7 เทคนิค วางตัวเองให้เป็น “ที่ปรึกษา” ดีเด่น

7 เทคนิค วางตัวเองให้เป็น “ที่ปรึกษา” ดีเด่น

วางตัวให้เป็น ‘ ที่ปรึกษา ‘ ดีเด่น

บ่อยครั้งใช่มั้ยที่คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นใคร ต่างก็เข้ามาระบายปัญหา และขอให้ช่วยเป็น “ ที่ปรึกษา ” จนบางทีคุณเองก็เริ่มรู้สึกกังวลใจ เพราะไม่รู้ว่าคำแนะนำที่ให้ไปมันโอเคหรือเปล่านะ !?

แต่…! อย่าคิดมากจนเกินไปว่าคุณจะไม่สามารถให้คำปรึกษาที่ดีได้ เพราะในบางครั้ง เพื่อนหรือคนรอบข้างของคุณที่กำลังมีปัญหาอยู่ อาจจะแค่ต้องการคนคอยรับฟังมากกว่าคำปรึกษาที่ดีจากคุณก็เป็นไปได้

ซึ่งใครก็ตามที่มักได้รับเล่นบทนี้บ่อยๆ อย่าเพิ่งแสดงอาการน้อยอกน้อยใจ ว่าตัวเองก็มีค่าเป็นได้แค่ ‘ที่ปรึกษา’ ไปซะล่ะ เพราะการที่เขามาปรึกษาคุณน่ะ แปลว่าเขาให้ความไว้ใจคุณมาในระดับหนึ่งแล้ว

หากเป็นอย่างนั้น งั้นมาดูเทคนิคง่ายๆ เพื่อการวางตัวในฐานะที่ปรึกษาที่ดี ที่ใครต่างก็มอบความไว้ใจให้กัน !

1.เป็นผู้คอยรับฟังที่ดี

การมีคนคอยรับฟังในยามที่ต้องเจอกับปัญหา ถือเป็นเรื่องที่โชคดีสุดๆ เลยนะว่ามั้ย !? เพราะไม่ใช่ที่ว่าคนส่วนใหญ่ เมื่อเจอกับปัญหาจะหันหน้าไปบอกใครก็ได้

ซึ่งการเป็นผู้รับฟังที่ดี ก็เหมือนเป็นการที่คุณกำลังให้ความสำคัญแก่เขา ในขณะที่เขากำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ และถึงแม้ว่าคุณจะไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แต่อย่างน้อยคุณก็ยังทำให้เขารู้สึกดีขึ้นในการที่มีคนคอยอยู่ข้างๆ และรับฟัง

2.ฟังความทั้งสองด้าน

แม้ว่าคนที่เข้ามาปรึกษาปัญหาต่างๆ จะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ตัวของคุณ แต่คุณเองก็ยังไม่ควรตัดสินไปในทันทีว่าใคร ‘ ถูก ’ หรือใคร ‘ ผิด ‘

เพราะทางที่ดี ควรต้องตั้งใจฟังความทั้งสองด้านให้ชัดเจน และมองให้หลากหลายมุมก่อน แล้วค่อยๆ อธิบายในสิ่งที่คุณเข้าใจ และลำดับขั้นในแต่ละเรื่องราวด้วยความใจเย็น มีเหตุผลที่สมควร

3.เป็นกลาง ไม่ตัดสินใคร

บทบาทของการเป็นที่ปรึกษาที่ดี จะต้องไม่เอนเอียง หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร

และอย่างน้อยก็ควรจดจำไว้เสมอว่า คุณไม่ได้ยืนอยู่ในจุดที่เรื่องราวกำลังเกิดขึ้น คุณได้ยินแค่เพียงคำพูดที่เปล่งเสียงออกมา ซึ่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญ คุณไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการรับรู้และมองเห็นมัน จึงไม่ควรตัดสินอะไรง่ายดายจนเกินไป เพราะสุดท้ายอาจกลายเป็นว่าคุณคือ ‘ ผู้ผิดที่ไปตัดสิน ‘

4.อธิบายเหตุและผลที่ดีพอ

ปัญหาทุกปัญหาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ต้องมีใครคนใดคนหนึ่งกระทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘ ไม่ถูกต้อง ‘ ซึ่งเชื่อว่า ทุกๆ การกระทำก็ย่อมมีเหตุผลในตัวของมันเสมอ

ดังนั้น คุณจงฟังเรื่องราวอย่างช้าๆ และค่อยๆ คิดตามอย่างทำความเข้าใจในทุกการกระทำที่เกิดขึ้น หากคุณมองว่าไม่เห็นด้วย ก็จงพูดออกไปว่าไม่เห็นด้วย และอธิบายเหตุผลที่ดีพอ ซึ่งดีกว่าการตัดสินด้วยคำว่า ‘ ถูก ‘ หรือ ‘ ผิด ’ เสียอีก

5.อย่าเอาแต่ปลอบ

การมัวแต่โอ๋ หรือคอยปลอบโยนคนที่เผชิญหน้ากับปัญหา อาจช่วยได้แค่ดึงความรู้สึกแย่ๆ ที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นมา แต่ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาที่มีอยู่คลี่คลายลงได้

เพราะฉะนั้น อย่าเอาแต่ปลอบและให้กำลังใจแค่เพียงอย่างเดียว เพราะมันจะทำให้เขาคนนั้นไม่รู้จักกับความเข้มแข็ง และการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

6.พูดกระทบ เพื่อให้รู้จักคิด

บางครั้งการพูดจาแรงๆ หรือจี้ใจดำให้รู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจคนฟัง ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำเช่นกัน ซึ่งอย่ามัวเอาแต่ปลอบโยนด้วยคำพูดที่สวยหรูเท่านั้น เพราะในบางที อาจช่วยทำให้เขาฉุกคิดบางอย่างที่ควรทำขึ้นมาก็เป็นได้

7.แกล้งไม่ว่างบ้าง

เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะช่วยให้คนที่ต้องประสบกับปัญหา ได้รู้จักอยู่กับตัวเองเพื่อคิดไตร่ตรองในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป

ซึ่งอาจจะดูเป็นวิธีที่ใจร้าย แต่เชื่อเถอะว่า คนบางคนอาจมีคำตอบกับเรื่องบางเรื่องภายในใจอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการฟังความคิดเห็นจากคนอื่นเพิ่มเติมก็เท่านั้น

ที่ปรึกษา

โดย : sineenow

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.