เช็คแคลอรี่ 10 อันดับ อาหารใส่บาตร ยอดนิยม…คุณกำลังทำพระอ้วนอยู่หรือไม่
หลายท่านทำบุญใส่บาตรทุกเช้า แต่ด้วยความรีบเร่งทำให้ไม่มีเวลาเตรียมอาหารอย่างพิถีพิถัน จึงใช้วิธีซื้ออาหารสำเร็จรูปใกล้ ๆ วัด หรือใกล้ ๆ สถานที่ที่พระมาบิณฑบาต โดยลืมไปสนิทว่า อาหารหลายอย่างไม่มีคุณค่าเพียงพอและให้พลังงานสูงเกินความจำเป็น ทั้งที่ร่างกายของพระสงฆ์ไม่ได้มีความต้องการใช้พลังงานมากเท่าคนทั่วไป เพราะกิจวัตรประจำวันของพระโดยมากคือ บิณฑบาต เดินจงกรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ รวมถึงการรักษาความสะอาดบริเวณวัดเท่านั้น เมื่อพระฉันอาหารที่ให้พลังงานมากเกินความต้องการ อาหารใส่บาตร เหล่านั้นจึงอาจเปลี่ยนเป็น “ไขมันร้าย” ที่สะสมในร่างกายของพระสงฆ์
รู้หรือไม่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยว่า ผลการสำรวจพระสงฆ์จำนวน 246 รูป จาก 11 จังหวัดทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2554 พบว่า ประเทศไทยมีพระสงฆ์ที่อยู่ในภาวะอ้วนเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนพระสงฆ์ทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 45.1 เปอร์เซ็นต์ โดยมีพระสงฆ์ที่อยู่ในเกณฑ์อ้วนมากถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ อ้วนปานกลาง 21.1 เปอร์เซ็นต์ และอ้วนเล็กน้อย 15.5 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักมาจากการฉันอาหารจำพวกของทอด ของมัน อาหารที่มีรสจัด และอาหารหวานที่ได้รับจากการบิณฑบาตและการถวายด้วยจิตศรัทธาของญาติโยมทั้งสิ้น
เช็คแคลอรี 10 อันดับอาหารยอดนิยมสำหรับใส่บาตร
- แกงเขียวหวานไก่ ให้พลังงาน 240 กิโลแคลอรี / ถ้วย
- พะโล้ ให้พลังงาน 210 กิโลแคลอรี / ถ้วย
- ข้าวผัดกะเพราหมู ให้พลังงาน 580 กิโลแคลอรี / จาน
- ไข่ลูกเขย ให้พลังงาน 205 กิโลแคลอรี / ฟอง
– พะแนงไก่ ให้พลังงาน 230 กิโลแคลอรี / ถ้วย
- ฝอยทอง ให้พลังงาน 438 กิโลแคลอรี / 3 แพ
- บัวลอย ให้พลังงาน 223 กิโลแคลอรี / ถ้วยเล็ก
- ฟักทองแกงบวด ให้พลังงาน 185 กิโลแคลอรี / ถ้วย
- ขนมชั้น ให้พลังงาน 276 กิโลแคลอรี / 3 ชิ้น
– ข้าวเหนียวสังขยา ให้พลังงาน 370 กิโลแคลอรี / 1 ชิ้น
ใส่บาตรอย่างไร ไม่ให้พระอ้วน!?
1. อาหาร จำพวกข้าวหรือแป้งควรเลือกข้าวหรือธัญพืชชนิดไม่ขัดขาว อาทิ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เพราะนอกจากพระท่านจะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ข้าวไม่ขัดขาวยังช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
2. กับข้าว ควรเลือกสรรอาหารที่รสชาติไม่จัดจ้านจนเกินไป คือ ไม่หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด ที่สำคัญคือต้องไม่มันจัด เพราะนอกจากอาหารรสจัดจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว อาหารเหล่านี้ยังไปกระตุ้นและตอบสนองตัณหาความอยากอันเป็นกิเลสร้ายที่พระสงฆ์จะต้องละให้ได้อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ กับข้าวที่จะถวายพระสงฆ์จึงควรคัดสรรแล้วว่าใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณประโยชน์ อาทิ ผัดผักนานาชนิด เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ปรุงรสชาติไม่จัดจ้าน และใช้เครื่องปรุงรสอย่างดี ที่สำคัญ หากคุณใส่ใจและตั้งใจทำอาหารให้สะอาดและอร่อยอย่างมีคุณค่าด้วยตัวคุณเองแล้วละก็ การถวายอาหารในครั้งนี้จะทำให้คุณเปี่ยมสุขและอิ่มบุญกว่าครั้งไหน ๆ เป็นแน่
3. ผลไม้หรือขนมหวาน ขอแนะนำให้คุณถวายผลไม้ตามฤดูกาล เพราะจะสดและรสชาติดีกว่าผลไม้นอกฤดู แถมยังหาซื้อได้ง่าย ผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีคุณสมบัติช่วยบำบัดโรคได้มีหลายอย่าง อาทิ ส้ม แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง องุ่น มะละกอ กล้วยแต่ไม่ควรถวายในปริมาณที่มากเกินไป เพราะผลไม้บางชนิด เช่น ลำไย ทุเรียน ฯลฯ หากรับประทานมาก ๆ ก็ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้เช่นกัน
สำหรับการถวายขนมหวานนั้น ควรพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนนำมาถวาย ขนมไทยบางชนิด เช่น ทองหยิบทองหยอด ฝอยทอง มีน้ำตาลในปริมาณมาก หรือบางชนิดเช่น ขนมหม้อแกง ตะโก้ ก็มีส่วนผสมที่เป็นกะทิ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย แถมยังทำให้อ้วนง่าย ก็ไม่ควรนำไปถวาย
4. น้ำปานะ ปัจจุบันมีน้ำปานะวางขายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก คุณจึงต้องพิจารณาให้ดีว่าน้ำปานะนั้นมีคุณค่าต่อสุขภาพจริงหรือไม่ เพราะน้ำปานะบางชนิดอาจให้เพียงพลังงานต่อร่างกายแต่ไม่ได้ให้สารอาหารหรือวิตามินที่เป็นประโยชน์ น้ำปานะที่นิยมถวายตั้งแต่สมัยพุทธกาลคือ น้ำผลไม้ ซึ่งมีรายละเอียดว่าต้องเป็นผลไม้ที่มีขนาดเล็กเท่านั้น เช่น ส้ม มะนาว องุ่นมะปราง ลิ้นจี่ ลำไย เพราะผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น แตงโมสับปะรด มะพร้าว ฯลฯ พระพุทธเจ้าจัดให้อยู่ในกลุ่มของอาหาร ไม่ใช่น้ำปานะ
อาหารอันบริสุทธิ์บวกกับเจตนาและจิตใจอันบริสุทธิ์ของผู้ให้ ย่อมทำให้การถวายทานของคุณเปี่ยมไปด้วยบุญกุศลมหาศาล
บทความน่าสนใจ