มีใจเที่ยงธรรม

มีใจเที่ยงธรรม คุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารที่ดี

มีใจเที่ยงธรรม คุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารที่ดี

พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) พูดถึงคุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารที่ดีไว้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือการ มีใจเที่ยงธรรม เพื่อให้เป็นผู้บริหารงานที่เก่งด้วยแล้วยังแถมเป็นคนดีอีกต่างหาก

คำว่า “เที่ยงธรรม” คือตรงแท้ ตรงแน่นอน เป็นคุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งของนักบริหาร ผู้เป็นนักบริหารต้องปฏิบัติตนเป็นคนเที่ยงธรรมในการปกครองคน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ต้องวางตนให้เป็นผู้ยุติธรรม” เพราะคุณธรรมข้อนี้เป็นเครื่องหักห้ามใจไม่ให้เกิดอคติ คือความลำเอียงหรือเอนเอียงเข้าข้างผู้ใด ด้วยอำนาจของความรักหรือความชัง เป็นต้น

หลักของการมีใจเที่ยงธรรม ก็คือการหลีกเลี่ยงอคติ 4 และยึดมั่นพรหมวิหารธรรม 4

อคติ หรือ ความลำเอียง ได้แก่ ไม่วางตัวเป็นกลางเพราะใจถูกอำนาจรัก อำนาจชัง ชักนำให้ต้องเอนเอียงไปตามอำนาจนั้นๆ มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ

1.ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบพอรักใคร่

2.โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน

3.โมหาคติ ลำเอียงเพราะความโง่เขลา

4.ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว

อคติทั้ง 4 คือ รัก ชัง โง่เขลา และกลัว นี้เป็นโทษที่ทำให้เกิดความลำเอียง และขาดความยุติธรรมอันเป็นเหตุให้ประพฤติผิดจากความเที่ยงธรรมสืบต่อไปอีก

การเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ปกครองนั้นต้องตั้งมั่นอยู่ในพรหมวิหารธรรม 4 ประการคือ

1.เมตตา มีความรัก ปรารถนาให้ผู้ใต้ปกครองเป็นสุข

2.กรุณา มีความสงสาร คิดจะช่วยผู้ใต้ปกครองให้พ้นทุกข์

3.มุทิตา มีความพลอยยินดี เมื่อผู้ใต้ปกครองได้ดี

4.อุเบกขา มีความวางเฉย ไม่ดีใจและไม่เสียใจ ในเมื่อผู้ใต้ปกครองถึงความวิบัติ เพราะได้รับผลของกรรมที่เขาก่อขึ้นเอง

การปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพรหมวิหารทั้ง 4 ข้อนี้ ท่านสอนเอาไว้ว่า ต้องยึดข้อสุดท้ายคืออุเบกขาเป็นหลัก มิฉะนั้นจะปฏิบัติผิดจากคุณธรรมเรื่องนี้ ดังมีตัวอย่างประกอบในเรื่องปฏิบัติตามพรหมวิหารที่ถูกต้องว่า

“เมื่อเห็นคนเดินตรงไปที่บ่อลึก แล้วไม่ต้องการให้เข้าต้องตกไปในบ่อน้ำ เช่นนี้เรียกว่า มีความเมตตาเพราะรัก ต้องการให้เขาเป็นสุข ครั้นเมื่อเขาตกลงไปในบ่อน้ำแล้ว รีบช่วยเหลือให้ขึ้นจากบ่อได้ อย่างนี้เรียกว่ามีความกรุณา เพราะสงสารจึงช่วยเขาให้พ้นทุกข์ และเมื่อช่วยจนเขาพ้นอันตรายแล้ว มีความยินดีกับเขาที่เขาปลอดภัย ดังนี้เรียกว่ามีมุทิตา โดยเกิดความรู้สึกพลอยยินดีที่ช่วยเขาได้

แต่ว่าเห็นคนเดินตรงรี่ไปที่บ่อน้ำ ก็มีความเมตตาเพราะเกรงว่าเขาจะต้องตกลงในบ่อ และเมื่อเห็นเขาตกบ่อน้ำแล้วก็มีความกรุณาต้องการช่วย แต่ตนเองว่ายน้ำไม่เป็น หากโดดลงไปในบ่อน้ำเพื่อมุ่งช่วยเขาเป็นที่ตั้ง ตัวเองก็จะต้องจมน้ำตาย จึงต้องวางใจเฉย แม้สงสารเขาอย่างมากก็ตาม แต่ต้องสงสารตัวเองก่อน โดยยึดหลักอุเบกขาเป็นหลัก”

อย่างนี้จึงชื่อว่า ปฏิบัติตามพรหมวิหารธรรมถูกต้อง ไม่ใช่ว่าต้องเมตตาเกินพอดี หรือกรุณาโดยไร้เหตุผล ดังที่มีผู้ไม่เข้าใจในเรื่องเช่นนี้ แล้วต้องเสียหาไปมากรายเพราะปฏิบัติในพรหมวิหารอย่างไม่ถูกต้อง หรือที่พูดกันว่า “เอ็นดูเขา จนเอ็นเราขาด” คือ ช่วยเขาจนตัวเองต้องเดือดร้อนภายหลัง

การมีหน้าที่ต้องเป็นผู้บังคับบัญชา จำเป็นต้องให้คุณและให้โทษต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง จึงต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณควบคู่กัน จะใช้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้นไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้การปกครองเป็นไปโดยชอบ มีความเที่ยงธรรมเป็นหลัก

พระเดชนั้นเปรียบด้วยอำนาจ ส่วนพระคุณเสมือนธรรม ผู้ปกครองคนที่ยึดถือความยุติธรรม จึงต้องใช้ทั้งอำนาจและทั้งธรรม เพื่อเป็นหลักแหล่งความเที่ยงตรงสมดังที่พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในดุสิตสมิท เล่ม 18 ฉบับที่ 208 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า: อำนาจกับธรรมะย่อมเป็นของคู่กัน ผู้ที่ถืออำนาจอยู่ในมือ ถ้าแม้ไม่มีธรรมะกำกับใจอยู่แล้ว อำนาจนั้นเองจะเป็นเครื่องประหารความสุขของมนุษย์อย่างเหี้ยมโหดและน่ากลัวที่สุด

แต่ธรรมะใดๆ ก็ดี ถ้าไม่มีอำนาจไว้ปกปิดรักษาแล้วอะไรเล่าจะเป็นเครื่องมือสำหรับกำจัดอธรรมออกไป ให้เหลือแต่ธรรมะอันบริสุทธิ์

ด้วยเหตุนี้เอง อำนาจกับธรรมะจึงเป็นของคู่กันจะแยกออกจากกันเสียทีเดียวมิได้ ดังนี้

ความเป็นผู้ประพฤติเที่ยงธรรม หรือความเป็นผู้ยึดความยุติธรรมเป็นหลักในการปกครองคน จึงนับว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ผู้มีหน้าที่ในการบริหารงานพึงปฏิบัติ

 

ข้อมูลจาก

หน้าที่นักบริหารคุณสมบัติพิเศษของนักบริหาร โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)

 

บทความที่น่าสนใจ

3 ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ใช้ธรรมนำชีวิต

เบื้องหลังความสำเร็จของ ระเฑียร ศรีมงคล ผู้บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.