อธิษฐาน อย่างไรไม่ให้เป็นกิเลส โดย ดร. สนอง วรอุไร
ดร. สนอง วรอุไร ได้แสดงทรรศนะในเรื่องของการ “อธิษฐาน” ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
การอธิษฐานที่ถูกธรรม
คำว่า “อธิษฐาน” หมายถึง การตั้งจิตปรารถนาให้เข้าถึงความดีงามในกาลข้างหน้า แต่หากอธิษฐานให้เกิดเป็นความชั่วร้าย เช่น อธิษฐานให้คนค้ายาบ้าต้องวิบัติ เช่นนี้เรียกว่า “สาปแช่ง”
เรื่องนี้ในครั้งที่ผู้เขียนบวชเป็นภิกษุ ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ เคยถามท่านเจ้าคุณโชดกในทำนองที่ว่า
ผู้เขียน : ท่านเจ้าคุณอาจารย์ครับ การอธิษฐานให้เข้าถึงพระนิพพานไม่ถือว่าเป็นกิเลสหรือครับ
ท่านเจ้าคุณโชดก : การจะเข้าถึงพระนิพพานได้จะต้องมีกิเลสหรือหมดกิเลส
เพียงเท่านั้นก็ทำให้ผู้เขียนเข้าใจเรื่องการอธิษฐานได้อย่างถ่องแท้ จึงมิได้ตั้งคำถามเรื่องนี้อีกต่อไป
ดังนั้นเมื่อบุคคลได้อธิษฐานแล้ว ต้องทำเหตุให้ถูกตรง หากอธิษฐานเข้าถึงพระนิพพาน เหตุถูกตรงก็คือต้องพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดกิเลสที่ผูกมัดใจทั้งสิบอย่าง (สังโยชน์ 10) ให้หมดไป เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อมแล้ว ความสมปรารถนาจึงจะเกิดขึ้นได้
ตรงกันข้าม หากอธิษฐานขอให้รวย อธิษฐานขอให้มีบ้านหลังใหญ่ ถือว่าเป็นกิเลส เพราะเป็นการนำจิตเข้าไปผูกติดเป็นทาสของทรัพย์วัตถุ อธิษฐานขอให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นกิเลส เพราะเป็นการนำจิตเข้าไปเป็นทาสของโลกธรรม ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านี้ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์จะไม่อธิษฐาน รวมถึงไม่อธิษฐานหรือกระทำเหตุใด ๆ ที่จะนำสู่การเกิดเป็นสัตว์ในสุคติภพ เพราะผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ย่อมเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในกฎแห่งกรรม จึงไม่อธิษฐานให้เข้าถึงโลกิยสมบัติ และไม่ทำเหตุใด ๆ ให้ต้องเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป ตรงกันข้าม ผู้รู้แจ้งเห็นจริงนิยมอธิษฐานให้เข้าถึงอิสรภาพที่สมบูรณ์ของชีวิต หรืออธิษฐานให้พ้นไปจากอำนาจของกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ แล้วทำเหตุให้ถูกตรง การอธิษฐานเช่นนี้จึงไม่ถือว่าเป็นกิเลส
อธิษฐานบารมี
การอธิษฐานคือการตั้งความปราถนาในสิ่งที่ดีงาม แล้วทำเหตุให้ตรงด้วยตัวเอง ซึ่งนับเป็นบารมีข้อหนึ่งในบารมี 10 ประการ เมื่อบุคคลได้ทำให้เกิดมีขึ้นแก่ตนเองแล้ว ความสำเร็จย่อมเป็นที่หวังได้
การอธิษฐานจึงต่างจากการขอและการบนบาน อันเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความต้องการในสิ่งที่ขาด เหมือนขอทานขอเงิน ซึ่งศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้ประพฤติ เพราะวิถีแห่งการขอนั้นไม่ถูกตรงตามธรรม อีกทั้งยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงความด้อยศักยภาพของผู้ขอด้วย
ตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าสอนว่า ทุกอย่างต้องทำเหตุให้ถูกตรงด้วยตัวเอง บุญบารมีจึงจะเกิด ดังตัวอย่างเช่นการอธิษฐานของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์และเป็นเทวดาอยู่นานหลายกัป เพื่อสั่งสมบารมีให้เต็มเปี่ยม อันเป็นพื้นฐานรองรับการตรัสรู้เป็นพระปัญญาธิกพุทธเจ้า
กดเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป>>>