พระรัตนตรัยย่อมยังประโยชน์ต่อสรรพสัตว์เสมอ การบรรลุถึงความเป็นอนัตตา – สุญญตาย่อมพ้นจากสังสารวัฏ (กิเลส กรรม วิบาก) ละเปี่ยมอยู่ด้วยปัญญาญาณที่รู้แจ้งอย่างสมบูรณ์ในความเป็นสุญญตาของสรรพสิ่ง ย่อมเข้าถึงสภาวะแห่งความสุขที่แท้จริง
การบำเพ็ญภาวนาบนสัมมาอริยมรรคด้วยการบ่มเพาะบารมีทั้งสิบย่อมได้รับธรรมโอสถ คือ “สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ”* (รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง) ซึ่งเป็นอานิสงส์อันเกิดจากความมั่นใจต่อวิถีทางของการปฏิบัติภาวนาจนบรรลุถึงพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งอันเกษม
ผู้บรรลุอุภโตภาควิมุตติซึ่งสมบูรณ์ทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติย่อมสว่างไสวอยู่ด้วยปัญญาญาณ รู้แจ้งอยู่ในความเป็นองค์รวมกับสรรพสิ่งร่วมกับกิจการงานต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และอิ่มเอิบเบิกบานด้วยประสบการณ์ของความเป็นพุทธะ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา
การเข้าถึงธรรมชาติของจิตประภัสสรย่อมไม่กำหนดหมายสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเจตนา (มีตัวตนเราเขา) อีกต่อไป สัมมาอริยมรรคที่ดำเนินไปสู่สภาวะแห่งความสุขอย่างยิ่งนั้น ก็คือการบำเพ็ญภาวนาเพื่อลดละปล่อยวางวิญญาณ 6 (การรับรู้อารมณ์)** ให้เป็นอิสรภาพอย่างแท้จริง
มรรคาแห่งการหลอมรวมเป็นเอกภาพของสรรพสิ่ง “เอกายนมรรค” ด้วยพลังของปัญญาญาณอันยิ่งใหญ่แห่งสัจจะคือจุดเริ่มต้นของสภาวะจิตที่ไปพ้นจิตสามัญสำนึก (conscious mind) อันเป็น “หนทาง” ของการปฏิบัติภาวนาร่วมกับการงานในชีวิตประจำวัน
นิมิตหมายภายในของกิเลสนิวรณ์ทั้งห้าย่อมเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ จนเราเกิดความเข้าใจที่แท้จริง และเกิดการละวางความคิดปรุงแต่งเหล่านั้น ทำให้จิตเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น ผู้ที่มิได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นย่อมถูกจองจำและหมดโอกาสสำหรับความเป็นอิสระหลุดพ้นจากตัณหาอุปทานทั้งปวง
(มรรคาแห่งเอกภาพ)
*สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ (รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง) ที่มา : อรรถกถาสังยุตตนิกาย…เล่มที่ 11 (สารัตถปกาสินี 1 ข้อ 42 หน้า 81)
**วิญญาณ 6 หมายถึง ความรู้แจ้งอารมณ์ มี 6 อย่าง คือ 1. จักขุวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางตา) 2. โสตวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางหู) 3. ฆานวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางจมูก) 4. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางลิ้น) 5. กายวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางกาย) 6. มโนวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางใจ) ที่มา : พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม หน้า 231
ที่มา ทางสายกลางสู่อิสรภาพแห่งชีวิต โดย หลวงพ่อโพธินันทะ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
“จิตไม่มีปัญญา ย่อมหลงกลลวงของกิเลส” ธรรมะดี ๆ โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ