เตรียมตัว เตรียมใจอย่างไร เมื่อถึงวันที่ พ่อแม่ป่วย
ใครๆ ก็รู้ดีว่า ชีวิตคนมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น และรู้ดีว่า เป็นธรรมชาติ ธรรมดาของชีวิตที่ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป แต่น่าแปลกที่เรามักจะทึกทักเอาเองว่า สัจธรรมชีวิตข้อนี้ เป็นเรื่องยกเว้นสำหรับคนที่เรารัก โดยเฉพาะพ่อแม่ จริงหรือไม่ว่า เรามักคิดเอาเองเสมอว่า กว่าสังขารของท่านจะเริ่มโรยราคงอีกยาวไกล คิดว่าอย่างไรท่านก็ยังเป็นยอดมนุษย์ในสายตาเราไปตลอด และไม่เคยนึกเลยว่า ถ้าเกิดวันหนึ่งไม่มีพ่อแม่อยู่กับเราขึ้นมาจริงๆ แล้ว จะทำอย่างไร มารู้ตัวอีกทีก็เมื่อตอนที่ พ่อแม่ป่วย ต้องหามท่านส่งโรงพยาบาลแล้ว
อันที่จริงความเจ็บป่วยของพ่อแม่ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลยสักนิด กลับกันมันเป็นสัญญาณปลุกให้เราตื่นขึ้นมาเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง ให้เรายอมรับสัจธรรมของชีวิตให้ได้ และปลุกให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นเสาหลักให้กับครอบครัวอย่างจริงจังเสียที
หากตอนนี้คุณกำลังอยู่ในวัยที่พ่อแม่เริ่มเจ็บป่วย เรามีเทคนิคดีๆ มาฝาก เพื่อให้คุณเตรียมพร้อมรับมือกับความจริงของชีวิต
ขั้นแรก จัดการเรื่องเงิน
ก่อนอื่นคุณควรจะจัดแยกบัญชีการเงินแต่ละประเภทไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยแยกบัญชีสำหรับเก็บออม บัญชีสำหรับใช้จ่ายส่วนตัว และบัญชีสำรองฉุกเฉินออกจากกัน พูดง่ายๆ ว่า เงินที่คุณจะใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลให้กับพ่อแม่ จะต้องไม่เอาไปปนกับเงินส่วนตัวและเงินเก็บออมของคุณ คุณต้องพยายามแบ่งเงินเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินที่จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
นอกจากนี้ คุณจะต้องเปิดใจคุยกับพ่อแม่เรื่องเงินๆ ทองๆ ของครอบครัว แล้วลิสต์ออกมาให้หมดว่า ตอนนี้พ่อแม่คุณติดหนี้อะไรอยู่บ้าง ถ้าคุณมีพี่น้อง ก็ตกลงกันให้ดีตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนไหน เป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเคลียร์ปัญหาหนี้ให้จบไปและป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งกันในภายหลัง
ขั้นสอง จัดการเรื่องเวลา
คุณคิดอย่างไร เมื่อมีใครสักคนพูดว่า “ถ้าย้อนเวลาได้ฉันจะดูแลพ่อแม่ให้ดีกว่านี้” คุณคงไม่อยากเอ่ยคำพูดทำนองนี้ออกมาด้วยตัวเองใช่ไหม จริงอยู่ว่า ในวัยที่เรากำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เวลาที่เราแบ่งให้กับครอบครัวนั้นย่อมลดน้อยลง แต่คุณต้องรู้จักบริหารจัดการเวลาให้เป็น อาจไม่ต้องถึงกับแบ่งเวลาให้งาน 50 เปอร์เซ็นต์ ให้ครอบครัว 50 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ต้องถึงกับลาออกจากงานมาดูแลท่าน ขอเพียงแค่คุณแบ่งเวลามาใส่ใจท่านให้มากกว่าเดิม อย่างน้อยก็คอยสังเกตว่า พ่อแม่มีอาการผิดปกติตรงไหน แล้วรีบพาไปรักษา ข้อสำคัญคุณต้องไม่ลืมว่า ธรรมชาติของพ่อแม่มักเป็นห่วงความรู้สึกของลูก จึงมักพูดว่า ท่านแข็งแรงดี เพื่อให้คุณสบายใจ ทั้งที่จริงท่านอาจกำลังเจ็บป่วยมากก็ได้
ในกรณีที่คุณมีพี่น้อง คุณต้องตกลงแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันให้ชัดเจน และคอยผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลพ่อแม่ อย่าปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งรับหน้าที่เป็นตัวหลักดูแลท่านอยู่คนเดียว เพราะทุกคนย่อมมีขีดจำกัดทั้งในเรื่องเวลา และกำลังเรี่ยวแรง
ขั้นสาม จัดการเรื่องใจ
คุณคงรู้สึกปวดใจไม่น้อย เมื่อเห็นพ่อแม่ที่เคยสุขภาพแข็งแรง กลับทรุดหนักลง จนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สิ่งที่คุณควรทำในเวลานี้ คือยอมรับความจริงให้ได้ว่า ทุกชีวิตล้วนมีเจ็บ มีตายกันทั้งนั้น การที่พ่อแม่ป่วยครั้งนี้ ท่านอาจมีโอกาสที่จะหายเป็นปกติ หรือทรุดหนักลงจนหมดลมหายใจเลยก็เป็นไปได้ ดังนั้นคุณควรเผื่อใจเอาไว้บ้าง มองทุกอย่างให้เป็นกลางๆ อย่าเอาแต่มองด้วยความหวังว่าท่านจะหายขาดเท่านั้น คุณควรเตรียมใจไว้สำหรับกรณีที่ท่านจะรักษาไม่หายไว้ด้วย แม้ว่าจะทำใจยากสักหน่อยก็ตาม
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่คุณต้องดูแลท่าน คุณอาจมีความรู้สึกเครียดหรือหงุดหงิด เมื่อท่านดื้อและเอาแต่ใจ หรือบางครั้งท่านอาจพูดจาบางอย่างกระทบความรู้สึกคุณ จนคุณรู้สึกเสียใจ หรือน้อยใจ เมื่อเจอเหตุการณ์อย่างนี้ คุณต้องพยายามวางใจให้ดี อย่าให้อารมณ์ชั่ววูบทำให้พลั้งเผลอพูดจารุนแรงกับท่าน และอย่ามัวแต่โทษตัวเองว่า เราเป็นลูกที่แย่ ที่คิดโกรธ โมโหพ่อแม่ หากคุณเครียดมากๆ ลองปรับทุกข์กับใครสักคนที่ไว้ใจ เมื่อได้ระบายความในใจออกไปแล้ว คุณอาจจะรู้สึกดีขึ้น ที่สำคัญอย่าท้อแท้ คิดเสียว่า นี่เป็นครั้งเดียวในชีวิต ที่จะได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณท่าน พ่อแม่เปรียบเหมือนพระอรหันต์ของลูก คนที่ดูแลพ่อแม่ป่วย ก็เท่ากับได้ดูแลพระอรหันต์นั่นเอง
ขอเป็นกำลังใจให้ลูกทุกคนเข้มแข็งและผ่านช่วงเวลานี้ไปได้นะคะ
เรื่อง :::มินู Goodlife Update:::
เรื่องราวน่าสนใจ
ACTIVE COUPLE นักวิ่งสูงวัย หัวใจสตรอง
วิธีดูแล พ่อแม่สูงวัย 4 ประเภทแค่รัก อาจยังไม่พอ
7 สารอาหารที่ ผู้สูงวัย ต้องใส่ใจแบบด่วนๆ