“รถพยาบาล” คันนี้… “ถอยไม่ได้”

“รถพยาบาล” คันนี้… “ถอยไม่ได้”

“หลายคนเคยถามผมว่า ทำไมต้องนำเงินส่วนตัวไปซื้อยา ซื้อเครื่องมือปฐมพยาบาล แถมต้องอดหลับอดนอนทุกคืนขับ “รถพยาบาล” เพื่อไปช่วยใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่ญาติเราด้วยซ้ำ มีแต่ผมคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่า เมื่อลงมือทำแล้วจะถอยไม่ได้”

ปาว – ภานุพงศ์ ลาภเสถียร เป็นเจ้าของข้อความข้างต้น แววตาซื่อๆ บวกกับบุคลิกนิ่งๆ ช่วยย้ำกับคนฟังอีกหนึ่งคำรบว่า เขาไม่ได้พูดเกินเลยไปจากความจริง

เมื่อเจ็ดแปดปีที่ผ่านมา ชาวบ้านร้านตลาดย่านบางลำพู ชนะสงคราม สนามหลวง ล้วนคุ้นเคยกับปาวเป็นอย่างดี ค่ำมืดดึกดื่น เขามาตามสัญญาเสมอ เด็กหนุ่มปรากฏตัวพร้อมรถสองล้อคู่ใจ อาศัยแสงไฟจากท้องถนนพอได้กางหนังสือท่องตำรา หากคืนนั้นผ่านพ้นไปโดยไม่มีใครป่วยไข้หรือบาดเจ็บรุ่งสางหนุ่มปาวจะห้อจักรยานกลับที่พัก อาบน้ำอาบท่า แล้วมุ่งหน้าสู่ห้องเรียน

แต่หากค่ำคืนไหนสะดุดลงด้วยเหตุด่วนเหตุร้าย “งานอดิเรก” ของหนุ่มปาวจะเริ่มขึ้นทันที

“ผมเป็นอาสาสมัครกู้ภัยมาแปดปี จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว เกิดเหตุที่ไหนผมจะปั่นจักรยานไปที่นั่นเพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้คนเจ็บก่อนจะนำส่งโรงพยาบาล

“คนที่เล่นกีฬาเป็นงานอดิเรก ตกเย็นก็ต้องไปเล่นกีฬาทุกวัน ผมก็เช่นกัน การช่วยคนเจ็บคืองานอดิเรกของผม”

หนุ่มปาวลุ่มหลงงานอดิเรกที่ว่านี้ เพราะเชื่อคำชักชวนของเพื่อนให้ลองทำงานอาสาสมัคร เขาขึ้นรถกู้ภัยของวชิรพยาบาล นัยว่าเพื่อฆ่าเวลาว่างในวัยเรียน ชีวิตวัยมัธยมของปาวจึงต่างจากวัยรุ่นทั่วไปอย่างสิ้นเชิง

”เวลาเกิดอุบัติเหตุ คนมุงก็จะมุงอย่างเดียว แต่ไม่มีคนเข้าไปช่วยคนเจ็บเลย แม้แต่คนที่จะเข้าไปถามว่า ‘เป็นอะไรมากไหม ติดต่อญาติให้ไหม’ ก็ไม่มี

“นั่นเป็นภาพที่ทำให้ผมประหลาดใจ แม้แต่ตัวผมเองซึ่งยืนสวมชุดอาสาสมัครก็ยังละล้าละลังทำอะไรไม่ถูก ผมจึงถามตนเองว่า ถ้าออกมายืนเก้ๆ กังๆ อย่างนี้ นอนอยู่บ้านไม่ดีกว่าหรือ”

ความคิดที่จะทำให้ตนเองแตกต่างจากไทยมุงคนอื่นๆ เกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้น ปาวบอกกับตนเองว่า ต่อไปนี้หากเกิดเหตุร้ายขึ้น เขาจะไม่เป็นเพียงคนดูอีกต่อไป

“ผมกลับมาคิดว่า เวลานั่งรถเมล์ไปไหนมาไหน รถก็ติด แถมยังเสียค่าโดยสาร แต่ถ้าขี่จักรยานจะคล่องตัวกว่า ซอกแซกเข้าตรอกเข้าซอยได้สะดวก เพียงผมแบกเป้ที่บรรจุอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไปหนึ่งใบ เวลาเจออุบัติเหตุที่ไหน ผมก็ช่วยเหลือคนเจ็บได้ทันท่วงที”

“ผมออกแบบจักรยานกู้ภัยขึ้นมาเอง เชื่อมตู้เหล็กติดด้านท้ายเอาไว้ใส่อุปกรณ์ปฐมพยาบาล เดินสายไฟเพื่อเปิดไซเรน เรียกว่าเป็น ‘รถพยาบาล’ ที่มีประสิทธิภาพทีเดียว”

“ผมช่วยไม่เลือก ไม่ว่าใครจะป่วยเป็นอะไรมา บางรายประสบอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นต้องเข้าเฝือกหรือปั๊มหัวใจ บางรายเป็นแค่แผลถลอก ผมก็ทำแผลให้ แม้แต่คนเร่ร่อนแถวสนามหลวง ผมก็ยังปันยาบางส่วนให้เขาไปบ้าง ขอให้เจ็บป่วยมา ผมช่วยทุกคน

หนทางของ ”รถพยาบาลสองล้อ กำลังไปได้สวย ปาวเองก็มีความสุขกับงานอดิเรกของเขา ส่วนแม่ค้าแม่ขายก็อุ่นใจที่เห็นหนุ่มพร้อมจักรยานกู้ชีพวนเวียนอยู่ละแวกนั้น เพื่อคอยผ่อนหนักเป็นเบายามเกิดเหตุฉุกเฉิน

ไม่เคยมีใครคาดคิดว่า วันหนึ่งเครื่องมือปฐมพยาบาลที่บรรจุอยู่ในตู้เหล็กใบนั้นจะถูกใช้เพื่อกู้ชีพผู้เป็นเจ้าของ

“วันนั้นผมได้รับแจ้งว่ามีผู้หญิงถูกทำร้ายที่สนามหลวง จึงปั่นจักรยานไปด้วยอารามรีบร้อน ปรากฏว่าที่ถนนหน้าวัดพระแก้วมีน้ำมันเครื่องหกอยู่ พอจักรยานของผมเหยียบเข้าก็ลื่นล้มไม่เป็นท่า”

“ตู้เหล็กน้ำหนักราว 100 กิโลกรัมล้มทับมาที่ขา ผมเจ็บแปลบที่ข้อเท้าอย่างรุนแรง กระดูกข้อเท้าแทงออกมาจากเนื้อ เลือดนองเต็มพื้น ผมหน้ามืดและเริ่มหายใจไม่เข้าปอด”

นอกจากโมโหตัวเองที่พลาดพลั้งจนได้เรื่องเจ็บตัว ปาวยังหงุดหงิดกับบรรดาไทยมุงที่มุงเพียงอย่างเดียวจริงๆ เวลาผ่านไปเป็นนานก็ไม่มีใครเข้ามากู้ภัยให้เขาเลยสักคน

“คนที่เข้ามาช่วยผมวันนั้นกลับเป็นแม่ค้าส้มตำที่เดินผ่านมา เขายกจักรยานที่ทับขาผมออก ไขกุญแจเปิดตู้เหล็กเอาเฝือกมาใส่ให้ผม ตอนนั้นยังพอมีสติ ผมก็พากย์ให้เขาทำตาม จากนั้นผมต่อท่อให้ออกซิเจนตนเองแล้วก็ควานหาวิทยุเพื่อเรียรถพยาบาลมารับ”

คืนนั้นหนุ่มปาวนอนรักษาตัวบนเตียงคนไข้ข้างๆ คนเจ็บที่เขากำลังจะไปช่วย หมอเย็บแผลให้ผู้หญิงคนนั้นไม่กี่เข็ม แล้วอนุญาตให้เธอกลับบ้านได้ แต่สำหรับคนไข้ชื่อปาว หมอให้เขากะเตงเฝือกที่ข้อเท้าต่อไปอีกหลายเดือน พร้อมกับคำสั่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา

“ห้ามปั่นจักรยานเด็ดขาด”…หมอบอกกับปาวอย่างนี้

ตำนานรถพยาบาลสองล้อทำท่าจะปิดตัวลงเพราะคำสั่งของหมอ เมื่อปาวไม่สามารถปั่นจักรยานได้อีก บทบาทของนักกู้ภัยที่ทำงานด้วยใจรักก็อาจถึงคราวสิ้นสุด

แต่ด้วยความคิดที่ว่า “ชีวิตคงไร้ความหมาย หากยอมจำนนต่อโชคชะตา” ชาวบ้านย่านบางลำพูจึงได้เห็นปาวสวมเครื่องแบบอาสาสมัครตระเวนกู้ภัยอีกครั้งเพียงแต่ครั้งนี้พาหนะคู่ใจของเขาไม่ใช่คันเดิม

“เมื่อได้เงินรางวัลจากรายการ ‘อัจฉริยะข้ามคืน’ ผมนำเงินหนึ่งล้านไปซื้อรถตู้มือสองหนึ่งคัน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตครบถ้วนและออกตระเวนกู้ภัยตามปกติ จะเว้นบ้างในบางวันเพราะสู้ค่าน้ำมันไม่ไหว

งานอาสาสมัครกู้ภัยของปาวยังคงเดินหน้า การย้ายที่นั่งจากอานจักรยานมาอยู่หลังพวงมาลัยทำให้ปาวต้องเผชิญปัญหาจิปาถะ ไหนจะเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าตอนปั่นจักรยานหลายเท่า เรื่องความคล่องตัวที่รถตู้แพ้จักรยานขาดลอย

และเหนือสิ่งอื่นใด มีผู้คนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจอุดมคติแห่งชีวิตของเด็กหนุ่มคนนี้ พวกเขาไม่เชื่อว่าในโลกนี้ยังมีน้ำจิตน้ำใจที่คนเรามอบให้กันฟรีๆ ปาวจึงต้องเผชิญกับคำถามของผู้คนที่ค่อนว่า เขาทำเช่นนี้เพราะอยากดัง!

“ทำงานอย่างนี้มีทั้งคนชอบคนชัง แต่จะเอาคำค่อนขอดของคนไม่กี่คนมาทำลายสิ่งที่เราตั้งอกตั้งใจน่ะหรือ ผมว่าไม่ถูก หากเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นความดี ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะท้อแท้หรือล้มเลิก เวลาเจอปัญหา ผมจะปล่อยมันไป เดี๋ยวก็ผ่านไปเอง

แม้ปาวจะย้ำบ่อยครั้งว่าเขาอาสากู้ภัยเป็นงานอดิเรกแต่สังเกตจากเครื่องแบบที่เขาใส่ รถที่เขาขับ ประกอบกับไซเรนที่ติดอยู่บนหลังคารถตู้คู่ใจของเขา ก็เพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่า “รถพยาบาล” คันนี้ “ถอยไม่ได้”… อย่างที่ปาวบอกไว้ไม่มีผิด


บทความน่าสนใจ

พยาบาลนางฟ้าบริจาคน้ำนมให้แก่ลูกชายที่แม่ป่วยเป็นมะเร็ง จนไม่สามารถให้นมเองได้

ตำรวจจอร์เจียอบอุ่น โอบกอดเด็กน้อยในโรงพยาบาล แทนอ้อมกอดของพ่อแม่

โมเมนต์สุดซึ้ง! บุรุษพยาบาลร้องเพลงให้หญิงชราป่วยหนักฟัง ตามคำขอสุดท้าย

ดนตรีจิตอาสา ความสุขในทุกบันไดเสียง

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.