หลายๆ คนที่ได้อ่านเจอบทความดีๆ หรือข้อคิดสอนใจในการจัดการกับความทุกข์ในตัวเองออกไปได้แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลามาจัดการกับความสุข ของตัวเองกันดูบ้าง อย่างที่เราได้เคยพูดกันมาบ่อยๆ แล้วว่าความสุขหรือความทุกข์ทุกอย่างล้วนอยู่ที่ใจของตัวเราเองทั้งนั้น ดังนั้นตัวการแรกที่ต้องเริ่มสะสางก็ต้องเริ่มจากจิตใจของเราเองเป็นอย่างแรกก่อนค่ะ แล้วปัจจัยอะไรล่ะที่ทำให้คนเรามีความสุข? อันนี้ถือเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เพราะว่าแต่ละคนมีรสนิยมในการเสพความสุขที่แตกต่างกันไป บางคนเพียงแค่ได้นั่งอยู่เงียบๆ คนเดียว มีเวลาเป็นส่วนตัวสักวันละ 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นความสุขมากแล้ว
ในขณะที่บางคนกลับมองว่าการจะมีความสุขได้นั้นจะต้องเกิดจากการเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ นอนแช่น้ำในอ่างจากุชชี่สุดหรู จิบไวน์เคล้าเสียงเพลงคลอเบาๆ และมีมือนุ่มๆ ของคนรู้ใจคอยนวดหลังนวดไหล่ให้อยู่ไม่ห่าง จะเห็นได้ชัดเจนว่าความสุขเกิดจากความต้องการส่วนตัวของแต่ละบุคคลล้วนๆ และเกิดจากตัวคุณเองล้วนๆ ความสุขเป็นความรู้สึกเหมือนกันกับความทุกข์ ถ้าจิตใจเราสามารถสร้างและขจัดความทุกข์ออกไปได้ด้วยตัวเองแล้ว จิตใจของเราก็ย่อมจะสร้างและขจัดความสุขออกไปจากใจเราได้ด้วยตัวเราเองเช่นกัน ในที่สุดแล้วก็จะมีความสุขได้ พื้นฐานที่ง่ายที่สุดคือการเปิดใจให้กว้าง และมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ ลด ละ เลิกความวิตกกังวล และเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลายทิ้งไป ฝังกลบความวุ่นวายในจิตใจ รวมทั้งความต้องการต่างๆ นานาลงไปดูสักครู่ แล้วคุณจะรู้ว่า…ความสุขนั้นสร้างได้
เลือกรับแต่สิ่งที่ดี
เรามักจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า คุณจะเป็นดั่งเช่นสิ่งที่คุณกิน หรือ You are what you eat ซึ่งเป็นประโยคอมตะที่ได้รับการพิสูจน์มานานแล้วว่าเป็นความจริง แต่ประโยคนี้จะเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ได้รับทางการคืออาหารการกินเท่านั้น หรือให้ความสำคัญเฉพาะกับกระเพาะอาหารและลิ้น ในขณะที่ ตา หู จมูก กาย และใจ ร่างกายส่วนต่างๆ ที่เหลือก็มีความสามารถในการรับสัมผัสไม่น้อยกว่าลิ้นแต่อย่างใด
หรือแม้แต่เด็กที่เกิดในครอบครัวขี้โมโหจะกลายเป็นคนโมโหง่ายด้วย คนที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนพูดจาไพเราะก็จะพูดจาไพเราะไปด้วย คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความวิตกกังวล ลูกจะเติบโตเป็นคนที่ขี้กังวล หรือเป็นเด็กที่มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เป็นต้น จากสิ่งที่เราพูดไปทั้งหมดนี้ เราจะไม่ได้เป็นดั่งเช่นสิ่งที่กินเพียงอย่างเดียว แต่เราจะเป็นดังเช่นสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้กลิ่น สิ่งที่ได้รับสัมผัส และสิ่งที่ได้รับรู้ทางใจด้วย
สรุปก็คือ ทั้งรูป (อาหาร) และนาม (ความรู้สึก) เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายแล้ว คุณก็จะเป็นดังเช่นสิ่งที่คุณรับมา ดังนั้นวิธีเดียวที่จะพัฒนาตนเองคือ ต้องรู้จักเลือกรับสัมผัสเช่นเดียวกับรู้จักเลือกกิน
ดังนั้นการชื่นชมในสิ่งที่ดีในตัวคนอื่นๆ ก็คือการเลือกรับสิ่งนั้นเข้าสู่ตัว เช่น ถ้าเพื่อนได้เลื่อนตำแหน่ง ย่อมต้องมีสิ่งดีซ่อนอยู่ในตัวเขา อาจจะเป็นความขยัน ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีมนุษยสัมพันธ์ ความเฉลียวฉลาด การชื่นชมก็คือการที่เลือกรับสัมผัสแต่สิ่งที่ดีๆ เข้าสู่ตัว ส่วนการริษยา ตำหนิ มองโลกในแง่ร้ายจะทำให้มองทุกอย่างเป็นลบไปหมด นั่นก็หมายความว่าสัมผัสที่ได้รับก็จะเป็นลบตามไปด้วย
การยกย่องจะดีกว่าการวิจารณ์ ยกเว้นว่าเป็นการวิจารณ์เพื่อให้ปรับปรุงหรือวิเคราะห์ แต่ก็ต้องไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึกร่วมเข้าไปกับการวิจารณ์นั้น ใช้สมองซีกซ้ายคือซีกของตรรกะในการให้เหตุผลสมองส่วนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ และวิจารณ์ออกไปด้วยใจที่เป็นกลาง ถ้าเช่นนี้ถือว่าไม่ได้รับสิ่งนั้นเข้าสู่ตัว
การคิดบวก
คำว่า ทำไม่ได้ ไม่แน่ใจ อย่าดีกว่า จะไหวหรือ ไม่กล้าหลอก ฯลฯ คำเหล่านี้เปรียบเสมอนใบมีดอันคมกริบที่จะจัดความรู้สึกเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างสมองส่วนรับกับสมองส่วนสั่งการให้ขาดสะบั้นออกจากกัน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเรียนรู้ขนาดไหนก็ไม่มีทางสร้างผลผลิตจากความรู้นั้นออกมาได้ หรือแม้แต่จะสอนสิ่งที่ตัวเองรู้ให้คนอื่นเข้าใจก็ยังทำไม่ได้ เพราะการสอนต้องพูดใช้ท่าทางประกอบ ซึ่งต้องอาศัยสมองส่วนสั่งการ
>>อ่านต่อหน้าถัดไป<<