เจริญกุศล

หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การเจริญกุศล โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ช่วงหนึ่งในโทรทัศน์เคยมีรายการเกม กำจัดจุดอ่อน เป็นการกำจัดคู่แข่งออกไปเรื่อย ๆ แต่เวลามาปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการมาทำวิปัสสนากรรมฐานซึ่งเป็นการทำงานทางจิตนี้ ไม่ได้เป็นการมาเล่นเกมกำจัดจุดอ่อน แต่เป็นการสร้างจุดเด่นให้เกิดขึ้น เมื่อจุดเด่นโตเต็มที่ เต็มเปี่ยม สมบูรณ์ บริบูรณ์ จุดด้อยย่อมอยู่ไม่ได้และไม่เกิดขึ้น (เจริญกุศล)

การทำวิปัสสนานั้นไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อดับหรือละกิเลส แต่เป็นการมาเจริญกุศลในหมวดสติปัฏฐาน และเจริญสติสัมปชัญญะให้มีสติอยู่กับกายกับใจ ทำให้สิ่งอื่นเข้ามาไม่ได้ เมื่อกุศลเต็มเปี่ยมแล้ว อกุศลย่อมเกิดไม่ได้ เพราะเมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งจะไม่เกิด

เราจึงมีหน้าที่ เจริญกุศล ไม่ได้มีหน้าที่ไปดับอกุศล เกมนี้เล่นง่าย ๆ แบบนี้ละ

เจริญกุศล

หากปฏิบัติตามนี้แล้วเราจะมีความผ่อนคลาย สบาย และสงบร่มเย็นในจิตใจ เพราะในขณะที่กุศลเกิด อกุศลที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดไม่ได้ ส่วนอกุศลที่เคยเกิดขึ้นแล้วย่อมสลายหมดไป และขณะที่เจริญกุศลอยู่นั้น กุศลที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ส่วนกุศลที่เกิดแล้วก็จะยิ่งพัฒนาต่อไป เรียกว่าถึงพร้อมด้วยสัมมาวายามะ 4*** แต่ถ้าเราต้องไปจงใจละอกุศลก่อน แล้วค่อยมาเจริญกุศลต่อ ย่อมเหมือนการแยกส่วนปฏิบัติทีละข้อ

เมื่อกุศลเกิด อกุศลเช่นโลภะ โทสะ โมหะย่อมเกิดไม่ได้ เราจึงไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับโลภะ โทสะ โมหะ แค่ตั้งหน้าตั้งตา ตั้งอกตั้งใจเจริญกุศลอยู่เนือง ๆ เมื่อสติหมดก็ตั้งสติใหม่ ตั้งใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ เช่นนี้จนสติเกิดเอง ทีนี้ก็สบาย ไม่อย่างนั้นการปฏิบัติจะเหนื่อยมาก โทสะเกิดก็ไม่สบายใจ อยากจะดับโทสะ ราคะเกิดก็ไม่ชอบใจ อยากจะดับราคะ กลายเป็นตัณหา แถมมีโทสะอีกต่างหาก กลายเป็นความดิ้นรนทางใจ ใจจึงไม่สงบร่มเย็น ถูกอกุศลครอบงำแม้กระทั่งขณะปฏิบัติธรรม

การมีหน้าที่แค่เจริญกุศลจึงสบายกว่ากันเยอะเลย

 

***ความเพียรชอบ คือเพียรใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น 2) เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว 3) เพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น 4) เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไปและให้เพิ่มไพบูลย์

 

ที่มา  ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

Image by PublicDomainPictures from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรมให้มีชีวิตชีวา โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ความสำเร็จของการปฏิบัติธรรมวัดจากอะไร โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.