ตกอยู่ในภาวะ ” รู้ว่าบาป แต่ก็ต้องทำต่อไป” ทำอย่างไรดี ? ท่าน ว. วชิรเมธี มีคำแนะนำ
คนอ่านถาม : หนูทำงานเป็นพนักงานขายค่ะ และบางครั้งในการขายสินค้าก็จำเป็นต้องพูดแต่ด้านดีเพื่อให้ขายได้ บางทีหนูต้องบอกลูกค้าว่า “ยังไม่มีแฟน” ทั้งๆ ที่ความจริง “มีแล้ว” ไม่งั้นลูกค้า (หัวงู)จะไม่คุยด้วย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดหนู รู้ว่าบาป แต่ก็ทำเพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดีทั้งสิ้น
การกระทำเหล่านี้จะถือเป็นบาปหรือไม่คะ ถ้าบาปหนูควรจะทำอย่างไร เพราะถ้าพูดความจริงก็จะเสียลูกค้าและอาจทำให้ต้องเสียงานที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพ
ท่าน ว.วชิรเมธี ตอบ: ในโลกของความเป็นจริง เราไม่สามารถเลือกอาชีพที่เราใฝ่ฝันปรารถนาได้อย่างที่ใจต้องการกันทุกคน คุณก็เช่นเดียวกัน แม้ใจรู้ดีว่าอาชีพที่ทำอยู่ดูเหมือนจะ “คาบลูกคาบดอก” ระหว่างบุญกับบาป แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีทางเลือกมากนัก จึงจำเป็นต้องทำอาชีพเดิมต่อไป
จากคำถามของคุณ ผู้เขียนขอตอบตามลำดับดังนี้
1. การกระทำเหล่านี้ถือว่าเป็นบาปหรือไม่
ตอบว่า บาป (ในกรณีนี้หมายถึงการโกหก) ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อการโกหกนั้นเข้าองค์ประกอบดังต่อไปนี้ครบถ้วน นั่นคือ
1.1 เรื่องเท็จ
1.2 มีเจตนาจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง
1.3 กล่าวออกไป
1.4 มีผู้เสียหายเกิดขึ้น
ในกรณีของคุณก็ขอให้คุณลองสำรวจด้วยตนเองว่า ทุกครั้งที่กำลังพูดเท็จมีองค์ประกอบครบหรือเปล่า ถ้าครบก็เป็นบาปมากแต่ถ้าไม่ครบก็เป็นบาปน้อย แต่เกณฑ์สำคัญที่สุดที่จะถือว่าการพูดโกหกเป็นบาปมากก็คือ มีผู้ได้รับความเสียหายมาก เดือดร้อนมากคุณลองถามตัวเองดูสิว่า ทุกครั้งที่คุณพูดโกหกนั้นมีผู้เสียหายมากหรือเปล่า คุณกำลังทำลายผลประโยชน์ของใครอยู่หรือไม่ ตัวการ “ทำลายประโยชน์ของผู้อื่น” นี่แหละคือเกณฑ์สำคัญที่บอกว่าจะเป็นบาปมากหรือบาปน้อย
ยกตัวอย่างในกรณีที่ผู้ป่วยป่วยหนัก หมอเห็นว่าหากบอกความจริงออกไปทั้งหมด ผู้ป่วยอาจทรุดหนักกว่าเดิมหลายเท่า จึงพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว ในกรณีเช่นนี้แม้เป็นการโกหก แต่ก็นับว่าเป็นการโกหกที่พอยอมรับได้ เพราะ “เจตนา” ไม่ได้มุ่งทำลาย แต่มุ่งความสวัสดีมีสุขของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
การโกหกที่อันตรายและถือว่าเสี่ยงต่อบาปกรรมก็คือ การโกหกที่เกิดจากเจตนาในเชิงลบ ซึ่งมุ่งตัดรอนประโยชน์สุขของผู้อื่นเป็นสำคัญส่วนการโกหกโดยมีเจตนาดีเป็นพื้นฐานนั้น แม้เป็นบาป ก็นับว่าไม่บาปรุนแรง แต่จะไม่เป็นบาปเลยนั้น “ไม่มี”
2. ถ้าบาป หนูควรจะทำอย่างไร
ตอบว่า ควรจะวางเจตนาของตนเอาไว้ให้ดี ไม่ให้มีเจตนาหลอกลวงจนผู้อื่นเสียหาย ไม่โฆษณาชวนเชื่อสิ่งที่กำลังขายอยู่จนเกินความเป็นจริง ควรฝึกพูดความจริงให้พอดีกับความจริง อย่าพูดอะไรให้เกินจริงจนเข้าข่าย “โฆษณาชวนเชื่อ” แต่ควรมุ่งแค่ “โฆษณาชวนรู้” เมื่อรู้แล้วเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ไม่ต้องไปยัดเยียดหรือหว่านล้อมจนเขาเชื่อเราให้ได้ หรืออีกวิธีหนึ่ง ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่สบายใจที่จะทำอาชีพที่หมิ่นเหม่ต่อการสร้างบาปรายวันเช่นนี้ ก็ควรจะลองหาอาชีพใหม่ให้ตัวเองได้ลองทำดู ไม่ควร “ยอมจำนน” กับปัญหาชีวิต แล้วสรุปเอาง่ายๆว่าชีวิตนี้ไม่มีทางไปอีกแล้ว ต้องไม่ลืมว่า งูไม่มีขายังขึ้นต้นไม้ได้น้ำไม่มีตาเวลาไหลไปเจอก้อนหินก็ยังรู้จักไหลอ้อมได้ คนมีดีกว่างูมีปัญญากว่าน้ำ ทำไมจะสร้างหนทางที่ดีกว่าให้ตัวเองไม่ได้
3. ถ้าพูดความจริงก็จะเสียลูกค้าและเสียงานที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพไป
ข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคุณเองว่า คุณยังอยากใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงต่อการก่อบาปรายวันนี้ต่อไปหรืออยากสลัดให้หลุดพ้นออกไปเลยดีกว่า คงต้องกลับมานั่งถามใจตัวเองให้ชัดว่าจะเลือกทางไหน ถ้าเห็นว่าการโกหกของคุณไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง ทั้งยังเกิดจากเจตนาดี ก็ทำงานเดิมต่อไปได้ แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ยิ่งทำไปยิ่งเสี่ยงต่อบาปกรรมมากขึ้น ก็ควรมองหาลู่ทางใหม่ในการทำมาหากินต่อไป
ต้องไม่ลืมว่า ถ้าเราอ้างความจำเป็นเพื่อทำบาป เราก็มักจะอ้างเหตุผลให้ตัวเองได้เสมอ และในที่สุดเราก็จะกลายเป็น คนเลวที่มีเหตุผล แต่ถ้าเรากล้าหลีกออกมาจากบาป เราก็จะกลายเป็นคนดีที่ไม่ต้องหนักใจในการให้เหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงบาปอีกต่อไป แต่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างตรงไปตรงมากับความเป็นจริง มีชีวิตทุกวันที่มีความสุข ไม่ต้องนอนสะดุ้งเพราะหวาดผวาต่อบาปที่จะตามมาในอนาคต
เรื่อง ท่าน ว.วชิรเมธี
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่