ทำบุญด้วยเหรียญ 50 สตางค์

Dhamma Daily : ทำบุญด้วยเหรียญ 50 สตางค์ ชาติหน้าเกิดมาจะไม่เต็มบาทจริงหรือ

ทำบุญด้วยเหรียญ 50 สตางค์ ชาติหน้าเกิดมาจะไม่เต็มบาทจริงหรือ

ถาม: เคยได้ยินมาว่า ทำบุญด้วยเหรียญ 50 สตางค์ ชาติหน้าเกิดมาจะไม่เต็มบาทจริงไหมคะ

พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ตอบปัญหาเรื่องการทำบุญด้วยเหรียญ 50 สตางค์นี้ไว้ว่า

ตอบ: จะเต็มบาทหรือไม่เต็มบาทอยู่ที่ศีลข้อห้าเป็นหลัก คนที่ชอบดื่มน้ำเมาส่งผลให้เกิดเป็นคนไม่สมประกอบหรือสติไม่ดี ส่วนการทำบุญนั้น ไม่ว่าจะทำน้อยหรือทำมากก็ไม่เป็นไร ขอให้ก่อนทำรู้สึกเต็มใจ ขณะให้ก็เต็มใจ และหลังให้ก็ยังเต็มใจ ที่สำคัญ ทรัพย์นั้นต้องหามาด้วยความบริสุทธิ์ แค่นั้นบุญก็เกิดแล้วโยม

ทั้งนี้หลวงปู่ขาว อนาลโย กล่าวไว้ว่า “บุญเป็นเครื่องกรองกิเลสที่เต็มอยู่ในจิตใจออกไปให้เหลือแต่ใจอย่างเดียว เพื่อให้ใจสะอาดปราศจากความรัก โลภ โกรธ หลง”

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี กล่าวไว้ว่า “บุญเป็นสิ่งที่ดี ทำลงไปแล้วใจสะอาด จิตใจผ่องใสและเบิกบาน ให้สังเกตอย่างนี้ อย่าเอาใจตนเป็นเครื่องวัด เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องวัด สิ่งใดที่ทำด้วยกายหรือวาจา หรือนึกคิดด้วยใจ ถ้าหากไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น อันนั้นแหละเรียกว่า ‘บุญ’ ”

หัวใจสำคัญของบุญจึงอยู่ที่การ “ลด ละ เลิก กิเลสตัณหาในใจให้ได้ ด้วยกระบวนการทางปัญญา เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดทั้งในใจตนและผู้อื่น”

ทำทานอย่างไร ให้ได้อานิสงส์สูงสุด

ผู้รับบริสุทธิ์ คนดีมีศีลธรรม ถ้าเป็นพระก็เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รวมถึงคนแปลกหน้าผู้รอนแรมมาถึงถิ่นตน ผู้เตรียมเดินทาง คนป่วยไข้ และให้ผู้คนที่ตกอยู่ในเวลาข้าวยากหมากแพง วัตถุปัจจัยบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต ไม่จำเป็นต้องมีราคา แต่ขอให้มีประโยชน์และเหมาะสม ผู้ให้มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่ยึดติด ไม่ห่วงพะวง ไม่เสียดาย ทั้งก่อนให้ – ขณะให้ – หลังจากที่ให้

ทำบุญอย่างฉลาดไม่เสียสักบาท แต่ได้บุญเต็ม ๆ

ศีล เป็นการทำบุญที่ละเอียดขึ้นมาอีกหนึ่งขั้น เพราะหากผู้ใดสามารถรักษาศีลได้ครบถ้วน ศีลจะทำให้ชีวิตผู้นั้นมีความปกติสุข แต่หากผู้ใดมีศีลน้อยลงเท่าใด ความเป็นมนุษย์ในบุคคลนั้นย่อมลดน้อยลงไปด้วย

ดังนั้นการมีศีลจึงเรียกว่าเป็นการทำบุญที่เริ่มจากตนเองอย่างแท้จริง และเป็นการทำบุญที่มีขั้นตอนน้อยที่สุด เปลืองแรงเปลืองเวลาน้อยที่สุด อาศัยเพียงมี จิตที่ตั้งมั่น เท่านั้นก็ว่าได้ จากนั้นอาจจะเริ่มด้วยการรักษาศีลห้าให้ได้ในวันเกิด การรักษาศีลห้าให้ได้สัปดาห์ละหนึ่งวัน หากทำได้สักครั้งโดยที่ศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย การรักษาศีลครั้งต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก รวมถึงการรักษาศีลห้าไปตลอดชีวิตที่จะตามมาในที่สุด

ศีลจะครบและเป็นบุญต่อผู้อื่นได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ทำงานด้วยความสุจริต ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ตื่นรู้ ไม่มัวเมาในอบายมุข มีจิตเมตตาต่อสรรพสิ่งในโลก ไม่เบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ว่าด้วยกาย วาจา หรือใจ นอกจากนี้หากมีโอกาสควรเชื้อเชิญให้ผู้อื่นทำบุญหรือร่วมอนุโมทนาบุญ

 

Image by Frauke Feind from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ฝังลูกนิมิต ได้บุญมากกว่าทำบุญอย่างอื่นหรือไม่

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: พ่อแม่ ไม่มีเวลาทำบุญ เราควรทำอย่างไร

จัดบ้าน อย่างไร…ให้ได้ฝึกใจไปพร้อมทำบุญ?

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.