เฉิน กวงเปียว

มรดกทางจิตวิญญาณจาก เฉิน กวงเปียว มหาเศรษฐีผู้มีแต่ “ให้”

มรดกทางจิตวิญญาณจาก เฉิน กวงเปียว – ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2010 บิล เกตส์และวอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีต่างวัยแต่ใจบุญเหมือนกัน ได้เดินทางไปที่ประเทศจีนเพื่อจัดงานเลี้ยงระดับเอกซ์คลูซีฟ หาแนวร่วมในโครงการ The Giving Pledge ซึ่งเชิญเฉพาะมหาเศรษฐีตัวจริงเสียงจริงเท่านั้น ทว่ามหาเศรษฐีชาวจีนส่วนใหญ่กลับปฏิเสธที่จะตอบรับคำเชิญดังกล่าว

The Giving Pledge เป็นโครงการล่าสุดที่บิลและวอร์เรนร่วมกันก่อตั้งขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อชักชวนให้เหล่ามหาเศรษฐีทั่วโลกลงชื่อปฏิญาณตนว่า จะมอบทรัพย์สินร้อยละ 50 ให้กับองค์กรการกุศลหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้มหาเศรษฐีคนอื่นๆ หันมาทำการกุศล

สื่อมวลชนคาดการณ์ว่า เหตุที่มหาเศรษฐีจีนไม่ใคร่จะยินดีกับคำเชิญนี้เท่าที่ควร เนื่องมาจากพวกเขากลัวที่จะเปิดเผยตัวว่าเป็นคนร่ำรวยอันดับต้นๆ ของประเทศ กลัวถูกวิจารณ์ว่าทำบุญเอาหน้า หรือไม่ก็อาจจะกลัวถูกสอบสวนเรื่องภาษี ฯลฯ

ทว่าก่อนถึงวันงาน มหาเศรษฐีจีนคนหนึ่งเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงบิลและวอร์เรนว่า “ผมยินดีที่จะบริจาคเงินให้กับการกุศล แต่ผมจะไม่ให้แค่ร้อยละ 50 หรอกนะ ผมจะยกเงินทั้งหมดให้เลย…”

มหาเศรษฐีผู้ที่เขียนจดหมายฉบับนี้มีชื่อว่า เฉิน กวงเปียว (Chen Guangbiao) เจ้าของกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการรีไซเคิลขนาดใหญ่ในเมืองนานจิง มณฑลเจียงซู ประมาณกันว่าทรัพย์สินในครอบครองของเขา ณ ปัจจุบันน่าจะสูงกว่า 5 พันล้านหยวน (ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท)

เฉิน กวงเปียว
ลงแรงช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว – เครดิตภาพ @scmp.com

 

เฉิน กวงเปียว
บริจาคเงินอีกด้วย – เครดิตภาพ @scmp.com

ชาวจีนรู้จักเฉิน กวงเปียว เป็นอย่างดีในฐานะมหาเศรษฐีใจบุญ เขาเป็นที่จับตามองของสื่อมวลชนครั้งแรกเมื่อตอนที่เสฉวนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2008 ครั้งนั้นเขานำรถหกล้อจำนวน 60 คัน เครื่องจักรอุปกรณ์กว่า 100 ชิ้น และทีมงานอาสาสมัครจำนวนมาก เดินทางถึงเขตธรณีพิบัติภายในหนึ่งวันหลังเกิดเหตุ และสามารถช่วยคนที่ติดอยู่ในซากตึกได้กว่า 100 คน

อันที่จริง ตลอดชีวิต 50 ปีของเขา เฉิน กวงเปียวได้ช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยากรวมแล้วมากกว่า 7 แสนคน ทุกๆ ปีเขาจะแบ่งผลกำไรของบริษัทครึ่งหนึ่งเข้าองค์กรการกุศล จนถึงปัจจุบันเขาบริจาคเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านหยวน ทำให้เฉิน กวงเปียว ได้รับการจัดอันดับให้เป็น China’s Most Generous Person 2008 ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทยของจีน

เฉิน กวงเปียวชอบทำบุญเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเคยยากจนมาก่อน เขาเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตะวันออกของเมืองนานจิง พ่อและแม่เป็นชาวนาที่ยากจนมาก ถึงขนาดที่เคยสูญเสียลูกชายหนึ่งคนและลูกสาวหนึ่งคนไปเพราะความอดอยากอย่างน่าเวทนา

อย่างไรก็ตาม แม้ครอบครัวเฉินจะยากจน แต่พ่อแม่ไม่เคยสอนลูกๆ ให้เป็นคนเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่เงิน ตรงกันข้าม พ่อมักจะสอนเฉิน กวงเปียว ว่า คนดีคือคนที่รู้จักอดทนและมีน้ำใจ นอกจากนี้เขายังมีเพื่อนบ้านที่มีจิตใจอารี ตอนที่พ่อแม่ไม่มีเงินซื้อหนังสือและอุปกรณ์การเรียนให้เขา เพื่อนบ้านก็ช่วยออกเงินซื้อให้ ดังนั้นแม้ชีวิตวัยเด็กของเฉิน กวงเปียว จะมีเวลาที่ท้องหิวมากกว่าเวลาที่ท้องอิ่ม แต่หัวใจของเขากลับอิ่มเต็มอยู่ตลอดเวลา

เนื่องจากครอบครัวยากจน แต่อยากเรียนหนังสือ เฉิน กวงเปียวจึงต้องหาเงินส่งเสียตัวเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เด็กชายใช้เวลาสั้นๆ ช่วงพักเที่ยง หาบถังเปล่าสองใบ เดินเท้าไปยังบ่อน้ำที่อยู่นอกหมู่บ้านประมาณสองกิโลเมตร เพื่อตักน้ำมาขายให้เพื่อนบ้าน ด้วยวิธีนี้เด็กชายสามารถหาเงินได้วันละ 0.3 หยวน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของค่าแรงสำหรับผู้ใหญ่

เฉิน กวงเปียว
เครดิตภาพ @beijingcream.com

ตลอดช่วงหน้าร้อนในปีนั้น เขาหาเงินได้มากพอที่จะจ่ายค่าเทอมให้ตัวเอง และยังสามารถช่วยจ่ายค่าเทอมให้เพื่อนบ้านวัยเดียวกันอีกคนหนึ่งด้วย

เฉิน กวงเปียวจำได้ดีว่า เมื่อครูประจำชั้นประกาศชมเชยเขาต่อหน้าเพื่อนๆ ทั้งห้อง และให้รางวัลเขาเป็นดอกไม้ที่พับด้วยกระดาษสีแดง เขารู้สึกเป็นเกียรติและมีความสุขที่สุดในโลก และความสุขใจครั้งนั้นกลายเป็นเครื่องเตือนใจเขาว่า “การให้” คือสิ่งที่ทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง และเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาพยายามช่วยคนที่ลำบากกว่าในเวลาต่อมา

ตอนอายุ 13 ปี เฉิน กวงเปียว เริ่มธุรกิจอย่างใหม่ เขาขี่จักรยานวันละ 10 กิโลเมตรเพื่อตระเวนขายไอศกรีม พออายุ 17 ปี เขาก็มีเงินเก็บมากถึง 20,000 หยวน ซึ่งทำให้เขาเป็นคนหนุ่มที่รวยที่สุดในเมือง

แม้ธุรกิจจะดำเนินไปด้วยดี เฉิน กวงเปียว ก็ยังอยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เขาสมัครเรียนด้านแพทย์แผนจีนที่มหาวิทยาลัยนานจิงในปี 1985 หลังเรียนจบ เขาตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ที่นานจิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจียงซู และเริ่มทำงานเป็นเซลส์ขายยา เครื่องมือแพทย์ และรถสกูตเตอร์ ฯลฯ

ปี 2003 รัฐบาลจีนต้องการรื้อสนามกีฬาเก่าในเมืองนานจิงให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือน ซึ่งงานนี้ไม่มีค่าจ้าง แต่ผู้รับเหมาจะได้สิทธิในการจัดการกับเศษซากที่ถูกรื้อถอนทั้งหมด เฉิน กวงเปียว ประเมินว่าเศษเหล็กน่าจะขายได้ราคาดี จึงตัดสินใจรับงานนี้ในที่สุด เฉพาะเหล็กอย่างเดียวก็ทำรายได้ให้เขามากถึง 4 ล้านหยวน

งานนี้ทำให้เฉิน กวงเปียว มองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจจากกองขยะ เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัทรีไซเคิลชื่อว่า Jiangsu Huangpu Renewable Resources Co., Ltd. ซึ่งนอกจากจะสามารถขายเศษเหล็กและโลหะให้กับโรงงานแล้ว ก้อนซีเมนต์ที่ได้จากการรื้อถอนยังถูกนำมารีไซเคิลเป็นผงคอนกรีต ซึ่งเมื่อนำมาผสมกับน้ำ ปูนซีเมนต์ และสารเคมีบางตัวก็จะสามารถทำเป็นวัสดุสำหรับใช้ในงานก่อสร้างได้ถึง 7 ชนิด เช่น วัสดุรองพื้น อิฐมอญ และอิฐบล็อก ฯลฯ

ภายในเวลาไม่กี่ปี บริษัทของเฉิน กวงเปียว ก็เติบโตขึ้นจนปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 4 พันคน และมีรายได้ต่อปีมากกว่า 13.3 พันล้านหยวน เขาได้ขยายธุรกิจนี้ไปยังปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ฮ่องกง ซานตง เหอเป่ย์ และเสฉวน

เฉิน กวงเปียว
เครดิตภาพ @europe.chinadaily.com.cn

แม้จะร่ำรวยเข้าขั้นมหาเศรษฐี แต่เจ้าของบริษัทผู้นี้กลับนิยมชีวิตที่สมถะและเรียบง่าย เขาชอบรับประทานอาหารในโรงอาหารเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป ไม่ถือตัว ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และรักภรรยามาก ช่วงปิดเทอม เขามักจะพาภรรยาและลูกชายทั้งสองไปพักอยู่กับคนที่เขาเคยให้ความช่วยเหลือในแถบชนบท เพื่อให้ลูกๆ รู้จักความทุกข์ยากที่คนจนต้องเผชิญ

ตามประเพณีจีน พ่อแม่มักจะให้ลูกๆ สืบทอดมรดกที่ตนเองสร้างสมมา ดังนั้น การให้จนหมดกระเป๋าของเฉิน กวงเปียว จึงเป็นการกระทำที่ผิดประเพณีโดยสิ้นเชิง แต่เขาก็เชื่อว่า ลูกๆ และสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวจะเข้าใจการตัดสินใจของเขา

“พ่อแม่ไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้ผม และผมก็ไม่ปรารถนาจะทิ้งอะไรไว้ให้ลูกๆ นอกจากความมั่งคั่งทางจิตวิญญาณ ซึ่งได้มาจากการทำงานการกุศล”

โชคดีว่าเฉิน กวงเปียว ไม่ได้เชื่อไปเอง เพราะในเวลาต่อมาเขาได้ยินลูกชายคนเล็กพูดว่า

“พ่อของผมเป็นคนใจบุญระดับท็อปของประเทศจีน แต่ผมจะเป็นคนใจบุญระดับท็อปของโลก”

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  hollywoodreporter.com

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.