” เลี้ยงลูก ” แบบนี้ไง รับรองว่า ใคร ๆ ก็รุมรัก
“ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” คือประโยคที่อาจฟังดูแรงแต่คือเรื่องจริง เลี้ยงลูก
พ่อแม่หลายคนมักมองข้ามข้อเสียของลูกตัวเอง จนลืมไปว่าพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกเมื่ออยู่ในที่สาธารณะอาจดูไม่น่ารักน่าชังเท่าไหร่ เราจึงนำคำแนะนำดีๆ มาฝาก
คุณเลี้ยงลูกแบบไหน
การเลี้ยงลูกแบบ “เผด็จการ”
ลักษณะการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการคือ พ่อแม่จะวางกฎในบ้านอย่างเข้มงวด ไม่มีการอธิบายเหตุผล ไม่มีทางเลือกให้ลูก รวมถึงไม่พยายามแสดงความรักและความอบอุ่นที่มีต่อลูกด้วย
ผลที่เกิดกับลูกคือ ลูกมักจะเชื่อฟังแต่ไม่มีความสุข ไม่ค่อยภาคภูมิใจในตัวเอง และมักจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต อีกทั้งส่วนใหญ่มักแสดงอารมณ์ก้าวร้าวเมื่ออยู่นอกบ้านหรือขี้อายมากผิดปกติ
เปลี่ยนใหม่…ลองเลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตยดูบ้าง
ลักษณะของการเลี้ยงลูกแบบนี้คือ พ่อแม่จะฝึกระเบียบวินัยให้ลูกอย่างสม่ำ เสมอ มีความหนักแน่นในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก คาดหวังในตัวลูกตามวุฒิ ภาวะ วางกฎระเบียบชัดเจน แต่ก็ยอมรับฟังความคิดเห็นและอารมณ์ของลูกด้วย มี การสื่อสารที่ดีโดยใช้เหตุผล มอบความอบอุ่นใส่ใจในความทุกข์หรือสุขของลูก แต่เมื่อลูกไม่เป็นไปดังหวังก็จะให้อภัยมากกว่าลงโทษ และติดตามพฤติกรรมของ ลูกแต่ไม่ควบคุมจนเกินไป
ผลที่เกิดต่อลูกคือ ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง รับผิดชอบต่อสังคม ควบคุมตัว เองได้ รู้จักให้ความร่วมมือกับผู้อื่น มีความสามารถ และมักประสบความสำเร็จในชีวิต
เลี้ยงลูกแบบ “ตามใจ”
ลักษณะของการเลี้ยงลูกแบบตามใจคือ พ่อแม่จะไม่ค่อยเรียกร้องอะไรจากลูก ทั้งยังไม่ตั้งกฎเกณฑ์ด้วย หากมีการฝึกระเบียบวินัย ก็เป็นแบบไม่สม่ำเสมอ เพราะไม่ค่อยคาดหวังอะไรในตัวลูกมากนัก เนื่องจากมองว่าลูกเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลาพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้ จะชอบให้เกินกว่าที่ลูกร้องขอและมักทำตัวเป็นเพื่อนกับลูก
ผลที่เกิดต่อลูกคือ เด็กมักไม่มีความสุข เพราะควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ ผลการเรียนไม่ค่อยดี ไม่มีระเบียบ ขาดแรงจูงใจ ไม่มีทักษะในการเข้าสังคม ไม่ชอบแบ่งปัน รู้สึกไม่มั่นคง เพราะขาดขอบเขตและคำแนะนำที่ถูกต้อง
เลี้ยงลูกแบบ “เพิกเฉยไม่ใส่ใจ”
ลักษณะการเลี้ยงลูกแบบเพิกเฉยคือ พ่อแม่แทบจะไม่เรียกร้องอะไรจากลูกเลย และไม่ค่อยสนใจ มักจะเลี้ยงดูแค่ทางกาย แต่ไม่ได้เลี้ยงภายในจิตใจของลูกด้วย บางรายถึงขนาดทอดทิ้งหรือละเลยความต้องการของลูกไปเลย เพราะพ่อแม่มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตัวเอง
ผลที่เกิดต่อลูกคือ ลูกขาดการควบคุมตนเอง มีความภาคภูมิใจในตนเองน้อยมาก ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ค่อยมีกลุ่มเพื่อน หรือถ้ามีก็อาจไม่เก่งเท่าเพื่อน ชอบพึ่งพิงผู้อื่น มักเกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลไปแทบทุกเรื่องเพราะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่
เปลี่ยนใหม่…ลองเลี้ยงลูกแบบทางสายกลาง
แพทย์หญิงปราณี เมืองน้อย แพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า
“วิธีการเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดคือ การยึดหลักของความสมดุลหรือทางสายกลาง ไม่ควรควบคุมมากไปหรือปล่อยปละมากไป เพราะ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนซุกซน ระเบียบวินัยหลวม พ่อแม่ก็ควรเลี้ยงแบบเผด็จการบ้างในบางครั้งแต่ถ้าลูกเป็นคนที่มีระเบียบวินัยในตัวเองอยู่แล้วการเลี้ยงแบบประชาธิปไตยให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ก็จะไม่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดใจมากเกินไปการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหนไม่ได้อยู่ที่การเลี้ยงดูเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาวะแวดล้อม หรือแม้แต่สารเคมีภายในตัวของเด็กเอง ถ้าพูดตามหลักพุทธศาสนาก็คือ เด็กแต่ละคนมีบุญติดตัวมาต่างกัน จึงทำให้มีลักษณะที่แตกต่างกันด้วย”
พ่อแม่ไม่ดีจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้หรือไม่
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม เคยเทศน์สอนเรื่องนี้ไว้ว่า “ครั้งหนึ่งมีเด็กประถม 4 พ่อเมาเหล้า เล่นการพนัน แม่เล่นหวย หลวงพ่อสอนเขาครั้งเดียวว่า วันเกิดหนูซื้อขนม 2 ห่อ เรียกพ่อแม่มานั่งคู่กัน กราบแล้วก็บอกพ่อแม่ว่า ความผิดอันใดที่ลูกพลั้งเผลอด้วยกาย วาจา ใจที่คิดไม่ดีต่อคุณพ่อคุณแม่ ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้ แล้วล้างเท้าให้พ่อแม่ ให้ขนมแม่ก่อน 1 ห่อ แล้วจึงให้พ่ออีก 1 ห่อ จากนั้นให้ลูกปฏิญาณตนว่าลูกจะขอเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่และจะเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ลูกจะไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง พ่อฟังแล้วน้ำตาร่วง สร่างเมา ส่วนแม่ก็ร้องไห้ ทั้งพ่อและแม่เลยให้สัญญากับลูกว่าจะเลิกอบายมุขทั้งหมด ปัจจุบันเด็กคนนี้เป็นดอกเตอร์อยู่อเมริกา…”
เลี้ยงลูกแบบนี้ไง…ใครๆ ก็รัก
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของแผ่นดิน ทรงมีวิธีเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาเป็นอย่างดี สมควรที่จะทรงได้รับการยกย่องและถือเป็นแบบอย่างเป็นที่สุด ดังจะเห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปวงชนชาวไทยรักและเทิดทูนอย่างหาที่เปรียบมิได้
สำหรับวิธีอภิบาลพระโอรสและพระธิดานั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยตรัสไว้ว่า
“ฉันอบรมบุตรให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ มีทั้งการศึกษา และสุขภาพดี มีจิตใจดีด้วย…ตอนเขายังเป็นเด็กๆ ฉันก็มีหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ของลูก ต้องคอยดูแลสุขภาพ ดูสมุดพกให้ ตรวจดูการบ้านให้เขา ให้เขาท่องหนังสือเพื่อให้สอบได้ดีตั้งแต่เขายังอายุน้อยทีเดียว”
(จากหนังสือ พี่น้องสองกษัตริย์: พระผู้ครองใจปวงชนชาวไทยทั้งชาติ)
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเอาพระราชหฤทัยใส่อย่างถี่ถ้วน ทั้งในเรื่องการอบรมขัดเกลาพระราชอัธยาศัย การสร้างเสริมพระอุปนิสัยที่ดีงาม รวมไปถึงทุกกิจการที่เกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระโอรสและพระธิดา ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงบรรยายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ ตอนหนึ่งว่า
“ชีวิตที่ผ่านไปเรื่อยๆ แม่จัดการเรียน การเล่น การออกสังคมของเรา ท่านดูแลอาหาร ความสะอาด และสุขภาพ เราต้องทำทุกอย่างเป็นเวลา…ถ้าเราไม่ทำตามที่ต้องทำจะถูกทำโทษหรือถูกตี โดยมีการอธิบายกันก่อนว่าทำไมจึงถูกตี บางครั้งก็จะมีการเจรจากันว่าควรตีกี่ครั้ง…พระองค์ชาย (รัชกาลที่ 8) มักจะชอบแหย่คน…ครั้งหนึ่งเมื่อไปอยู่ที่เมืองโลซานน์ แล้วจะต้องมีการลงโทษ เพราะพระองค์ชายชอบไปแกล้งลูกของผู้เฝ้าบ้าน ซึ่งตัวเล็กที่สุดในจำนวนเด็กที่วิ่งๆ อยู่ตามแถวนั้น อายุประมาณ 4 – 5 ขวบ พี่น้องสององค์ตั้งชื่อเขาว่า “เด็กคนเล็ก”…วันหนึ่งพระองค์ชายก็ไปผลักเด็กคนนี้ในที่อันตราย คือ ที่บันได แม่จึงพูดว่า “เตือนมาหลายทีแล้ว คราวนี้เห็นจะต้องตี คิดว่าควรจะตีสักกี่ที” พระองค์ชายตอบว่า “หนึ่งที” แม่ก็ตอบว่า “เห็นจะไม่พอ เพราะทำมาหลายที ควรเป็นสามที” จึงได้ตกลงกันเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ผลักเขาอีก…เมื่อโตขึ้นแล้ว แม่จะใช้วิธีอธิบายสิ่งที่ควรไม่ควร สิ่งที่ดีไม่ดี โดยพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล…”
จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากจนเหลือวิสัย และหากทำได้สำเร็จ คนที่จะภูมิใจมากที่สุดก็คือคนที่เป็นพ่อแม่นั่นเอง สิ่งสำคัญคือ ต้องจำไว้ว่า สายพิณนั้นหากตึงเกินไปก็ขาด หากหย่อนเกินไปก็ดีดไม่ได้…
หลักในการเลี้ยงลูกก็ไม่ต่างกัน
ที่มาจากคอลัมน์ Life Management นิตยสาร Secret