ความสุขเป็นเหมือนของล้ำค่าที่ใครๆ ก็อยากได้ บางคนได้มาง่ายๆ ในขณะที่บางคนก็รู้สึกว่าไขว่คว้ามาได้ยากเหลือเกิน ใช่มั้ยคะทุกคน เพราะแต่ละคนนั้นมีสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขไม่เหมือนกัน เราเลยต้องเข้าใจว่าความสุขของคนเราไม่เท่ากัน เราอาจมีความสุขกับสิ่งหนึ่ง แต่คนอื่นอาจมีความสุขกับอีกสิ่งหนึ่ง และเมื่อเวลาผ่านไปเราก็เปลี่ยนไปด้วย เห็นได้ชัดว่าคนเราจะมีความสุขแท้ได้ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย เช่น รู้สึกพอใจในชีวิต ไม่อิจฉาริษยา รักคนอื่น พร้อมจะปรับเปลี่ยนและมีจิตใจที่เข้มแข็ง ให้เรามาดูว่าทำไมเรื่องเหล่านี้จึงสำคัญ
วันนี้เราลองมาค้นหาวิธีที่จะทำให้เรารู้สึกมีความสุขแบบที่ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องวิ่งตามอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ความสุขของเราเองกันดีกว่า แต่มาโฟกัสกับความสุขที่เรารู้สึกและรับรู้ได้จริงๆ
>> ก่อนอื่นต้องรู้ว่าคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน >>
แน่นอนว่าด้วยพื้นฐานในหลายๆ อย่าง ที่ส่งผลให้คนเรามีประสบการณ์ที่แตกต่างกันที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เลยทำให้ความรู้สึกและความสุขคนเรามีไม่เท่ากัน โดยไม่มีหลักเกณฑ์ใดที่สามารถจะนำมาชี้วัดเรื่องความสุขได้ การที่จะตัดสินว่าใครมีความสุขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการนิยามความหมายของคนผู้นั้นว่าความสุขของเขาคืออะไร สำหรับบางคนความสุขคือภาวะที่ไร้ความกังวล มีความรู้สึกรื่นเริงเบิกบาน บางคนมองว่าคือการมีสุขภาพดีและไร้ปัญหาใด ๆ ในชีวิตอย่างสิ้นเชิง บางคนเห็นว่าความสุขคือการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและได้เป็นผู้ให้แก่ผู้อื่น ฉะนั้น อย่าไปวัดความสุขของตัวเองกับใคร
>> ความสุขมาจากอารมณ์ความรู้สึก และการปฏิบัติตัว >>
แม้จะมีทฤษฎีความสุขจากนักวิจัยหลายๆ ที่ จะบอกว่าระดับความสุขในชีวิตของคนเราถูกกำหนดมาล่วงหน้าแล้วด้วยพันธุกรรมถึง 50% และถูกกำหนดด้วยเหตุการณ์แวดล้อม 10% แต่เรื่องนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับความพยายามริเริ่มส่วนบุคคลด้วยอีกถึง 40% เช่นกัน นั่นหมายถึงคนเราเมื่อรู้สึกมีคว่มสุขได้ นออกจากเกิดจากความรู้สึกที่อยากมีความสุขไม่พอ ต้องปฏิบัติตัวเพื่อให้บรรลุความรู้สึกนั้นๆ ด้วย เช่น อยากรู้สึกมีสุขภาพดี ก็ต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย และออกกำลังกาย ก็จะทำให้รู้สึกแข็งแรงและความสุขจะตามมา
>> ที่มาของความสุขไม่จำเป็นจะต้องมีความหมายหรือคุณค่า >>
ในขณะที่งานวิจัยส่วนใหญ่ยกย่องการใช้ชีวิตอย่างมีค่าต่อผู้อื่น ผลการศึกษาหนึ่งระบุออกมาว่า ความสุขนั้นมาจากการเป็นผู้รับมากกว่าการเป็นผู้ให้ ซึ่งนับว่าสวนทางกับความเข้าใจเชิงศีลธรรมที่มีมาก่อนอย่างสิ้นเชิงนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องความสุขหลายคนไม่เห็นด้วยกับผลการวิจัยนี้ ซึ่งแยกเรื่องคุณค่าหรือความหมายของการกระทำออกจากความสุขที่ได้รับ การใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและคุณค่า เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ นำมาซึ่งความวิตกกังวลและความเครียดในระดับที่สูงกว่ามาก ทำให้ความสุขที่ควรจะได้ลดลง
>> ยอมรับในสิ่งที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ แล้วเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น >>
เมื่อเรารู้จักรักตัวเอง เราก็จะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนการกินแบบใหม่ คนที่รักตัวเองจะมีสติ รู้ว่ากินอาหารอะไรที่จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี รู้ว่าสูบบุหรี่ไม่ดีต่อร่างกายก็ต้องหักห้ามใจและหยุดสูบ รวมถึงการยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้มีสุขภาพที่ดี แต่ร่างกายเราก็ทำงานหนักเต็มที่ เพื่อทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ สูบฉีดเลือดทำให้เราเคลื่อนไหวได้ตลอด และร่างกายเราก็ยังต่อสู้กับเชื้อโรค ปกป้องเราจากอันตราย ร่างกายเราเป็นส่วนประกอบที่ฉลาดและเราควรจะหลงรักร่างกายของเราเอง
>> พอใจและขอบคุณต่อสิ่งที่เรามี คือการสร้างความสุขชั้นเยี่ยม >>
การสร้างนิสัยให้รู้สึกขอบคุณต่อทุกสิ่งที่เราได้รับในทุกวัน เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยสร้างความสุขอย่างได้ผล โดยมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า การเขียนบันทึกประจำวันเพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกในทางบวกได้เป็นอย่างดี แต่นักวิจัยแนะนำว่าไม่ควรพยายามบีบคั้นตนเองเพื่อสร้างความรู้สึกดังกล่าวขึ้นบ่อยครั้งเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการฝืนและชาชินได้ แต่ควรจะทำเป็นประจำเพียง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็พอ และหากใครมีนิยามความสุขในแบบที่ป็นตัวขงตัวเองแล้ว ก็จะรู้ได้ทันทีว่าตนเองมีความสุข โดยไม่ต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญ ทำการทดลอง หรือทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อวัดว่ามีความสุขหรือไม่อีกให้เสียเวลา
>> อยากมีความสุขต้อง รู้จักให้อภัยคนอื่น และให้อภัยตัวเอง >>
ถ้ามีใครทำไม่ดีกับเรา ทำสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็จะโกรธ หรืออาจจะเกลียดคนๆ นั้น ที่มีส่วนทำให้ชีวิตเราแย่ลง แต่เราจะไม่ได้อะไรจากการโทษคนอื่น นอกจากความคิดในแง่ลบที่เกิดขึ้น ดังนั้นแทนที่เราจะเกลียด ขุ่นเคือง ไม่พอใจ เราก็ลองเปลี่ยนไปให้อภัยคนที่ทำไม่ดีกับเรา แล้วเราจะปล่อยวางความคิดแง่ลบได้ ทำให้เรามีเวลาเอาไปคิดและทำสิ่งที่สำคัญกับเราจริงๆ แล้วก็อย่าลืมให้อภัยตัวเองด้วย เราต่างก็เคยทำผิดพลาดกันมา เราเสียใจที่ทำลงไป หรือเสียใจที่ไม่ได้ทำ เสียใจที่ทำสิ่งที่ขัดกับความตั้งใจที่ดี เช่น ห้ามใจไม่ได้ โกหกคนอื่น หรือกินขนมของหวานทั้งๆ ที่ตั้งใจจะลดน้ำหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้รู้สึกผิดได้
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ชีวิตของเราก็คงต้องดำเนินต่อไป ตราบใดที่โลกนี้ยังหมุนอยู่ การรู้จักปรับตัวไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจคือสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดได้ในวันที่โลกไม่ได้มอบแต่ความสุขมาให้เราตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเป็นและรู้สึกเท่าที่มี เพราะสิ่งนั้นคือสิ่งที่อยู่กับเราจริงๆ ดีกว่าไปวิ่งไล่ตามความสุขในแบบที่คนอื่นมองว่าเรามีความสุข แบบนั้นมันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงนะคะ เพราะความสุขที่แท้จริงคือ แม้ใครจะมองว่าเราไม่น่ามีความสุข แต่เรา “รู้สึก” ว่าเราสุข แค่นั้นก็พอค่ะ เพราะความสุขไม่ใช่สิ่งที่ต้องมี แต่เป็นสิ่งที่ต้องรู้สึกได้เองค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ในชีวิตคู่อย่าเอาชีวิต…ไปเปรียบกับละคร!!
เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อความรักของเราจะได้คงอยู่ไปนานๆ
เมื่อไม่อยากผิดพลาดซ้ำ จงใช้ความผิดเป็น “ครู”