ใจของเรานั้นมีหน้าที่ดำริไปเรื่อย ๆ ดำริไปดำริมาไม่รู้จักหยุดนิ่ง ในที่สุดไม่ว่าดำริไปเจอเรื่องที่สบายใจหรือไม่สบายใจ ก็ย่อมก่อให้เกิดทุกข์ได้ทั้งนั้น (ใช้ทุกข์ดับทุกข์)
เช่น ดำริไปเจอเรื่องสบายใจ มีความสุข ตัณหาก็ปรุงแต่งว่าอยากพบเจอเรื่องนั้นบ่อย ๆ อยากให้เรื่องนั้นหรือสิ่งนั้นคงอยู่ตลอดไป คนที่คิดอย่างนี้ สุดท้ายก็เป็นทุกข์
เมื่อใจดำริไปเจอเรื่องไม่สบายใจ ตัณหาก็ปรุงแต่งว่าไม่อยากเจอเรื่องนี้เลย ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเราเลย…ก็เป็นทุกข์อีกเช่นกัน
วิธีดับทุกข์เพื่อสัมผัสภาวะนิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้ มีอยู่ 2 วิธีง่าย ๆ ดังนี้
1. รู้ทันกาย ใช้กายดับทุกข์
วิธีนี้คือให้ใจเกาะกายไว้เป็นที่พึ่ง กายเป็นเกราะกำบังทุกข์ ไม่ว่ากายจะทำหรือไม่ทำอะไรก็เอาใจตามกายไป เกาะติดอาการนั้นไปตลอด ยกตัวอย่างเช่น
– ถ้ากายยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม ใจก็เกาะอยู่ที่การยกนั้น
– ถ้ากายวางแก้วน้ำลง ใจก็เกาะอยู่ที่การวางนั้น
– ถ้ากายนั่งอยู่ ใจก็รู้ว่านั่ง
– ถ้ากายยืนอยู่ ใจก็เกาะอยู่ที่อาการยืน
– ถ้ากายเดินอยู่ ใจก็เกาะอยู่ที่อาการก้าวเดิน
– ถ้ากายนอนอยู่ ใจก็เกาะอยู่ที่อาการเอนตัวนอนนั้น
– ถ้ากายหายใจอยู่ ใจก็เกาะอยู่ที่ลมหายใจเข้า – ลมหายใจออก
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ให้ใจอยู่กับการเคลื่อนไหวของกายตลอดเวลา ไม่ให้คลาดสายตา ใจก็จะปลอดภัย เพราะไม่แวบไม่หลุดไปดำริถึงเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์
เมื่อเราดับทุกข์ได้ครั้งหนึ่ง ก็สัมผัสนิพพานด้วยการ “รู้กาย” ได้ครั้งหนึ่ง
2. รู้ทันใจ ใช้ใจดับทุกข์
ขณะที่ใจเป็นทุกข์นั้น ใจต้องกำลังดำริถึงอะไรสักอย่างอยู่แน่นอน ดังนั้น เมื่อความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา ให้เราเอาใจติดตามความรู้สึกนั้นไป ยกตัวอย่างเช่น
– ความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้น ก็ติดตามเฝ้าดูความไม่สบายใจนั้นไปเรื่อย ๆ
– ความรู้สึกหงุดหงิดใจเกิดขึ้น ก็ติดตามเฝ้าดูความหงุดหงิดไปเรื่อย ๆ
– ความหวาดกลัวเกิดขึ้น ก็เฝ้าดูความหวาดกลัวไปเรื่อย ๆ
– ความรำคาญเกิดขึ้น ก็เฝ้าติดตามความรำคาญไปเรื่อย ๆ
แม้แต่ความดีใจหรือพอใจเกิดขึ้น ก็ให้ติดตามเฝ้าสังเกตความรู้สึกดีใจนั้นไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
หากเราตามสังเกตเฝ้าดูไปเรื่อย ๆ สักพักจะเห็นว่าความไม่สบายใจเริ่มหายไป แล้วเราก็คิดเรื่องอื่น มีความรู้สึกอื่นเข้ามาแทนที่ ถ้าเราฝึกสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเราจะรู้ทันใจของตัวเองว่า ความรู้สึกที่ทำให้เป็นทุกข์นั้นเกิด – ดับอยู่ตลอดเวลา
การตามสังเกตใจตัวเองนี้อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายคน อาตมาขอให้กำลังใจว่า ให้ลองสังเกตความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจเราไปเรื่อย ๆ จะดูผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่เป็นไร
สังเกตใจร้อยครั้ง แต่อาจจะรู้ทันใจแค่ครั้งเดียวก็ไม่เป็นไร เพราะรู้ทันใจครั้งหนึ่ง เราก็ดับทุกข์กันได้ครั้งหนึ่ง เราก็ได้นิพพานกันครั้งหนึ่ง…ซึ่งนับว่าประเสริฐแล้ว
ที่มา นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
นิพพานเทียมง่าย ๆ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ธรรมะโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ