หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ

ประโยชน์ของสมาธิ ธรรมโอวาทจาก หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ

ประโยชน์ของสมาธิ ธรรมโอวาทจาก หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ

หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ได้มีธรรมโอวาทเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ และประโยชน์ของสมาธิ ไว้ดังนี้

สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงยังสมาธิให้เกิด ชนผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ความจริง

เพราะเหตุไร พระศาสดาจึงทรงชักนำในอันบำเพ็ญสมาธิ เพราะใจที่ได้อบรมดีแล้วย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์อันใหญ่ คนเราจะทำจะพูดดีหรือเสียก็เพราะใจ ลำพังกายเหมือนรูปหุ่น ใจเหมือนคนชักรูปหุ่น จะกระดิกพลิกแพลงไปเท่าไร ก็ส่อใจของคนชัก ฉันใด อาการกายวาจาจะเป็นไปอย่างไร ก็ส่ออาการของใจ ฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง กายเหมือนเรือ ใจเหมือนนายเรือ ถ้านายเรือไม่ได้รับฝึกหัดให้ชำนิชำนาญหรือประมาทไป ก็จะพาเอาเรือไปเป็นอันตรายเสีย ต่อเป็นผู้ได้ศึกษาและมีสติ จึงจะสามารถพาไปถึงท่า ฉันใด ใจก็ฉันนั้น ที่ชั่วและปล่อยให้ระเริงก็จะชักจูงให้ประพฤติชั่วทางกายทางวาจามีประการต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นส่วนเสียหาย ถ้าได้รับการอบรมในทางดีจึงจะชักจูงในทางดี ท่านกล่าวว่าใจที่ไม่ได้อบรมอาจทำคนให้ฉิบหาย ยิ่งกว่าโจร หรือคนมีเวรจะทำให้เสียอีก ใจที่ได้รับการอบรมอาจทำได้ดียิ่งกว่าบิดามารดาและญาติผู้รักใคร่จะพึงทำให้ได้ เพราะเหตุนั้นพระศาสดาผู้ทรงพระกรุณาใหญ่แสวงหาประโยชน์แก่ประชาชน จึงได้ทรงชักนำในอันบำเพ็ญสมาธิ

สมาธินั้น พึงรู้อย่างนี้ ใจนี้อบรมดีแล้วย่อมเห็นอรรถเห็นธรรมแจ้งชัด ทำอะไรย่อมจะสำเร็จ แต่ใจนี้โดยปกตินี้อารมณ์ไม่ดีเข้าขัดขวางไม่ให้แน่แน่วลงได้ ซึ่งเรียกว่านิวรณ์ คือธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี นิวรณ์ท่านแจกเป็น 5

ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม เรียกกามฉันทะ 1 ความงุ่นง่านด้วยกำลังโทสะอย่างสูง ถึงให้จองล้างจองผลาญผู้อื่น เรียกชื่อตามอาการถึงที่สุดว่า พยาบาท 1

ความท้อแท้หรือคร้านและความง่วงงุน รวมเรียกว่า ถีนมิทธะ เพราะเหตุหดหู่แห่งจิตเหมือนกัน นี้จัดเป็นนิวรณ์อีก 1

ความฟุ้งซ่านหรือคิดพล่านและจืดจางเร็ว รวมเรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ เพราะเหตุกำเริบไม่อยู่ที่แห่งจิตเหมือนกัน นี้จัดเป็นนิวรณ์อีก 1

ความลังเลไม่แน่ลงได้เรียก วิจิกิจฉา 1

สมัยใดนิวรณ์ 5 อย่างนี้ แต่อย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำจิตบุคคลย่อมไม่คิดเห็นอรรถเห็นธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่อาจประกอบกิจให้สำเร็จ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านการทำจิตให้ปลอดจาก นิวรณ์เหล่านี้ รักษาให้แน่วแน่ชื่อว่าสมาธิ

สมาธินี้ เป็นกำลังสำคัญในอันจะให้คิดเห็นอรรถธรรมและเหตุผลอันสุขุมลุ่มลึก พระศาสดาจึงตรัสไว้ในพระบาลีว่า

สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ผู้มีใจตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามเป็นจริง

ใจดวงเดียวนึกพร่าไปในอารมณ์ต่าง ๆ ย่อมคิดติดแลไม่เห็นทาง ดุจน้ำบ่าไปหลายทาง ต่อนึกดิ่งลงไปในอารมณ์เดียวเป็นสมาธิ จึงจะคิดเห็นปรุโปร่ง เหมือนน้ำจากกำลังใบพัดเครื่องจักร ที่ไหลบ่าลงทางเดียว ฉะนั้นสมาธิก็คือ รวมความคิดของใจให้ดิ่งลงไปในทางเดียว จึงเป็นกำลังอันใหญ่ให้แทงตลอดอรรถธรรม และเหตุผลอันสุขุม

การเข้าสมาธิมีประโยชน์ 2 อย่างคือ

1. ทำให้กระแสจิตแรงกล้า มีแสงสว่างจ้ากว่าธรรมดา แสงสว่างนี้ เรียกว่าปัญญา ประโยชน์ของสมาธิในลักษณะนี้เราจะพูดสั้น ๆ ว่า สมาธิทำให้เกิดปัญญาก็ได้ พระบาลียืนยันก็มีว่า สมาธิ ปริภาวิโต ปญญามหปผโล โหติ มหานิสโส สมาธิทำให้ปัญญาใช้ได้ผลมาก

2. ทำให้กิเลสหมดไป หมายความว่าจิตคนเราตามปกติย่อมเต็มไปด้วยกิเลส ความรัก ความชัง ความหลง พอกพูนด้วยอารมณ์ทั้งดีทั้งร้าย จนกระทั่งได้ชื่อว่า ปุถุชนคนหนา ที่นี้จิตที่ถูกควบคุมเข้าสู่วงจำกัดทีละชั้น ๆ นั้น จะทำได้ต่อเมื่อสละอารมณ์อันรุงรังออกจากจิตให้มากที่สุดจึงจะเข้าสมาธิชั้นใน ๆ ได้ เปรียบเหมือนว่า มีประตูอยู่ 8 ชั้น ชั้นนอกกว้างแล้วก็แคบเข้าตามลำดับ คน ๆ หนึ่ง หาบของมารุงรังจะเข้าประตูนั้น ต้องทิ้งหาบอย่างน้อยก็ข้างหนึ่งจึงจะเข้าได้ พอไปถึงประตูที่ 2 ถ้ายังหิ้วของอยู่ก็เข้าไม่ได้ต้องทิ้งหิ้วพอจะเข้าประตูที่ 3 ต้องทิ้งห่อ จนกระทั่งเหลือแต่ตัวจึงจะเข้าประตูสุดท้ายได้ ฉันใดก็ฉันนั้น จิตจะต้องปล่อยอารมณ์เลวร้ายเรื่อยไป จึงจะเข้าฌานโดยลำดับไปจนถึงฌานที่ 8 ได้ ท่านผู้ได้รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ก็ยังเป็นส่วนโลกียะอยู่ จุติจากอัตตภาพนั้น แล้วย่อมไปเกิดในพรหมโลก ตามกำลังญาณของตน ส่วนผู้ปฏิบัติด้วยการชำระกาย วาจา และใจ ของตนให้บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง มีราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะได้บรรลุมรรคผลสมประสงค์ทุกประการ

รวมความว่า สมาธิมีประโยชน์ 2 อย่างคือ

1. ทำให้ดวงปัญญาแก่กล้า

2. ทำให้บรรลุนิพพาน

 

ที่มา : หนังสือ “แก้วมณีอีสาน รอยชีพรอยธรรมพระวิปัสสนาจารย์อีสาน” – สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งมชาติสนับสนุนการจัดพิมพ์ ในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2537

Photo by Krivec Ales from Pexels

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.