อบรมตนเองเพื่อ ดับความโกรธ ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า โดย พระมหาบุญส่วน ปุญฺญสิริ
หากสอนใจตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว ยังไม่อาจดับเพลิงแห่งความโกรธที่ลุกไหม้เผาใจอยู่ลงได้ วิธีต่อมาให้ลองใช้วิธีอบรมใจตนเองด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น นึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงสอนภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย หากโจรใจเหี้ยมพึงเอาเลื่อยมาเลื่อยเธอให้ขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ถ้าผู้ใดยังคิดประทุษร้ายโจรนั้นอยู่ ผู้นั้นยังหาชื่อว่าทำตามโอวาทเราไม่”
พระองค์ทรงเตือนพวกเราว่า แม้จะถูกทำร้าย แต่ถ้าไม่โกรธ ความเจ็บนั้นจะอยู่เพียงแค่กายภายนอก แต่หากโกรธ ความเจ็บจากการถูกทำร้ายนั้นซึมลึกเข้าไปเป็นความทรมานของจิตใจ และฝังแน่นอยู่ในใจเป็นความเจ็บทรมานข้ามภพข้ามชาติ นั่นคือความพยาบาทอาฆาตจองเวรอย่างไม่มีวันจบ
เพียงไม่โกรธเท่านั้น ชีวิตก็เป็นอิสระแล้วจากการเป็นทาสของความพยาบาทจองเวร
อีกพระโอวาทหนึ่ง พระองค์ตรัสไว้ว่า
“ผู้ใดโกรธตอบ ผู้นั้นเลวกว่าผู้โกรธก่อน ผู้ไม่โกรธตอบชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธตัวแล้ว แต่ส่วนตนเป็นผู้มีสติสงบเสงี่ยมอยู่ ชื่อว่าประพฤติตนเป็นประโยชน์แก่คนทั้งสองฝ่าย คือทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น”
พระพุทธองค์ทรงสอนไม่ให้ตอบโต้คนที่กำลังโกรธอยู่ด้วยการโกรธตอบ แต่ทรงสอนให้อภัย ให้รีบดับความโกรธในใจของตนนั้นลงเสีย เป็นที่พึ่งแก่ตน ทั้งยังเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้ด้วย เพราะเมื่อเราไม่โกรธตอบ ไม่ทะเลาะตอบ ก็เหมือนไม่ยื่นมือออกไปรับการปรบของเขา เสียงปรบมือก็ไม่มี ปรบเมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง เมื่อไม่มีคู่ทะเลาะด้วย ไม่ช้าเขาก็เย็นลงได้เอง
อย่าเป็นนักเสียสละไม่เข้าท่า ที่จะขอเย็นเป็นคนสุดท้าย หลังจากคนอื่น ๆ เย็นลงแล้ว
…มีคำสอนของพระพุทธองค์ที่ควรนำมาอบรมตนอีก เช่น คำสอนที่อุปมาคนขี้โกรธว่าเหมือนกับดุ้นฟืนเผาผี ที่ไฟติดทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ จะจับข้างไหนของปลายทั้งสองก็ล้วนแต่ร้อน จะจับตรงกลางก็เปื้อน
หมายความว่า คนขี้โกรธเป็นคนที่คบยาก ใครที่คบด้วยต้องคอยระวังตัวอยู่เสมอ จะทำอะไรหรือจะพูดอะไรต้องคิดแล้วคิดอีก เกรงว่าจะทำให้เขาโกรธ
อีกประการหนึ่ง คนขี้โกรธมักเป็นคนเข้าใจอะไรได้ยาก ต่อให้พยายามอธิบายอย่างไรก็ไม่รับฟัง ใครสอนก็ไม่ได้ เขาจึงเป็นคนไม่มีเหตุผล เป็นคนที่ไม่ยอมใคร เอาแต่ใจตัวเอง จึงเป็นคนที่ผู้อื่นคบด้วยลำบาก อยู่ด้วยยาก เอาใจไม่ถูก
หรือจะหมั่นเตือนตนให้นึกถึงความปรารถนา 7 ประการของคนในเวลาโกรธกัน ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ดังต่อไปนี้
• อะโหวะตายัง ทุพพัณโณอัสสะฯ อยากให้คนที่ตนโกรธนั้น เป็นคนมีผิวพรรณน่าทุเรศทุรัง
• อะโหวะตายัง ทุกขังเสยยะฯ ไม่ปรารถนาให้อีกฝ่ายอยู่เย็นเป็นสุข แต่ต้องการให้เขาอยู่ร้อนนอนทุกข์ ประสบแต่วิบากกรรมเลวร้ายตลอดชีวิต
• นะปะจุตโถ เสยยะฯ ไม่ปรารถนาเห็นความสำเร็จของกันและกัน ความปรารถนาในอารมณ์ตอนนั้นคือ อยากเห็นอีกฝ่ายประสบแต่ความพินาศย่อยยับเสียหาย
• นะโภคะวา อัสสะฯ ไม่ปรารถนาเห็นความเจริญของกัน อยากเห็นแต่ความเสื่อมทรัพย์อับโชคแห่งกัน ไม่ว่าจะลงทุนอะไรหวังให้เขาพบแต่การขาดทุนสูญกำไร กลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้แต่หลังคาจะคุ้มกะลาหัว นั่นแหละจึงจะเป็นความสุข
• นะยะสะวา อัสสะฯ ไม่ปรารถนาจะเห็นอีกฝ่ายมีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นที่ชื่นชอบยอมรับของใคร ๆ ต่างฝ่ายต่างอยากเห็นกันและกันเป็นที่อับอายขายหน้าของคนทั่วไป
• นะมิตตะวาอัสสะฯ ไม่ปรารถนาจะเห็นอีกฝ่ายเป็นที่รักของใคร ๆ สิ่งที่อยากเห็นคือ ให้เขาเป็นคนที่คนทั้งหลายพากันรังเกียจ ชิงชัง ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมเป็นเพื่อนหรือร่วมหุ้นธุรกิจด้วย
• นะกายัสสะเภทา ปรังมะระณาสุคะติง สัคคังโลกัง อุปปัชเชยยะฯ อยากให้คนที่ตนโกรธนั้น แม้ตายไปก็จงตกนรกหมกไหม้ ไม่มีสวรรค์ชั้นใด ๆ เปิดประตูต้อนรับ ไปไหนมาไหนขอให้มีแต่ภยันตรายเกิดขึ้น จึงมักจะได้ยินคำสาปแช่งในทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ จากคนที่โกรธกัน
ทั้งหมดนี้คือความปรารถนาในใจของคนที่โกรธเกลียดกัน อยากให้เกิดขึ้นแก่กันและกัน ดังนั้นเวลามีใครมาทำให้โกรธ อย่ารีบโกรธเป็นฟืนเป็นไฟไปตามที่เขาตั้งใจยั่วยุ อย่าให้ความรู้สึกว่า “เจ็บใจจัง มันทำให้ฉันโกรธ” มาทำให้เขาคนนั้นสมปรารถนา ถามใจดูว่า
ยินดีจะรับยาพิษที่มีคนยื่นมาให้ด้วยประสงค์คิดร้าย เอามาดื่มกินหรือไม่
ยินดีจะรับก้อนถ่านไฟร้อน ๆ ที่มีคนยื่นให้มาด้วยประสงค์ร้าย เอามาวางไว้บนหัวของตัวเองหรือไม่
ยินดีจะลงไปคลุกตัวในหลุมคูถสกปรกเน่าเหม็น ตามคำท้าทายของเขาหรือเปล่า
ยินดีจะให้ใคร ๆ เขาโยนก้อนหินอันหนักอึ้งลงบนบ่า อย่างไร้ความจำเป็นหรือไม่
การที่ยินยอมให้ความโกรธเกิดขึ้นในใจ โดยไม่รีบดับมันในทันที ซ้ำยังเติมเชื้อลงไปเร่งความโกรธให้แรงขึ้น เท่ากับว่าได้ยินยอมให้ผู้อื่นมาทำร้ายตัวเองโดยตัวเองให้ความร่วมมือ
ดังนั้น กว่าจะได้พบกับคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่รู้ว่าเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอีกกี่ชาติ เมื่อชาตินี้มีโอกาสได้พบแล้ว อย่าพลาดที่จะรับเอามาปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตเข้าถึงรสแห่งพระธรรมปฏิบัติ ได้ไม่มากก็เอาแค่เรื่องความโกรธอย่างเดียวก่อน แม้จะดับกิเลสได้ไม่ทั้งหมด ขอเพียงแค่ให้ใจสงบได้ ไม่ถูกความโกรธเผาลน ก็เป็นลาภอันประเสริฐแล้วสำหรับมนุษย์ผู้ยังมีสติปัญญาต้อยต่ำอยู่เช่นตัวเรา
ดับความโกรธ
ที่มา : ล้างพิษความโกรธ โดย พระมหาบุญส่วน ปุญฺญสิริ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ (https://www.naiin.com/product/detail/169861)