บริหารงานตามจังหวะ “เร็ว ช้า หนัก เบา” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักธุรกิจหนุ่มผู้พลิกหนี้สินกว่าร้อยล้านบาทให้กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่านับพันล้านบาทแต่กว่าจะนำพาธุรกิจผลิตน้ำมันรำข้าวดิบและรำสกัดน้ำมันให้เติบโตอย่างทุกวันนี้ เขาต้องผ่านบททดสอบมากมายและเรียนรู้จังหวะการใช้ชีวิตและการบริหารงานในแบบ “เร็ว ช้า หนัก เบา”
“ผมเข้ามารับช่วงดูแลธุรกิจต่อจากคุณพ่อ (คุณพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์) ตั้งแต่อายุ 24 ปี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คุณพ่อเสียชีวิตกะทันหัน จึงลาเรียนและกลับมาดูแลครอบครัวและธุรกิจก่อน เพราะเพิ่งเริ่มธุรกิจได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น เมื่อสูญเสียผู้นำ พนักงานขาดความมั่นใจ ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับนำมาหมุนเวียน ธุรกิจจึงเดินต่อไปไม่ได้ ผมจึงต้องรีบเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเร็ว
“เมื่อต้องเข้ามาบริหารงานแทนคุณพ่อในเวลานั้นปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนและผมไม่คิดจะโทษใครคือความไม่เชื่อใจและไม่เชื่อถือว่าผมจะสามารถเข้ามาบริหารงานแทนคุณพ่อได้ ผมได้ยินคนพูดว่า ‘คุณเป็นหลานผมได้เลยนะคุณอายุเท่าหลานผมเลยด้วยซ้ำ’ ผมก็ยอมรับว่าคงแก่ไปกว่านี้ไม่ได้ และนี่คือจุดอ่อนของเรา แต่เราสามารถปิดจุดอ่อนนี้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้ ถึงยังไม่มีประสบการณ์ในตอนนั้นแต่เราหาความรู้ได้ ผมจึงทุ่มเทหาความรู้ทั้งจากการพูดคุยจากห้องสมุด และอินเทอร์เน็ต จนในที่สุดทุกคนก็เห็นถึงความตั้งใจ ธนาคารเห็นศักยภาพว่าเราสามารถดูแลกิจการได้และยินดีปล่อยสินเชื่อให้มาดำเนินธุรกิจต่อไป
“ข้อดีของการเข้ามาบริหารในช่วงเวลานั้นคือการที่เราอายุยังน้อย ไม่มีพันธะใด ๆ จึงสามารถลงพื้นที่เข้าหาชาวนาได้ ไปต่างประเทศได้ ทำให้รู้จักธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ตอนนั้นแม้จะเหนื่อย แต่ก็ได้ข้อคิดว่า การที่ทุ่มเทใส่ใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ยอมปล่อยไปง่าย ๆ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ
“ช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน ผมบอกกับทุกคนในบริษัทว่าคุณต้องเปลี่ยนจากการทำงาน ‘ให้’ พ่อมาเป็น ‘ร่วมทำงาน’ กับผม ผมเข้าใจว่าทุกคนมีชีวิตและมีภาระเป็นของตัวเอง ถ้าคุณมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานที่มั่นคงกว่า เราไม่โกรธกันแต่ในวันนั้นไม่มีใครลาออก จนถึงทุกวันนี้ผ่านไปแล้ว 8 ปี ทุกคนในวันนั้นก็ยังอยู่ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ทุกข์และสุขร่วมกัน ถึงวันนี้ถ้าเจอความทุกข์อีกก็คงไม่เป็นไรแล้วแต่ถ้าเราเจอแต่ความสุข ไม่เคยทุกข์เลย อย่างนี้คงทำใจลำบาก
“หลักการทำงานของผมคือการเรียงลำดับความสำคัญ ส่วนการบริหารจัดการต้องรู้จังหวะ ต้องรู้หลัก ‘เร็ว ช้า หนัก เบา’ คือต้องเข้าใจว่าบางครั้งต้องอดทน บางครั้งต้องเร็ว ตัดสินใจด้วยความว่องไว เช่น ถ้าเป็นเรื่องการลงทุนเรื่องเครื่องจักรหรือการเจาะตลาด ต้องทำอย่างรวดเร็ว ว่องไว แต่ถ้าเป็นด้านการบริหารคน บางครั้งต้องช้าลง หนักแน่นขึ้น ต้องฟังเยอะ ไม่ด่วนตัดสินใคร ต้องพูดคุยกัน เพราะหากเป็นผู้บริหารแล้วใจไม่นิ่ง พนักงานจะเสียกำลังใจได้
“ผมยึดหลักที่ว่า อยู่กับปัจจุบัน และไม่นึกถึงอดีต ที่ผ่านมา และไม่กังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เราอาจมีการวางแผนอนาคต แต่ก็ต้องทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด คือฝึกอยู่กับปัจจุบัน เมื่อนำหลักนี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ชีวิตมีความสุข เพราะอดีตผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึงเวลาที่อยู่ตอนนี้คือเวลาที่ดีที่สุด”
“สำหรับการทำธุรกิจ ผมวัดความสำเร็จจากศักยภาพของสินค้า ในห้องทำงานของผมมีเมนูในการทำนวัตกรรมข้าวติดไว้ เรารู้ว่าศักยภาพของข้าวทำอะไรได้อีกมาก สิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ ตอนนี้ทำได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อาจเป็นเพราะนวัตกรรมของบ้านเมืองเรายังช้า ดังนั้นบริษัทจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งมีความรู้ในการพัฒนาศักยภาพสินค้า เพราะเรามีวัตถุดิบอยู่ในมือ และสินค้าของเราก็มีจุดแข็งไม่แพ้สินค้าจากต่างประเทศ แล้วมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่พัฒนาสิ่งที่เรามีอยู่ให้เต็มศักยภาพ”
ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงได้เห็นว่าความสูญเสียและอุปสรรคสามารถเป็นแรงผลักดันให้ชีวิตคนเราประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
เรื่อง เชิญพร คงมา ภาพ วรวุฒิ วิชาธร สไตลลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์
บทความน่าสนใจ
เทคนิคการบริหารเวลา สำหรับคนที่ชอบอ้างว่า “ไม่มีเวลา”
เบื้องหลังความสำเร็จของ ระเฑียร ศรีมงคล ผู้บริหารบริษัทบัตรกรุงไทย
อรรณพ จิรกิติ เจ้าของสีลมคอมเพล็กซ์ นักธุรกิจผู้คืนกำไรสู่สังคม
อาจารย์หมอประทีป ไวคำนวณ เมื่อชีวิตพลิกจากนักธุรกิจสู่การเป็นหมอจิตอาสา
มีใจเที่ยงธรรม คุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารที่ดี
นักธุรกิจผู้ยึดหลัก อิทธิบาท4 และตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน เป้ พงศกร พงษ์ศักดิ์
บันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง กับ ธรรมธุรกิจ
เฉิน กวงเปียว จากเด็กยากจน สู่เจ้าของธุรกิจรีไซเคิลยักษ์ใหญ่ของจีน