โกหก

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: โกหก เพราะหน้าที่ การงาน ผิดศีลหรือไม่

โกหก เพราะหน้าที่ การงาน ผิดศีลหรือไม่

โกหก เป็นสิ่งไม่ดี เราทุกคนรู้ และไม่มีใครชอบ แต่ทำไมถึงต้องโกหก!

ถาม:

จำเป็นต้องโกหก เพราะหน้าที่การงาน เช่น ต้องบอกคนอื่นว่านายไม่อยู่ ทั้ง ๆ ที่นายไม่ไปไหน ผิดศีลหรือไม่

พระอาจารย์มานพ อุปสโม ตอบปัญหาธรรมข้อนี้ไว้ว่า

ตอบ:

ไม่ว่าเพราะอะไรก็ตาม การโกหกถือว่าผิดศีล ไม่มีข้อยกเว้น ทางที่ดีนิ่งเสียดีกว่า หรือใช้คำพูดเลี่ยงแทน เช่น บอกว่าเจ้านายยังไม่พร้อม

โกหกแล้วได้อะไร

อันดับแรกคือ ความโล่งอกที่หลุดพ้นภาวะ หน้าสิ่วหน้าขวานนั้นมาได้ แต่สิ่งที่จะตามมาติด ๆ คือ ความกังวลใจ กลัวไปสารพัด เพราะไม่อยากถูกจับได้

แต่ยิ่งกลัวมากเท่าไร โอกาสที่การโกหกจะลุกลามต่อไปก็มีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อกลัวว่าที่โกหกไปแล้วจะไม่แนบเนียนก็ย่อมต้องโกหกเรื่องอื่น ๆ ตามมาเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือขึ้นอีกเป็นชั้น ๆ บางกรณีเมื่อโกหกแล้วยังไม่มีใครจับได้ ก็ได้ใจ ทำต่อไปเรื่อย ๆ สำหรับบางคน การโกหกจึงกลายเป็นนิสัยที่แก้ไม่หาย

แต่ความลับไม่มีในโลก ดังนั้นไม่ว่าการโกหกจะถูกเปิดโปงด้วยวิทยาการล้ำสมัย หรือเป็นการจนมุมง่าย ๆ ด้วยวิธีใดก็ตามที ผลที่ผู้โกหกจะได้รับคงไม่แตกต่างไปจากเด็กเลี้ยงแกะที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครเชื่อถือและให้ความไว้วางใจอีกต่อไป

ในเมื่อการโกหกไม่ให้ผลดีกับใครอย่างแท้จริง จึงไม่แปลกที่หลายศาสนาจะบัญญัติข้อห้ามเรื่องการโกหกไว้ในคำสอน ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์   ศาสนาอิสลาม รวมทั้งศาสนาพุทธ

โกหก
Photo by Antenna on Unsplash

พระอาจารย์สุรศักดิ์ จรณธัมโม ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม กล่าวถึงบาปของการโกหก ดังนี้

ก่อนอื่นขอให้ช่วยอธิบายเรื่องศีลห้าและศีลข้อสี่ที่ว่าด้วย ข้อห้ามเรื่องการโกหกอย่างกระจ่างก่อนค่ะ

ศีลห้าเป็นสิ่งวัดความเป็นปกติของมนุษย์ ผู้มีศีลน้อยลงเท่าใด ความเป็นมนุษย์ในบุคคลนั้นก็จะน้อยลงด้วย จริง ๆ แล้วศีลไม่ได้เป็นข้อห้ามอย่างที่ทุกคนเข้าใจ ผู้มีศีลไม่ใช่ผู้ที่ถูกห้าม แต่ต้องเป็นผู้ที่มีเจตนางดเว้น ผู้ใดที่มีเจตนางดเว้นการกระทำทางกายทางวาจาที่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่น ผู้นั้นคือผู้มีศีล

ศีลข้อที่สี่คือ การที่มีเจตนางดเว้นการพูดเรื่องไม่จริง หากมีการละเมิดที่มีความหมายว่ามีการพูดไม่จริงเกิดขึ้น นั่นคือกำลังมีวาจาที่เป็นอกุศล ผลก็ต้องเป็นอกุศล คงเป็นบุญไปไม่ได้

ศีลข้อนี้จะขาดเมื่อ หนึ่ง มีเรื่องไม่จริง สอง มีเจตนาที่จะพูดโกหก สาม พยายามพูดออกไป และ สี่ มีผู้เข้าใจผิด ต้องแยกให้ชัดเจน คนเรามีการกระทำได้สามทางคือ กาย วาจา และใจ การคิดเป็นเรื่องของใจ หากคิดอยากจะโกหก มีเจตนาทางใจเกิดขึ้น บาปก็เกิดขึ้นทางใจแล้ว หากมีการพูดไม่จริงอีก ก็เป็นบาปจากการกระทำทางวาจา แยกกัน ไม่ปะปนกัน ทำสิ่งใดก็ได้ผลตามที่กระทำนั้น

ผลของการพูดไม่จริง คือ ขาดผู้คนเชื่อถือ ขาดบุคคลคบหาที่จริงใจ จิตใจร้อนรนไม่ปกติ หลังจบชีวิตในชาตินี้ หากได้ไปเกิดเพราะผลของกรรมนี้ก็จะไปเกิดด้วยแรงของอกุศลคือ ทุคติภูมิ

การปฏิเสธหรือบอกปัดเพื่อมารยาท ถือว่าเป็นการโกหกหรือไม่คะ

“ใช่” บอกว่า “ไม่ใช่” “ไม่ใช่” บอกว่า “ใช่” จะถือว่าไม่โกหก คงไม่ได้ จริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ควรงดเสีย ไม่พูด เพราะไม่มีการโกหกเรื่องใดที่น่ายกย่องว่าเป็นมารยาทที่ควรทำ

การโกหกเพื่อความสบายใจของผู้อื่น เช่น การโกหก เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย ถือว่าเป็นบาปหรือไม่คะ

ลองคิดดูขณะที่จะโกหกว่า “ทุกข์หรือสุข” ผู้ที่กำลังโกหกก็ทุกข์เมื่อพูดไปแล้วก็ยังทุกข์ เพราะกลัวเขาจะรู้ว่าโกหก เป็นทุกข์อย่างนี้จะบอกว่าบุญได้อย่างไร

แล้วอย่างนี้จะให้ทำอย่างไรคะ

เลือกที่จะไม่พูดหรือถ้าต้องพูดก็คงต้องพูดความจริง เราอาจคิดแทนใครไม่ได้ทั้งหมด การรู้ความจริงอาจทำให้ผู้นั้นเตรียมตัวก่อนตายให้พร้อมขึ้นก็ได้ ไม่ก็อาจทำให้เป็นประโยชน์แก่การรักษามากยิ่งขึ้น

โกหก
Photo by Reeney Jenkins on Unsplash

จะรู้ได้อย่างไรว่าใครโกหก

นักจิตวิทยาพบสถิติที่น่าสนใจว่า บรรดาคนพูดโกหกจำนวนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ หากพบว่าไม่มีใครจับได้ คนเหล่านั้นก็มีแนวโน้มจะพูดโกหกต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเห็นว่าการโกหกเป็นเรื่องธรรมดา แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม่ว่าคนคนนั้นจะโกหกได้แนบเนียนอย่างไร ก็ไม่อาจปิดบังปฏิกิริยาในร่างกายขณะโกหกได้ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจและชีพจรจะไม่สม่ำเสมอ เหงื่อจะออกมากขึ้น อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ที่สำคัญ ระดับความดันโลหิตจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการระคายเคืองในระดับเนื้อเยื่อ เช่น บริเวณจมูก ลำคอ ใบหน้า คนที่กำลังโกหกจึงมักเกาหรือถูผิวหนังบริเวณนั้นบ่อย ๆ เพื่อลดอาการระคายเคือง

อาการผิดปกติที่พบเห็นทั่วไปเมื่อเวลาโกหก

  1. หลบสายตา กะพริบตาหรือกลอกตามองซ้ายขวาไปมาบ่อยครั้งอย่างไม่จำเป็น
  2. กลืนน้ำลายบ่อยกว่าปกติ อาการนี้ผู้ชายจะเป็นมากกว่า
  3. น้ำเสียงไม่ปกติ ขึ้นเสียง โวยวายเมื่อถูกถามซ้ำ ๆ เพราะคนโกหกจะไม่สามารถจดจำรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้นานหรือเล่าความได้ครบถ้วนเหมือนตอนที่เล่าครั้งแรก
  4. ตอบคำถามด้วยการย้ำคำพูดหรือหยุดชะงัก ก่อนจะตอบคำถามแบบยืดยาวด้วยการทวนคำถามอีกรอบ ทั้งนี้เพื่อประวิงเวลาในการสร้างเรื่องโกหก

เกร็ดความรู้

นักจิตวิทยาพบว่า มนุษย์เริ่มโกหกเป็นตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และเมื่ออายุได้ 5 ขวบ ความสามารถในการโกหกจะได้รับการพัฒนาขึ้นอีกมาก แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะในทางจิตวิทยาถือว่าการโกหกเป็นธรรมชาติของเด็กที่เกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ ไม่มีพิษมีภัย เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะจินตนาการออกจากความจริงได้

เด็กมักโกหกเพราะความกลัว ต้องการเลียนแบบ และเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่  แต่เมื่อโตขึ้น ไม่ว่าหญิงหรือชาย ประเภทและระดับการโกหกจะยิ่งมากขึ้นและซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

งานวิจัยล่าสุดของ โรเบิร์ต เฟลด์แมน อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ และผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Liar in Your Life พบว่า ระหว่างการสนทนาทุก ๆ 10 นาที จะมีการโกหกประมาณ 2 – 3 ครั้ง และในบางคู่สนทนาอาจเกิดขึ้นได้มากถึง 12 ครั้ง

เจมส์ แพตเตอร์สัน ผู้เขียนหนังสือ The Day America Told the Truth เผยว่า ไม่ว่าคู่สนทนาจะเป็นใครก็ตามแต่ แทบทุกครั้งของการสนทนามักจะมีเรื่องโกหกร่วมอยู่ด้วยเสมอ เป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะพูดความจริงต่อกันทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคนใกล้ชิดอย่างคู่รัก พ่อ แม่ ลูก

 

Image by Andrian Valeanu from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

วิบากกรรมแห่งวจีทุจริต เราเผลอกันไปมากน้อยแค่ไหนแล้วกับบาปนี้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.