บรรณบำบัด อ่านให้หนังสือช่วยคลายใจ
เชื่อว่าช่วงงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมา หลายคนคงได้ไปเดินดูและเลือกหาหนังสือที่สนใจติดไม้ติดมือกลับบ้านกัน แม้ว่าหนังสือของครั้งก่อนที่ซื้อไว้ (และยังไม่ได้เปิดอ่าน) อาจกองไว้อยู่อีกสุดมุมห้อง สำหรับคนที่ชอบอ่านอาจไม่แปลกใจกับพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะหนังสือเป็นที่รวมของความรู้และความเพลิดเพลินที่สามารถหยิบมาอ่านได้ทุกเมื่อ
พลังของหนังสือปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยอริสโตเติลเชื่อว่าหนังสือกับศิลปะอย่างอื่นสามารถจะเร้าอารมณ์ให้เกิดผลในทางที่ดีแก่ตัวบุคคล หลักฐานจากห้องสมุด Thebes มีคำจารึกว่า “หนังสือคือโอสถสำหรับจิตวิญญาณ” ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำหนังสือมาใช้บำบัดอย่างจริงจัง
เริ่มแรกการบำบัดด้วยหนังสือ (Bibliotherapy) ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยทางโรคประสาท โดยหนังสือเป็นเครื่องมือประกอบการบำบัดรักษาทางการแพทย์และทางจิตเวช เนื้อหาของหนังสือมักมีสาระที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้วิชาการใหม่ๆ ช่วยให้คนไข้มองเห็นปัญหาของตนเองได้ทำความเข้าใจปัญหา และเกิดความกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา ซึ่งใช้วิธีการให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวผ่านการอ่านหนังสือ ต่อมานิยมกันในสถาบันอื่นๆ ทั้งในโรงเรียน ศูนย์ให้คำปรึกษา สถานกักกัน กลุ่มผู้ติดยา สถานพินิจเด็กและเยาวชน เป็นต้น
หนังสือเล่มแรกที่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดรักษาผู้ป่วย คือ คัมภีร์อัลกุรอาน ในปี ค.ศ.1272 ที่โรงพยาบาลอัลมันเซอร์ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาทางการแพทย์ จากความเชื่อทางศาสนานับเป็นแรงจูงใจในการใช้หนังสือในโรงพยาบาลประสาทและในคุกจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 การบำบัดด้วยหนังสือจึงได้รับการยอมรับจากสมาคมรักษ์ห้องสมุดอเมริกัน และได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ด้วยการจัดตั้งห้องสมุดประจำโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลแมสสาซูเสทส์, โรงพยาบาลแม็คลีน ฯลฯ
เมื่อการบำบัดด้วยหนังสือเริ่มแพร่หลายในอเมริกาก็มีการริเริ่มนำเอาหนังสือประเภทต่างๆ มาใช้มากขึ้นทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย งานเขียนแนวจริยธรรม ศีลธรรม รวมถึงการใช้กวีนิพนธ์ในการนำมาใช้บำบัดกันอย่างจริงจัง จนกระทั่งมีการก่อตั้งสถาบันกวีบำบัด (Poetry Therapy Institute) ขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ในประเทศไทยก็มีการนำหนังสือมาใช้ในการบำบัดด้วยเหมือนกัน โดยมีงานศึกษาเด็กป่วยในโรงพยาบาล, ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก, เยาวชนในสถานแรกรับเด็กชายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ฯลฯ
ผลจากการอ่านทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาที่เผชิญอยู่ จนถึงขั้นเกิดพัฒนาการในด้านใดด้านหนึ่งของตัวผู้อ่านได้ด้วยเหมือนกัน
ตัวอย่างรายชื่อหนังสือที่ใช้เพื่อการบำบัดในประเทศไทย จากเว็บไซต์ของสำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เช่น
ติโต (Tito) โดย Phyllis Auty
อุดมคติ แก้ปัญหาได้ทุกชนิด โดย พุทธทาสภิกขุ
แง่คิดชีวิตงาม โดย สมศรี สุกุมลนันทน์
ชีวิตงาม ชุด เมื่อชีวิตถึงคราวต้องก้าวข้าม (หนังสือธรรมะ)
สุขได้ถ้าคิดเป็น โดย ดร.ชัยเสฎฐ์ พรหมศรี
ความสุขที่คุณสัมผัสได้ โดย พระอาจารย์วิเชียร วชิรปัญโญ
ชีวิตงามด้วยความดี โดย ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี, ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก, ศาสตราจารย์ระพี สาคริก, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต
หนังสือชีวิตงามด้วยความดีจากบุคคลคุณธรรมต้นแบบทั้ง 6 ท่าน สามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต และเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมในสถานศึกษาหรือชุมชนต่อไปได้อีกด้วย
อ้างอิง
อัมพร พินิจวัฒนา.ผลของการใช้หนังสือบำบัดต่อความวิตกกังวลของเด็กป่วยในโรงพยาบาล : การศึกษาเฉพาะกรณีคนไข้โรคไต.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528.
ไพพรรณ อินทนิล.การส่งเสริมการอ่าน.ชลบุรี : ภาควิชาบรรณรักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูพา, 2546.
บทความที่น่าสนใจ
เพลงเพื่อการผ่อนคลาย ก่อนเข้านอน Buddha Peace Soul Massage