เมื่อเข้ามาในวงการเต็มตัว ตุ๊ก (ชนกวนัน รักชีพ) มีโอกาสทำงานหลายอย่าง ทั้งเป็นนางแบบ นักแสดงพิธีกร แต่อาชีพนางแบบเป็นอาชีพแรกที่ตุ๊กมีโอกาสได้ทำ และเป็นงานที่ทำให้ตุ๊กได้เรียนรู้การทำงานและเรียนรู้จิตใจตัวเองไปพร้อมกัน
หลายคนอาจคิดว่าอาชีพนี้เป็นงานง่าย ได้สตางค์เยอะแต่แท้จริงแล้วภาพเบื้องหน้าอันสวยหรูต้องแลกมาด้วยความอดทน เพราะการเดินแบบแต่ละงาน นางแบบทุกคนต้องมาซ้อมคิว รอแต่งหน้าทำผมนานหลายชั่วโมงก่อนงานเริ่ม
การเป็นนางแบบทำให้ตุ๊กได้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้จิตใจผู้คนมากมาย ถ้าถามในมุมชิงดีชิงเด่นในวงการก็มีเหมือนกันส่วนเรื่องการนินทาหรือความไม่จริงใจก็มีให้เห็น ตุ๊กเคยเจอเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าตัวเองรับไม่ได้ นั่นคือ วันหนึ่งขณะนั่งรอทำงาน เหล่านางแบบในงานนี้ก็นั่งดูนิตยสารเล่มหนึ่งด้วยกันแล้วเปิดไปเจอภาพแฟชั่นเซตของเพื่อนนางแบบคนหนึ่ง ขณะที่เปิดดูภาพไปทีละหน้า จู่ ๆ ก็มีนางแบบคนหนึ่งพูดขึ้นว่า
“อี๋ ยัยนี่ถ่ายรูปนี้น่าเกลียดจังเลย”
เธอพูดยังไม่ทันขาดคำ เพื่อนนางแบบที่ถูกพูดถึงก็เดินเข้ามา แต่คนที่เพิ่งพูดว่าเธอลับหลังกลับพูดกับเธอว่า
“เธอ ถ่ายรูปนี้สวยจังเลยนะ”
พอเห็นพฤติกรรมแบบนี้ ตุ๊กลุกออกไปอ้วกในห้องน้ำเลย เพราะรับไม่ได้กับการเสแสร้งแบบนี้ หลังเหตุการณ์นี้ตุ๊กก็เก็บตัวเงียบ ไม่ค่อยคุยสุงสิงกับใคร แล้วก็อารมณ์ไม่ดีจนเพื่อน ๆ เริ่มเมาท์กันว่าตุ๊กแปลกไป ตุ๊กต้องปรับตัวปรับใจอยู่สักพักกว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ คงเป็นเพราะตอนนั้นเรายังเด็กมากจึงไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้มากนัก แต่พอโตขึ้น ได้เจอคนเยอะ เรียนรู้จิตใจคนมากขึ้น เราก็เข้าใจและไม่รับมาคิดต่อให้ตัวเองเป็นทุกข์
ในขณะเดียวกันตุ๊กคิดว่าตัวเองเริ่มสร้างนิสัยหรือกลไกบางอย่างเพื่อปกป้องตัวเองจากเรื่องที่ไม่อยากรับรู้ ที่เพื่อน ๆล้อกันว่าเป็นอาการ “หูดับ” คือตุ๊กสามารถปิดตัวเองไม่ให้ได้ยินเรื่องที่ไม่อยากได้ยินแม้กำลังนั่งคุยกันปกติในวงเพื่อน ๆ ก็ตาม แม้ฟังดูแปลก แต่ก็ช่วยให้ตุ๊กไม่รับความทุกข์จากเรื่องรอบตัวบางเรื่องได้ดี
“หลง” โดยไม่รู้ตัว
ใคร ๆ ก็มองว่า “นางแบบ” ต้องเป็นคนหวือหวา แต่ตุ๊กยังคงใช้ชีวิตส่วนตัวราบเรียบเหมือนเดิม ไม่เคยไปปาร์ตี้กินเหล้า หรือเที่ยวกลางคืนเลย พอเดินแบบเสร็จก็รีบกลับบ้าน มานั่งอ่านหนังสือ ถักนิตติ้ง คือใช้ชีวิตเชย ๆดูไม่เป็นนางแบบเลยจริง ๆ เหมือนเราออกไปสวมบทเป็นนางแบบ เสร็จงานก็กลับบ้านมาอยู่ในโลกของตัวเอง
คนทั่วไปอาจมองว่าตุ๊กเป็นคนง่าย ๆ และคงไม่ “หลง”ไปกับชื่อเสียงของตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วตุ๊กยอมรับว่ามีบางมุมที่ตุ๊กหลงไปกับสิ่งเหล่านี้บ้างเหมือนกัน ตุ๊กเคยเจอพี่ช่างแต่งหน้าที่เคยแต่งหน้าให้ตุ๊กสมัยเพิ่งเข้าวงการ พี่เขาพูดสะกิดใจตุ๊กมากว่า
“เจอน้องตุ๊กมาตั้งแต่อะไรก็ได้…”
กลายเป็นว่าที่คิดมาตลอดว่าเป็นคนง่าย ๆ เหมือนวันแรกที่เข้ามาในวงการ จริง ๆ แล้วเราเปลี่ยนไปโดยที่ไม่รู้ตัวเช่น ตุ๊กอาจขอให้พี่ช่างแต่งหน้าแต่งในแบบที่คิดว่าเหมาะกับเรา คิ้วต้องอย่างนั้น กรีดตาต้องแบบนี้ หรือบางครั้งตุ๊กก็“เคยตัว” กับการที่มีคนมาบริการและดูแลเราอย่างดี ทำให้กล้าขอให้คนทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ เช่น เวลาพาลูกไปกินข้าวนอกบ้าน ร้านอาหารไม่มีลูกค้าแล้ว ตุ๊กก็กล้าบอกว่า “ขอโทษนะคะ ช่วยปิดทีวีได้ไหมคะ” เพราะปกติไม่ให้ลูกดูทีวีเลย
ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ตุ๊กมั่นใจว่าถ้าเราไม่ได้เป็นคนที่มีคนรู้จัก คงไม่กล้าทำแน่นอน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตุ๊กพูดเสมอว่าไม่อยากให้ลูกทำงานในวงการบันเทิง แม้จะเป็นวงการที่ตุ๊กรักและสนุกกับงานที่ทำ แต่ก็รู้ว่าคนที่อยู่ในวงการนี้ต้องประคองตัวอย่างดี ซึ่งถ้าลูกเราทำไม่ได้ ก็ไม่อยากให้ลูกอยู่ในจุดที่ไม่รู้ตัวเองเช่นนี้
แบบอย่างของการให้อภัย
ตุ๊กมีแฟนคนแรกตอนใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นความรักที่บริสุทธิ์และน่าประทับใจมาก ผู้ชายคนนี้เป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกัน เขาจีบตุ๊กตั้งแต่เรียนชั้น ม. 3 จนจบม. 6 แม้แยกย้ายกันไปเรียนคนละมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ไกลกันเขายังคงพยายามจีบต่อไป จนตอนเรียนจบเราจึงได้เป็นแฟนกัน
พอตุ๊กเข้าวงการ เราก็ยังคบกันดี เพราะเขาเข้าใจธรรมชาติของเรา แต่แล้วตุ๊กกลับเป็นคนที่เปลี่ยนไป
เมื่อคบกันได้ประมาณสามปี ตุ๊กได้เจอกับ พี่บ๊วย(เชษฐวุฒิ วัชรคุณ) ยอมรับว่าตุ๊กนอกใจแฟน ด้วยการให้เหตุผลเข้าข้างตัวเองว่า “ความสัมพันธ์ของเราต้องไม่ดีพอทำให้เราปันใจให้คนอื่น” สุดท้ายก็ขอเลิกกับเขา ไม่ว่าเขาจะอ้อนวอนขอร้องเท่าไหร่ ตุ๊กก็ยังยืนยันคำเดิมว่าต้องเลิกกัน
แต่หลังจากนั้นเรากลับมาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เขากลับมาเป็นเพื่อนโดยไม่ได้หวังความสัมพันธ์อื่นใด เขาเป็นเพื่อนแท้ที่ตุ๊กยกให้เป็นต้นแบบของ “การให้อภัย” เพราะต่อมาเมื่อต้องเจอเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะให้อภัยคนที่เรารักได้อย่างไรตุ๊กก็นึกถึงเขา เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราให้อภัยคนที่รักได้เช่นกัน
มรสุมชีวิตที่ไม่คิดว่าจะต้องเจอ
ความรักของตุ๊กกับพี่บ๊วย เริ่มจากที่วันหนึ่ง ออร์แกน – ราศี วัชราพลเมฆ มาบอกว่า พี่บ๊วยฝากมาบอกตุ๊กว่า “เขาชอบตุ๊กมาก ชอบจริง ๆ ขอแค่ให้ได้ชอบก็พอ” หลังจากนั้นก็เงียบหายไป จนตุ๊กได้รู้จักและคุยกับพี่บ๊วยจริง ๆ ก็ตอนที่ตุ๊กโทร.ติดต่อเขาเรื่องฟิตเนสแห่งหนึ่ง เพราะพี่บ๊วยมีเพื่อนอยู่ที่ฟิตเนสแห่งนั้น เริ่มจากการโทร.ให้พี่เขาช่วยเช็กตารางว่างของฟิตเนสให้ จนกลายมาเป็นคุยกันทุกวันโดยไม่รู้ตัว
พี่บ๊วยเป็นคนน่ารัก สุภาพ และพูดเพราะมาก เราคุยโทรศัพท์กันอยู่ประมาณสิบเดือนจึงได้เจอหน้ากัน เพราะตอนนั้นตุ๊กยังมีแฟน ในใจจึงรู้สึกผิดมาก แต่สุดท้ายเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย เราจึงได้มาเจอกัน และสุดท้ายก็ตกลงคบกัน พี่บ๊วยเป็นคนไม่จู้จี้จุกจิก ส่วนตุ๊กเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง เราจึงคบกันได้อย่างมีความสุข เมื่อคบกันได้สองปีพี่บ๊วยก็ขอแต่งงาน เขาบอกว่ามั่นใจแล้วว่าตุ๊กคือรักแท้ของเขา
หลังจากแต่งงาน ตุ๊กย้ายเข้าไปอยู่กับครอบครัวของพี่บ๊วยการแต่งงานของตุ๊กเหมือนแค่การย้ายบ้าน ไม่ได้ปรับตัวสักเท่าไหร่ จึงทำให้จัดการกับความสัมพันธ์กับครอบครัวของเขาไม่ดีนัก จนเราตัดสินใจแยกบ้านเป็นครอบครัวเดี่ยว ตุ๊กก็รู้สึกว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น
ส่วนเรื่องการดูแลสามี ตุ๊กคิดว่าตุ๊กทำได้ดีแล้ว เพราะเราดูแลเรื่องอาหารการกิน เอาอกเอาใจ เซอร์ไพร้ส์ทุกเทศกาลแต่สุดท้ายก็รู้ตัวว่าตัวเองไม่มีศิลปะในการครองเรือน เพราะตุ๊กละเลยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรใส่ใจ เช่น พี่บ๊วยจะหอมแก้มตุ๊กทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แต่กลับไม่มีสักครั้งเลยที่เราจะทำแบบนี้กับเขา หรือพี่บ๊วยจะถามทุกวันว่า “เหนื่อยไหม” แต่ตุ๊กกลับไม่ใส่ใจกับคำพูดนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปตุ๊กรู้ว่าตัวเองเป็นคนได้รับความรักอยู่ฝ่ายเดียว แต่ไม่เคยมอบความรักกลับไปเลย
ตุ๊กไม่เคยรู้เลยว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้ใส่ใจจะกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เสียใจที่สุดในชีวิต
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
เรื่อง ชนกวนัน รักชีพ เรียบเรียง เชิญพร คงมา ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์ ผู้ช่วยช่างภาพ พรพรรษา อรคามิน, ภัณทิลา ทนงคงสวัสดิ์