ข้อควรประพฤติ

5 ข้อควรประพฤติ ในยามแก่เฒ่าชรา เพื่อความผาสุกใจ ข้อเขียนสมเด็จพระสังฆราช

5 ข้อควรประพฤติ ในยามแก่เฒ่าชรา เพื่อความผาสุกใจ

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึง ข้อควรประพฤติ ในยามแก่เฆ่าชรา ไว้ ดังนี้

1. กินอาหารตรงตามเวลา เคี้ยวอาหารให้ละเอียดได้อย่างน้อย 20 ครั้ง ก่อนจึงกลืน เว้นของเหนียว รับประทานผักผลไม้ให้มากถ่ายอุจจาระอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

2. นั่งนอนมากแล้ว ควรหาเวลาเดิน ยืน เช่นเที่ยวดูสัตว์เลี้ยงหรือต้นไม้ ให้ได้วันละอย่างน้อย 15-30 นาที ทุกวัน

3. ก่อนนอน ควรอาบน้ำ ชำระกายให้สะอาด สวดมนต์ไหว้พระตามเคย ขึ้นนอนแล้วหยิบหนังสือนวโกวาทบนหัวนอนมาพลิกอ่านจากท้ายเล่ม เข้าหาต้นเล่ม เรียกว่าอ่านมนต์ เมื่อง่วงก็ไม่ต้องฝืนปิดหนังสือเก็บดับไฟนอน ก่อนหลับจงนึกว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาสอนเราถึงที่นอน จบเล่มแล้วย้อนขึ้นต้นใหม่ให้เป็นประจำ คลุมผ้าห่มจากปลายเท้าถึงอกหรือศีรษะ ขยายเครื่องนุ่งห่มให้หลวมสบาย

4. ถ้ารู้สึกว่านอนไม่หลับ อย่าไปสนใจกับเรื่องไม่หลับ นึกอยู่แต่เพียงว่าถึงเวลานอนแล้วจะหลับหรือไม่หลับ ก็สุดแต่ร่างกายปล่อยใจตามสบาย ถ้ายังไม่หลับให้นอนสวดมนต์ออกเสียงพอตนได้ยินถนัด จะใช้สวดมนต์บทใดบทหนึ่ง หรือคาถาชินบัญชรก็ได้ จบแล้วขึ้นต้นใหม่ จนกว่าจะหลับ หากชอบฟังเพลงไทยเดิม หรือเพลงสากล จะเปิดเครื่องฟังเบาๆ เป็นเชิงกล่อมก็ได้ ถ้ายังไม่หลับ ดื่มน้ำหวานหรือนมอุ่นๆ สัก 4-5 อึก หรือน้ำเปล่าสักครึ่งแก้ว ยังไม่หลับอีก ออกเดินภายในห้องนอน จนรู้สึกเหนื่อยแล้วเข้านอน

5. หลังจากรับทานอาหาร หรือนั่งอยู่นานจนรู้สึกเมื่อย ควรเอนหลังนอนราบ เป็นการพักอวัยวะสัก 15 นาที เป็นอย่างน้อยห้องนอนอย่าปิดอบอ้าว ควรเปิดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกนอนตะแคงเบื้องขวาลง จะหายใจสะดวกกว่าตะแคงซ้าย

ก่อนจบขอเตือนท่านผู้สูงอายุให้ทราบเหตุการณ์ของชีวิตอีกอย่างหนึ่งไว้ประดับความรู้ คือชีวิตของคนแก่มีทรัพย์สินเงินทองมาก ยิ่งมีอายุยืนยาวมากขึ้นเท่าไร ก็มักจะถูกลูกหลานสาปแช่งให้ตายเสียเร็วๆ เขาจะได้รับมรดกใช้สอยทันใจ ถ้าอายุยืนยาวนานไป การรับมรดกของเขาก็พลอยล่าช้าไปด้วย

หรือหากท่านผู้สูงอายุยากจนไม่มีทรัพย์สมบัติ ก็ยิ่งจะถูกสาปแช่งให้รีบตายไปเสียโดยเร็วอีก ลูกหลานจะได้หมดห่วง หมดภาระเลี้ยงดู ขืนมีอายุยืนนานเพียงใด ก็ต้องถูกสาปแช่ง เพราะต้องเป็นภาระเลี้ยงดูของลูกหลานเพียงนั้น

ทั้งสองลักษณะนี้ ยกเว้นลูกหลานผู้มีน้ำใจเปี่ยมไปด้วยกตัญญูกตเวที

ขอท่านผู้สูงอายุทั้งหลาย จงเจริญด้วยอายุที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเพื่อให้ลูกหลานแสดงความเคารพจดจำเป็นแผนดำเนินชีวิตเขาสืบไป สวัสดี


บทความนี้ตัดตอนมาจาก “ชีวิตผู้เฒ่า” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บทความน่าสนใจ

20 เคล็ดลับที่ คนแก่ ขอแชร์ให้คนอายุน้อยทำตาม

เตรียมตัว เตรียมใจอย่างไร เมื่อถึงวันที่ พ่อแม่ป่วย

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.