ลอดลายมังกร กับ ประภัสสร เสวิกุล
“เขาคนนี้คือ ประภัสสร เสวิกุล” เด็กชายมะลิวัลย์อธิบาย “เขาคือฉันในโลกแห่งความเป็นจริง” ตัวละครทั้งหมดต่างเดินเข้ามารุมล้อมฟังเรื่องราวจากปากคำบอกเล่า
ณ มุมหนึ่งของหน้ากระดาษมีตัวละครหลายชีวิตกำลังพูดคุยกันอยู่
“ทำไมชีวิตผมถึงได้รันทดแบบนี้ก็ไม่รู้สิครับ” เด็กน้อยนาม ล่องจุ๊นโพล่งขึ้นมาในตอนหนึ่ง
“นายพูดว่าอะไรนะ” ชายหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า นัต ถามกลับ
“ชีวิตนายดูซวยไม่รู้จบก็จริง แต่ชีวิตฉันก็น่าเศร้าไม่แพ้ใครนะ พ่อแม่ฉันก็แยกทาง น้องสาวท้องตั้งแต่ยังเรียน แถมผู้หญิงที่ฉันรัก ก็หนีไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้”
“ชีวิตน่ะไม่เคยง่ายดายหรอกนะ” น้ำเสียงอันสั่นเครือด้วยวัยชราของ อาเหลียง สือพาณิชย์ ดังขึ้นมาอย่างช้าๆ
“อุปสรรคต่างๆ ล้วนเป็นเพราะฟ้าลิขิตมาให้เราต้องฝ่าฟันเพื่อที่จะพบกับความสำเร็จที่ปลายทางนะ”
“มันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ” คำถามจากเสียงอันทรงอำนาจของพันโท โคลาโบ โกเมซ สวนมาทันทีที่สิ้นเสียงของชายชรา
“ผมเคยรู้สึกว่าตัวเองคว้าความสำเร็จมาครองได้แล้วเมื่อปฏิวัติยึดอำนาจจากพลเอกรามอน ทรราชแห่งแผ่นดินเอล เควญญา และประชาชนก็เลือกให้ผมเป็นประธานาธิบดี”
“ทุกอย่างก็น่าจะไปได้ดีนี่ครับ” นัตถามอย่างสงสัย
“ทุกอย่างพังทลายก็เพราะอำนาจที่ลื้อได้มาหวนกลับมาทิ่มแทงใช่ไหม” อาเหลียงพูดขึ้นมา ก่อนที่พันโท โคลาโบ โกเมซ จะพยักหน้ารับและตอบว่า
“ใช่ครับ ผมได้พบสัจธรรมว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหรือความสำเร็จ สุดท้ายทุกอย่างล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติที่ไม่ยั่งยืนเลยสักนิด”
“แล้วทำไมชีวิตของพวกเราถึงได้รันทดแบบนี้ล่ะครับ” ล่องจุ๊น คร่ำครวญ
“ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเขา” เด็กชายมะลิวัลย์เดินออกมาจากอีกมุมหนึ่งของหน้ากระดาษ
“เขาที่ว่านี้คือใครกัน” พันโท โคลาโบ โกเมซ ถามเสียงกร้าวขึ้นมา
“เขาคนนี้คือประภัสสร เสวิกุล” เด็กชายมะลิวัลย์อธิบาย “เขาคือฉันในโลกแห่งความเป็นจริง”
ตัวละครทั้งหมดต่างเดินเข้ามารุมล้อมฟังเรื่องราวจากปากคำของเด็กชายมะลิวัลย์
“ประภัสสรเล่าเรื่องในวัยเด็กของตัวเองโดยใช้ฉันเป็นตัวละครแทนตัวเขา นอกจากนั้นเขายังชอบเล่าเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายผ่านทางตัวละครอื่นๆ อย่างพวกคุณทุกๆ คนมาตลอดเวลาหลายสิบปี จนหลายคนยกให้เขาเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ราวกับมังกรที่ทรงทั้งอำนาจและคุณวุฒิ และตอนนี้เขาก็ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี2554 แล้วด้วย”
“แล้วเขามีสิทธิ์อะไรที่จะมาขีดเขียนชีวิตของพวกเราล่ะ” นัต ถามอย่างร้อนใจ ในขณะที่ปฏิกิริยาของเด็กชายมะลิวัลย์มีเพียงแค่…ยิ้ม และตอบกลับไปว่า
“ผมคงต้องให้เขาเป็นคนตอบเองแล้วละ” พูดจบเด็กชายมะลิวัลย์ก็ผายมือนำไปสู่โลกแห่งความจริง…
ณ ห้องเล็กริมกระจก ประภัสสร เสวิกุล พร้อมแล้วสำหรับทุกๆ คำถามที่รอคอยอยู่ตรงหน้า
คุณมองรูปแบบการเขียนสั้นๆ ทางเว็บไซต์อย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์อย่างไรบ้างครับ
ผมคิดว่า ตรงนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนเท่านั้นครับ เหมือนกับสมัยก่อนที่เรานิยมเขียนไดอะรี่กัน พอเวลาผ่านไป เริ่มเติบโตขึ้น ก็จะสะท้อนออกมาด้วยการเขียนอะไรที่ยาวขึ้น เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ซึ่งในความคิดของผม การเขียนลงในเฟซบุ๊กนั้นไม่ได้เป็นการเขียนในรูปแบบใหม่ เป็นการเขียนในรูปแบบเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ว่าวิธีการนำเสนอเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง จากการเขียนลงสมุดไดอะรี่แล้วเก็บไว้อ่านเองเฉยๆ ก็กลายมาเป็นการเขียนลงในเฟซบุ๊กให้คนทั่วไปได้อ่าน นอกจากนั้นยังสื่อถึงความกล้าของผู้เขียนที่กล้าแสดงตัวตนออกมามากขึ้น ยุคนี้จึงถือว่าเป็นช่วงที่ดีของผู้ที่รักการเขียน เพราะว่าการเกิดของนักเขียนยุคนี้ง่ายกว่าสมัยก่อน และถ้าได้เขียนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการฝึกทักษะการเขียนไปด้วยในตัว
สำหรับผม การฝึกฝนเป็นสิ่งที่สำคัญ ผมไม่เชื่อเรื่องพรสวรรค์ทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจจริงของแต่ละคนว่าอยากจะทำอะไร แล้วเขาทุ่มเทให้กับสิ่งที่เขาต้องการจะทำหรือต้องการจะเป็นหรือไม่ พรสวรรค์เป็นแค่คำที่เราเรียกขึ้นมาสำหรับบางสิ่งบางอย่างซึ่งคนบางคนทำขึ้นมาเท่านั้น ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือว่าเป็นครั้งคราวก็ตาม แต่สิ่งที่มีความสำคัญและมีค่าที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์ก็คือ ความพยายามที่จะฝึกฝนตัวเองให้สามารถทำในสิ่งที่อยากเป็นและอยากทำให้ได้ และพยายามสร้างผลงานที่เป็นตัวเราให้ชัดเจนมากขึ้นให้ได้ โดยแสวงหาวิธีการทำหรือว่าหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้สิ่งที่เราทำนั้นสัมฤทธิผล พรแสวงจึงมีความสำคัญมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เราสร้างได้ ฝึกได้ และสามารถทำให้เพิ่มพูนขึ้นมาได้
มีคำแนะนำอย่างไรบ้างครับ สำหรับคนที่อยากก้าวมาสู่จุดที่ประภัสสร เสวิกุล ได้ทำสำเร็จมาแล้ว
ในความคิดของผม งานเขียนที่ดีต้องประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการ หนึ่งคือจินตนาการ คนเราต้องมีจินตนาการที่จะเขียนอะไรออกมา ถ้าไม่มีจินตนาการ เนื้อหาก็อาจจะกลายเป็นวิชาการไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีวิชาการอยู่ในงานเขียนด้วย วิชาการคือข้อมูลต่างๆ ที่จะทำให้จินตนาการของเราไม่เลื่อนลอย สามก็คือกลวิธีการเขียนซึ่งแต่ละคนก็ต่างกันออกไป สุดท้ายคือประสบการณ์ที่เราได้พบเห็นมาทั้งสี่อย่างนี้เมื่อประกอบกันเข้าคือวิธีการเขียนในแบบของผม
นอกจากนั้น ผมถือว่าความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ของนักเขียน อาจจะไม่มีคำว่าจรรยาบรรณเขียนเอาไว้ในกฎข้อบังคับของนักเขียน แต่นักเขียนต้องมีจรรยาบรรณ ต้องเสนอในสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือว่าดีงามต่อสังคม โอเค คุณอาจจะเปิดเผยหรือเปิดโปงสิ่งที่ไม่ดีไม่งามได้ แต่ต้องเป็นการเปิดโปงเพื่อทำให้สังคมนั้นดีขึ้น ศรีบูรพาเคยกล่าวเอาไว้ในทำนองว่า “คุณเป็นช่างไม้ คุณทำเก้าอี้ตัวหนึ่งออกมาแล้วไม่ดีก็ยังไม่เป็นไร เพราะไม่ดีแค่ตัวเดียว แต่ถ้าคุณเป็นนักเขียน แล้วเขียนเรื่องที่ไม่ดีก็อาจทำให้คนที่อ่านเรื่องของคุณ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก มองโลกในมุมที่ผิดไปได้”
นักเขียนที่ดีต้องยกระดับคนอ่านหรือแฟนหนังสือของตัวเองให้ก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายคือการเคารพตัวเองและเคารพผู้อ่าน นั่นก็คือเขียนในสิ่งที่สมเหตุสมผลให้สาระและแง่คิดต่อผู้อ่าน ผมถือว่าเป็นความจำเป็นของนักเขียนที่จะต้องรับผิดชอบต่องานที่ตัวเองทำขึ้นมา โดยต้องคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนไปนั้นจะมีผลสะท้อนหรือปฏิกิริยาอย่างไรต่อสังคมบ้าง
คุณมองพุทธศาสนากับสภาพสังคมในปัจจุบันนี้อย่างไรบ้างครับ
ผมมองว่า คนรุ่นใหม่ค่อนข้างห่างวัดมากกว่าคนในสมัยก่อน ผมจึงคิดว่า วัดคงต้องเปลี่ยนวิธีการที่จะทำให้คนอยากเข้าวัดมากขึ้น คือไม่ใช่แค่ไปไหว้พระ ไปก่อเจดีย์ทราย หรือไปช่วยงานวัดอีกต่อไปแต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่โดยคำนึงว่าคนรุ่นใหม่ต้องการอะไรจากศาสนาจากพระ หรือจากวัด แล้วตอบสนองความต้องการของพวกเขาให้ตรงประเด็น ต้องมุ่งสอนในเรื่องของหลักของศาสนาว่า ศาสนาจะช่วยคนที่มีทุกข์อยู่ได้อย่างไร
สิ่งที่คุณพยายามมาตลอดคือการผลักดันให้นักเขียนและวงการก้าวไปข้างหน้า ถึงตอนนี้ได้ผลที่น่าพอใจมากน้อยขนาดไหนครับ
ถ้าดูอย่างรางวัล นราธิป ที่เกิดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูนักเขียนอาวุโสที่สร้างประโยชน์อันดีงามให้ตกทอดแก่วงการ ถึงปีนี้ก็ 11 ปีแล้ว และน่าจะเป็นรางวัลที่ยั่งยืนต่อไป ผมริเริ่มรางวัลนี้ขึ้น เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะนึกย้อนกลับไปถึงต้นทางของวรรณกรรมไทยว่าเป็นมาอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นคุณค่าความดีงามต่างๆ ก็จะหายไปตามกาลเวลา มีคนรุ่นใหม่เกิดขึ้น แต่ว่ารุ่นเก่าหายไป เท่าที่ทราบก็มีนักเขียนผู้ใหญ่หลายๆ ท่านทั้งที่สร้างงานเขียนมามากมาย หรือสร้างนักเขียนมาเยอะแยะ แต่กลับไม่เคยได้รางวัลหรือไม่มีใครยกย่องท่าน พอมีรางวัลนราธิปเกิดขึ้น ท่านก็ได้ชื่นใจกัน นี่คือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้วงการมีทางเดินต่อไป
ส่วนรางวัลใหม่ๆ อย่างรางวัลพานแว่นฟ้า หรือเซเว่นบุ๊คส์อวอร์ดและรางวัลนักเขียนอมตะ ซึ่งผมเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นก็ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีมาตรฐานและสามารถยืนหยัดได้แล้ว รวมทั้งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ให้มีเวทีในการประกวดเพิ่มมากขึ้น เพราะเดิมถ้ามองกลับไปจะมีแค่รางวัลซีไรต์เพียงรางวัลเดียว คนที่ไม่ได้ซีไรต์ไม่ได้หมายความว่าเขาเขียนหนังสือไม่ดี เพียงแต่งานเหล่านั้นไม่ต้องกับวัตถุประสงค์ของรางวัลที่ตั้งเอาไว้ นอกจากนี้พื้นที่มีจำกัด แต่ถ้าเราเปิดเวทีมากขึ้นก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถได้แสดงตัวมากขึ้น
คุณมองความสำเร็จที่ผ่านมาจนถึงวันนี้อย่างไรครับ
ผมมองความสำเร็จเป็นเหมือนกับหินย้อยที่ค่อยๆ หยดลงมา ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะกลายมาเป็นถ้ำที่สวยงาม ความสำเร็จก็เช่นกัน ต้องใช้เวลา ไม่ใช่แท่งคอนกรีตที่หล่อออกมาได้เลย การจะได้มาต้องมีความอดทน มุ่งมั่น มีความรักและทุ่มเทในงานที่ตนเองรัก แล้วทำให้ดีที่สุด
ถึงวันนี้นับว่าคุณประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ถ้าถามว่าความสุขของคุณล่ะครับ ประกอบด้วยอะไร
ความสบายใจสบายกายของเราซึ่งไม่ได้จำกัดรูปแบบ เป็นอะไรก็ได้ที่ทำแล้ว อยู่แล้ว เป็นแล้ว เรามีความสบายใจ สบายกาย…นั่นก็คือความสุขของผม
หมายเหตุ
ล่องจุ๊นคือตัวละครจากนิยายเรื่อง ขอหมอนใบนั้น…ที่เธอฝันยามหนุน, พันโท โคลาโบ โกเมซ เป็นตัวเอกจากเรื่อง อำนาจ, อาเหลียง สือพาณิชย์ เป็นตัวดำเนินเรื่องของ ลอดลายมังกร, นัตเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง เวลาในขวดแก้ว และเด็กชายมะลิวัลย์คือตัวละครจากเรื่อง เด็กชายมะลิวัลย์ บทบันทึกวัยเยาว์ในรูปแบบนิยาย
ศิลปินแห่งชาติกับ 5 บทบาทในชีวิต
1. บทบาทนักเขียน นอกจากใช้ชื่อ-สกุลจริงแล้วยังมีผลงานในนามปากกาพราย ภูวดล ละอองฝน บลูม จัสมิน่า
2. บทบาทเจ้าหน้าที่การทูต ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณคืออัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโกประเทศชิลี
3. บทบาทผู้อุทิศตัวแก่บรรณพิภพ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ 14 (รับตำแหน่งสองสมัยติดต่อกัน)
4. บทบาทคุณพ่อ มีบุตรชาย 2 คน คือ ชาครีย์นรทิพย์และ วรุตม์ชัย เสวิกุล ปัจจุบันชาครีย์นรทิพย์รับราชการใน
กระทรวงการต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งเลขานุการเอกและกงสุลสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ส่วนวรุตม์ชัย เสวิกุล ประกอบอาชีพอิสระทางด้านคอมพิวเตอร์
5. บทบาทนักอ่าน โคลงโลกนิติ เป็นหนังสือดีที่คุณประภัสสรชื่นชอบและอยากแนะนำให้คนไทยได้อ่าน ด้วยเหตุที่มีการรวบรวมภูมิปัญญา จริยธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยยุคก่อนเอาไว้ได้อย่างน่าอ่านน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
Secret Box
พรสวรรค์ให้พลังบรรเจิด พรแสวงให้พลังบรรจงถ้าคุณไม่มีพรสวรรค์ คุณก็ต้องบรรจงหาสิ่งต่างๆมาเสริมแต่งประภัสสร เสวิกุล
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 88
เรื่อง : พีรภัทร โพธิสารัตนะ
ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร
สไตลิสต์ : รุจิกร ธงชัยขาวสอาด
บทความน่าสนใจ
วรรณคดีไทย สร้างแรงบันดาลใจ กับ Point of View วิว – ชนัญญา เตชจักรเสมา
เรื่องจริง ที่เป็นยิ่งกว่านิยาย พี่น้องพลัดพรากกลับมาเจอกัน 30 ปีให้หลัง
เที่ยวตามรอยนิยาย “กาหลมหรทึก” ดูสถานที่จริง ให้อินนิยาย