“การเต้นรําคือลมหายใจของผม” ปีแอร์ ดูแลน ครูนักเต้นผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค
การสร้างสรรค์จังหวะดนตรีในแบบต่างๆ และการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยท่วงท่าตามจังหวะดนตรีนั้นอยู่เคียงข้างมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์มาช้านาน และสิ่งนี้ล้วนเกิดจากความมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป
สําหรับ ปีแอร์ ดูแลน (Pierre Dulaine) จังหวะดนตรีและท่วงทีการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นเพียงความสุนทรีย์ในหัวใจเท่านั้น ดูแลนยังสามารถใช้สิ่งเหล่านี้ “เปลี่ยน” ชีวิตกลุ่มวัยรุ่นผิวสีในมหานครนิวยอร์กได้อย่างไม่น่าเชื่อ และการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ได้ส่งผลต่อวงการศึกษาของสหรัฐอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน
ชีวิตวัยเด็กของดูแลน ลูกครึ่งสามเชื้อชาติ ไอริช ปาเลสไตน์ และฝรั่งเศส เป็นชีวิตที่มีจังหวะขึ้น–ลงไม่ต่างจากเสียงดนตรี เพราะนับตั้งแต่ลืมตาดูโลกเมื่อ ค.ศ. 1944 ครอบครัวของเขาก็ต้องโยกย้ายถิ่นฐานอยู่บ่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนนั่นก็คือความรักในการเต้นรํา ซึ่งดูแลนทําได้ดีมากๆ จนสามารถเริ่มอาชีพนักเต้นรําด้วยวัยเพียง 14 ปี ที่ประเทศอังกฤษ
ด้วยความมุ่งมั่นและพากเพียร เจ็ดปีต่อมา ดูแลนในวัย 21 ปี ก็กลายเป็นคนหนุ่มคนแรกที่สอบผ่านหลักสูตรการเต้นรําสุดหินอย่างบอลรูม ละติน และโอลดี้ได้สําเร็จภายในวันเดียว จากนั้นไม่นานนักชีวิตของดูแลนก็ได้สัมผัสถึงความหมายอันล้ำค่าของความเป็น“ครู”อย่างแท้จริงเมื่อเขาเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา
เหตุการณ์เริ่มขึ้นตอนกลางดึกคึนหนึ่งในนิวยอร์ก ดูแลนเห็นวัยรุ่นผิวสีคนหนึ่งกําลังทุบรถยนต์อย่างสนุกมือ ก่อนจะผละหนีไปเมื่อรู้ตัวว่ามีคนเห็น ดูแลนรีบเข้าไปดูที่รถ พบนามบัตรวางอยู่ จึงทําให้รู้ว่าเจ้าของรถคือผู้อํานวยการโรงเรียนมัธยมในย่านนั้นนั่นเอง…ส่วนเด็กคนนั้นก็คงเป็นเจ้านักเรียนตัวแสบแน่ๆ
ด้วยความคิดที่ว่า เขาน่าจะช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่เป็นตัวสร้างปัญหาเหล่านี้ได้ วันรุ่งขึ้นดูแลนจึงไปพบผู้อํานวยการโรงเรียนเพื่อเสนอตัวขอทําหน้าที่ละลายพฤติกรรมเด็กๆ ด้วยการเต้นรํา เพราะเขาเชื่อว่า
“การเต้นรําเป็นดั่งยานพาหนะที่จะนําพาความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ”
แม้วันแรกของการทํางาน คุณครูดูแลนจะถูกเด็กๆ ต่อต้านกลั่นแกล้งสารพัด แต่เขาก็อดทนและยอมรับในความแตกต่างเหล่านี้ โดยที่เขามักเน้นย้ำกับเด็กๆ เสมอว่า
“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ขอแค่รู้จักรู้ใจตัวเองแล้วทํามันอย่างดีที่สุด คุณก็จะเป็นที่ยอมรับของครอบครัวและสังคม ซึ่งผมจะใช้การเต้นรําทําให้คุณไปถึงจุดนั้น”
ดูแลนใช้เวลาคลุกคลี เอาใจใส่เด็กๆ อย่างใกล้ชิด จนเด็กๆ เริ่มวางใจเขามากขึ้น บอกเล่าความรู้สึกโดยไม่ปิดบัง นั่นจึงทําให้ดูแลนรู้ว่า เหตุแห่งความรุนแรงนั้นสามารถยุติลงได้ด้วยความรักความเข้าใจอย่างที่เขากําลังทําอยู่นั่นเอง…
ไม่นานนักคุณครูดูแลนก็ได้รับการยอมรับจากเด็กๆ อย่างเต็มหัวใจ เมื่อเขาสามารถนําจุดเด่นของ ฮิปฮ็อป และ แร็พ แนวดนตรีสุดฮิตของเด็กๆ มาผสมผสานกับการเต้นลีลาศได้อย่างเหมาะเจาะ ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะชื่นชอบการเต้นแบบใหม่เป็นพิเศษแล้ว เด็กๆ หลายคนยังมุ่งมั่นฝึกฝนจนถึงขั้นลงแข่งขัน และหนึ่งในนั้นก็ได้ถ้วยรางวัลกลับมาด้วย
ความภูมิใจของดูแลนไม่ใช่เกิดจากการได้ลบคําสบประมาทที่ว่า “เด็กเหล่านี้ไม่มีวันเต้นลีลาศได้” สําเร็จเท่านั้น หากแต่เกิดจากการที่เขาได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตใจของเด็กๆ ทําให้พวกเขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้เรียนรู้ที่จะรัก ภูมิใจ และเคารพในตนเอง อันนําไปสู่การแบ่งปันความรักให้แก่ผู้อื่นต่อไป…สุดท้ายแล้วความรุนแรงต่างๆ ก็จะลดลง
ด้วยเล็งเห็นประโยชน์เช่นนี้ กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาจึงได้ตัดสินใจบรรจุการเต้นลีลาศเป็นวิชาหนึ่งในการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมนับแต่นั้นมา และการกระทําดังกล่าวได้มีอิทธิพลต่อหลักสูตรการศึกษาของประเทศใกล้เคียงอีกหลายประเทศ
เรื่องราวชีวิตของปีแอร์ ดูแลน ครูนักเต้นผู้ยิ่งใหญ่ผู้ที่มักกล่าวเสมอๆ ว่า “Dance is my life!” ได้รับการสร้างเป็นสารคดีชื่อ Mad Hot Ballroom ในปี ค.ศ. 2005 และสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Take the Lead ในปี ค.ศ. 2006
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง ปาปิรัส
ภาพ asolascontigo-pilarrubio.blogspot.com