ปัญหา

ปัญหามีทั้งแก้ไขได้และแก้ไม่ได้ ธรรมะโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ปัญหา มีทั้งแก้ไขได้และแก้ไม่ได้ ธรรมะโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวถึงการรับมือกับ ปัญหา ชีวิตไว้ดังนี้

เราถือว่าปัญหามีอยู่ 2 ชนิดอย่างนี้ คือปัญหาที่แก้ไขได้ กับปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ที่แก้ไขได้ก็แก้ไขให้ดีที่สุด ที่แก้ไขไม่ได้ก็ทำให้มันดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ไม่ใช่เป็นการแก้ไข ก็ยังมีหน้าที่อยู่นั่นเอง เราจะไม่ปล่อยให้คนไข้ที่ต้องตายแน่ ตายไปอย่างไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับเราจะไม่ปล่อยให้ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้นี้ไปตามบุญตามกรรม ตามอะไรของมันเกินไป ต้องทำให้มันดีที่สุด คือให้มันมีเรื่องร้ายน้อยที่สุดนั่นแหละ อย่าให้การแก้ไขไม่ได้นั้น มาทำอันตรายเรามากนัก แม้นี้ก็เป็นกฎธรรมชาติ ที่ว่าบางอย่างแก้ไขได้ บางอย่างแก้ไขไม่ได้ แต่เราก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอยู่นั่นเอง เพราะสิ่งทั้งปวงขึ้นอยู่กับความลับข้อนี้

ถ้าถือเอาตามหลักของพุทธศาสนา สิ่งทั้งปวงนี้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของเหตุปัจจัย เป็นไปตามกฎของกรรม นี่อย่างน้อยจะต้องรู้ไว้ใน 3 อย่างนี้ ว่าสิ่งทั้งปวงต้องไปตามธรรมชาติ ไปตามเหตุปัจจัยซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นไปตามกรรม ซึ่งก็เป็นกฎของธรรมชาติ แล้วเราไปดื้อไปดันทุรังจะฝืนกฎเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ผู้ที่จะแก้ปัญหาก็ได้ เพราะจะเป็นผู้ที่สร้างปัญหาให้มากขึ้น สร้างความยุ่งยากลำบากให้มากขึ้น

ถ้าจะเป็นผู้ที่แก้ปัญหา ก็ต้องทำให้มันเข้ารูปเข้ารอยกันกับสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา คือกฎของธรรมชาติ เช่น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้ เป็นปัญหาแก่มนุษย์ มาจากธรรมชาติก็ต้องแก้ไขให้เข้ารูปเข้ารอยกับธรรมชาติกับกฎของธรรมชาติ หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัยแล้วมันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันและกัน ไม่มีอะไรเป็นอิสระ มันเป็นเหตุให้เกิดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วสิ่งนั้นก็กลายเป็นเหตุสำหรับให้เกิดสิ่งอื่นต่อไป ไม่มีส่วนไหนเป็นอิสระในตัวเองได้ มีแต่ว่าต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เหมือนที่เราสวดอยู่ทุกวันว่า ยถาปจฺจยํ ปวตฺตมานํ –เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ

เมื่อเล็งถึงผลที่เกี่ยวกับมนุษย์นี้ นี่เราจึงเรียกขึ้นมาว่าเป็นกรรม เป็นเรื่องกรรม เป็นเรื่องกฎแห่งกรรม มนุษย์มีความรู้สึก ต้องการผลที่ปรารถนา เรียกส่วนที่ได้ตามปรารถนาว่ากรรมดี ที่ไม่ต้องการก็ว่ากรรมชั่ว นี้ก็เป็นเรื่องบัญญัติทีหลัง เรื่องกรรมนี้ก็คือกฎของ ธรรมชาติ อันหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการกระทำหรือการเคลื่อนไหวแล้ว ก็ย่อมจะมีปฏิกิริยาจากการกระทำหรือการเคลื่อนไหวนั้น ซึ่งเราเรียกว่าผลกรรม ถ้าเกี่ยวกับมนุษย์ ฉะนั้นความเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎแห่งเหตุปัจจัย เป็นไปตามกฎของกรรม จะต้องศึกษาข้อนี้ให้มาก จึงจะตัดสินปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตนี้ได้ เพราะปัญหาทั้งหลายมันขึ้นอยู่กับกฎของธรรมชาติ กฎของเหตุปัจจัย กฎของกรรมอย่างที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้

 

ที่มา :

คำบรรยายอบรมภิกษุนิสิตมหาวิทยาลัยมหิดล

ชุด “เตกิจฉกธรรม” ครั้งที่ 10

8 เมษายน 2514

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

สร้างสุขในชีวิตโดยการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ด้วยธรรมะ คำสอนของ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.