่าวสารเรื่องน่าสนใจอยู่เสมอ จะช่วยให้เราเป็นคนที่คุยสนุกมากยิ่งขึ้นด้วย

 

 

รู้สึกเศร้ากับตัวเองในอดีต

วันหยุดยาวช่วงสิ้นปี มักทำให้เราเกิดความรู้สึกเศร้ากับตัวเองได้  ด้วยความคิดที่ว่า ผ่านมาหนึ่งปีแล้วแต่รู้สึกตัวเองไม่ได้พัฒนา รู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอ  ซึ่งความรู้สึกแย่ๆ เหล่านี้อาจเกิดจากการประเมินงานช่วงปลายปีที่ได้รับคำตำหนิจนเก็บมาคิดมากและกลายเป็นความทุกข์ในที่สุด

 

วิธีรับมือ

จริงอยู่ที่เราไม่ควรเก็บคำพูดทุกคำมาทำให้เราเสียใจ แต่คำพูดบางคำอาจนำมาใช้เป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจำเป็นคำติ คำตำหนิ คำแนะนำต่างๆ ส่วนคำพูดที่บั่นทอนกำลังใจ ทิ้งมันไป แล้วให้เราลิสต์เรื่องที่เรารู้สึกว่าทำได้ดีตลอดปีที่ผ่านมา หรือเรื่องอะไรก็ตามที่ทำให้เราภูมิใจในตัวเอง  ถ้าคิดไม่ออกลองถามคนข้างๆ ดู รับรองว่าจะได้กำลังใจ สร้างพลังบวกให้ตัวเองได้ แล้วตั้งปณิธานไว้ว่า ปีหน้าเราจะทำเรื่องที่น่าภูมิใจให้ตัวเองอีกครั้ง จะทำให้ดีกว่าเดิม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย นี่แหละกำลังใจง่ายๆ ที่สร้างได้ด้วยตัวเอง

 

ไม่ว่าจะพบกับความเครียดแบบไหน รับมือให้ได้ แล้วคิดไว้เสมอว่า มันจะผ่านไป ปีใหม่อะไรใหม่ๆ กำลังรอเราอยู่!

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.