ศิลปะของการเรียนรู้ตนเอง

ศิลปะของการเรียนรู้ตนเอง โดย หลวงพ่อโพธินันทะ

ศิลปะของการเรียนรู้ตนเอง โดย หลวงพ่อโพธินันทะ

เป้าหมายของการปฏิบัติภาวนาคือ การบรรลุถึงบรมธรรมสูงสุด ทั้งในความมืดและสว่าง ทั้งความสับสนวุ่นวายและความสงบศานติ จะต้องรู้ชัดต่อบรมธรรมให้ชัดเจนอยู่เสมอ และถ้าปรารถนาให้สัจธรรมแสดงตนอยู่ยาวนานก็จะต้องคอยเฝ้ารักษาจิตประภัสสรของตนเองอยู่เสมอ ๆ “จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี” ปราชญ์ย่อมตามรักษาจิตของตน ศิลปะของการเรียนรู้ตนเอง

พระพุทธองค์มุ่งชี้แนะให้มนุษย์บรรลุถึงความหลุดพ้นจากความยึดถือทั้งปวง สำเร็จมรรคผล เข้าถึงบรมธรรมอันสมบูรณ์ รู้แจ้งในความสมบูรณ์แห่งการดำเนินชีวิตด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ถึงพร้อมในความบริบูรณ์แห่งสัจธรรมในการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน “วันนี้อากาศร้อนจัง”

ปรมาจารย์ตั๊กม้อบอกว่า “อยากเห็นปลาให้มองน้ำ อยากเป็นพุทธะให้เฝ้ามองจิตใจ” เป็นการชี้แนะในการปฏิบัติที่ดีมาก แต่อย่าแสวงหาความเป็นอนัตตาด้วยการรับรู้อย่างแบ่งแยกแล้วใช้ความคิดระดับเหตุผลพิจารณาหาสิ่งที่ตรงข้ามกับความมีตัวตน จิตเดิมที่ยังไม่ได้ปรุงแต่งมันปกติอยู่แล้ว เป็นไปได้ไหมที่เราจะคอยรักษาจิตที่ปกติของเราไว้ ดังนั้นการฝึกฝนหรือปฏิบัติภาวนาก็เพื่อการดำรงอยู่บนวิถีของจิตที่ปกตินี้แหละ มันเป็นการฝึกฝนที่มหัศจรรย์และมีศิลปะอย่างยิ่ง

ถ้าเรามีความศรัทธาต่อจิตประภัสสรของเราอย่างแรงกล้า แล้วใช้จิตประภัสสรเป็นฐานของการปฏิบัติภาวนา จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องและจะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ปัญญาญาณก็จะหยั่งลงสู่ก้นบึ้งของจิตใจ เข้าถึงความเป็นเองแล้วแสดงออกร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอันเป็นวิถีของธรรมชาติแห่งพุทธะ แล้วรู้ชัดในความเป็นองค์รวมของสรรพสิ่งในทุกขณะของการดำรงอยู่ นี่คือ “เอกายนมรรค” นี่คือวิถีของความเป็นเอกภาพของโพธิจิตแห่งพุทธะ

เราไม่อาจเข้าถึงความเป็นศิลปะของการดำรงอยู่ได้เลย หากเรายังดำเนินชีวิตด้วยความรู้สึกว่า มีตัวเราเป็นศูนย์กลางของการรับรู้อย่างแบ่งแยก แล้วเห็นสรรพสิ่งแตกต่างกัน นี่คือประเด็นที่สำคัญยิ่งที่เราจะต้องขจัดหรือไปให้พ้นมัน (ผู้รู้-สิ่งที่ถูกรู้ : นามรูป)

การศึกษาที่แท้จริง

การศึกษาที่แท้จริงจะทำให้เราเข้าใจตัวเองและทำให้เกิดปัญญาญาณ เข้าใจโลกจากประสบการณ์จริง ด้วยการรู้แจ้งชัดว่าสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของสรรพสัตว์คือสุญญตา จะทำให้เราเข้าถึงความเป็นพุทธะในขณะนั้นเอง

มันเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่งที่เราดำเนินชีวิตด้วยการรู้ชัดในความเป็นองค์รวมอย่างเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งในแต่ละขณะ ไม่ว่าเราจะคิด จะพูด จะกระทำทางกาย เราจะรู้ชัดถึงสุญญตาที่ครอบคลุมทุก ๆ สิ่งไปด้วย นี่คือการดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ที่ปราศจากปัญหาทั้งปวง อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา หรือเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติภาวนา

มนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ตนเองเพื่อเข้าใจ “What is” สิ่งที่เราเป็นอยู่จริง ๆ ในแต่ละขณะว่าเราเป็นอยู่อย่างไรตามความเป็นจริง สัตว์ทุกชนิด นก ปลา ไก่ ฯลฯ มันก็ต้องเรียนรู้เพื่อการดำรงอยู่อย่างปลอดภัย

ทำไมเราดำเนินชีวิตอย่างแบ่งแยกกับสรรพสิ่ง นี่คือปัญหาของชีวิต หากเรายังไม่รู้ชัดโทษภัยของการดำเนินชีวิตอย่างนี้ เราก็จะไม่แสวงหา “หนทาง” ที่จะไปพ้นมัน

จิตประภัสสรของเราเป็นหนึ่งเดียวกับอันติมสัจจะหรือสุญญตาซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้ และเป็นรากฐานของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง เราต้องค้นหามัน ต้องพัฒนาให้มันแสดงตัวออกมาร่วมกับการทำงานของขันธ์ 5 ในชีวิตประจำวันของเรา ปัญหาต่าง ๆ จึงจะสิ้นสุดลง แล้วเข้าถึงความสุขที่แท้จริง

ปุถุชนดำรงชีวิตอยู่ด้วยการรับรู้ ด้วยประสาทสัมผัส แล้วสรุปว่ามันคือความจริงตามที่เราลงความเห็นที่ขัดแย้งกันเป็นคู่ ๆ สูง-ต่ำ ดำ-ขาว ยาว-สั้น ฯลฯ จึงเกิดการยึดถืออันเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ทางสายกลาง อริยมรรคมีองค์ 8 เท่านั้น จงอย่าเอาไตรลักษณ์มาเป็นตัวปฏิบัติ เพราะจะทำให้ตกไปสู่ของคู่โดยไม่รู้ตัว เกิด-ดับ มีตัวตน-ไม่มีตัวตน ซึ่งยังเป็นความสุดโต่งทั้งสอง ไม่ใช่ “หนทาง” ตัวปฏิบัติคือหลักไตรสิกขา (อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา)

 

ที่มา  ทางสายกลางสู่อิสรภาพแห่งชีวิต โดย หลวงพ่อโพธินันทะ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Photo by Tim Foster on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

การให้ทานที่ได้ผลสมบูรณ์ โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.