ธรรมลิขิต

ธรรมลิขิต ๑๒ ฉบับ จากพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)

ธรรมลิขิต ๑๒ ฉบับ จากพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)

เมื่อปี ๒๕๐๖ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เมตตาไปอยู่จำพรรษาที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ท่านได้มีลิขิตเป็นจดหมายชี้แจงข้ออรรถ ข้อธรรมสั้น ๆ แต่มีใจความลึกซึ้ง ส่งถึงคณะทางวัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่ เป็นครั้งคราว เท่าที่ท่านอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน วัดอโศการามได้เก็บรวบรวมไว้มีจำนวน ๑๒ ฉบับ ลงพิมพ์เป็นธรรมเมตตาอนุสรณ์ใน “พุทฺธาจารปูชา”

 

ฉบับที่ ๑

ให้ละกิเลสออกจากจิตให้หมดทุกคน กิเลสนี้แหละทำให้คนเราเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด กิเลสนั้นท่านย่นย่อเข้ามา ก็คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ๓ อย่างนี้เท่านั้น ทำไมจึงเกิดมาสร้างกิเลสให้มากขึ้นไปทุกภพทุกชาติ

ทำไมหนอ ใจคนเราจึงไม่ยอมละ การละไม่หมดสักที ในชาติเดี๋ยวนี้ให้ตั้งใจละทั้งพระและทั้งเณร ญาติโยมทั้งหลาย

ความโกรธเมื่อเกิดขึ้น อย่าโกรธไปตาม ถ้าไม่ได้โกรธไปตาม มันจะตายเทียวหรือ ? ทำไมจึงไม่ระลึกอยู่เสมอ ๆ ว่า เราจะละความโกรธให้หมดสิ้นไปในเวลาเดี๋ยวนี้ ๆ

อย่าได้มีความท้อถอยในการสร้างความดี มีการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ พร้อมทั้งการเจริญสมาธิภาวนา ฆ่ากิเลส ตัณหาให้หมดไป ใจจึงจะเย็นเป็นสุขทุกคน

 

ฉบับที่ ๒

ให้พากันตั้งใจฟังด้วยดี จึงจะได้ปัญญา ความโลภในจิตใจของคนเรา ไม่มีที่พอที่เต็มได้เลย ต่อให้ดอยสุเทพหมดทั้งลูกกลายเป็นทองคำ จิตของคนเราก็จะยังไม่พอ ทางที่ดีให้ตั้งจิตอยู่ในภาวนา ตั้งจิตดวงนี้ให้เต็มในขั้นสมถกรรมฐาน พร้อมกับวิปัสสนากรรมฐาน ให้แจ่มแจ้งในดวงใจทุกคนเท่านั้นพอ

เพราะว่าเมื่อเราเกิดมา ทุกคนก็ไม่ได้มีอะไรติดมา ครั้นเมื่อเราทุกคนตายไปแล้ว แม้สตางค์แดงเดียวก็เอาไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จงพากันนั่งสมาธิภาวนาให้เต็มที่ จนกิเลสโลภะอันมันนอนเนื่องอยู่ในจิตนี้ ให้หมดเสียวันนี้ ๆ ถ้ากิเลสความโลภนี้ยังไม่หมดจากจิต ก็ยังไม่ให้หยุดยั้งภาวนาจนวันตายโน้น

 

ฉบับที่ ๓

กิเลสตัวสำคัญที่ฝังลึกในใจมนุษย์ คือ กิเลสความหลง ความหลงนี้ คือ หลงกายหลงจิตนี้เอง ทางที่แก้จิตหลงนี้ ให้พากันทำสมาธิให้ได้ทุกวันทุกคืน ทั้งยืน ทั้งนั่ง ทั้งนอน

การตั้งจิตนั้นให้มั่นอยู่ที่ลมหายใจ เข้าออกจนจิตนี้ใสสว่าง หายมืด หายหลง หายมัวเมาในกามคุณทั้ง ๕ จนเกิดดวงตาญาณเผาผลาญกิเลสให้หมดไป

กิเลสความหลงนี้…มันชอบกับคนขี้เกียจ ขี้คร้าน หลังยาว ชอบนอนก่อน ยังไม่ภาวนา ด้วยเหตุนี้เราทุกคนอย่าหลงใหล อยู่แค่กินแล้วก็นอน กินแล้วก็นอนเท่านั้นเลย

เมื่อพากันได้ฟังธรรมคำสอนนี้แล้ว จงพากันลุกขึ้นทำลายกิเลสโมหะ ความหลงในจิตให้หมดสิ้นไปเทอญ

 

ฉบับที่ ๔

บัดนี้ เราทุกคนรู้แล้วว่า กิเลสมันดองอยู่ในจิตของเรามานานจนนับภพนับชาติไม่ได้ ที่เรามาเกิดมาตายอยู่ในโลกนี้ ก็เพราะจิตนี้ยังหลงอยู่ในกามารมณ์ สำคัญผิดคิดว่า กามให้ความสุข ที่ไหนได้…กามนี้มันให้ความทุกข์ตั้งแต่เกิดจนเราตาย ตายแล้วยังตามจิตหลงไปจนนับภพนับชาติไม่ได้ในอนาคต ดูแต่ในปัจจุบันนี้ คนใดบริโภคกามทางกายอยู่ ทางวาจาทางจิตอยู่ ย่อมมีแต่เรื่องร้อนจิต ร้อนใจ ทั้งภายนอกทั้งภายใน

ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อเราทั้งหลายได้ฟังธรรมนี้แล้ว ได้พากันละกาม ตัวมารร้ายนี้ออกให้หมดสิ้น อย่าเสียดายอยู่เลย

 

ฉบับที่ ๕

ความขยันหมั่นเพียรเป็นยอดธรรม คำว่า ความขยันหมั่นเพียรตั้งภายนอกถึงภายในนั้น ผู้ที่เป็นนักบวชต้องขยันหมั่นเพียรในการปัดกวาดเช็ดถู แต่ก่อนอื่นที่จะปัดกวาดนั้น ต้องพร้อมเพรียงกันเอาหญ้าในบริเวณวัด ที่อยู่ที่อาศัย โดยเฉพาะในฤดูกลางพรรษา ไม่ว่าวัดใดย่อมมีหญ้าเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อได้รับอุบายนี้มาทีไร ให้เณรทุกรูป ศิษย์วัดทุกคน ลุกขึ้นยืนจับจอบดายหญ้า พระทุกรูปก็ลุกขึ้นปัดกวาดพร้อมกันไป ให้เห็นว่า เป็นกิจส่วนรวมของหมู่คณะ อย่านั่งดูดายเป็นอันขาด

ส่วน ความขยันภายใน ได้แก่ การท่องบ่นสาธยาย ศึกษาเล่าเรียน ฟังเทศน์ สนทนาธรรม กราบพระทำวัตรเช้าเย็น สวดมนต์ภาวนาท่องคาถา นั่งสมาธิ ไม่ให้ขาด กลางวัน ๒ ชั่วโมง กลางคืน ๒ ชั่วโมง

ส่วนการตั้งจิตให้กำหนดลมหายใจ เมื่อหายใจเข้าก็ให้มีสติว่า นี้ลมหายใจได้เข้าไป เมื่อลมหายใจออกก็ให้มีสติว่า นี้ลมหายใจออกไป ไม่ให้ลืมเป็นอันขาด จงเลียนแบบลมหายใจ ตั้งแต่เราเกิดมาไม่หยุดสักที ถ้าหากว่า ลมหายใจหยุดก็ตายเป็นผีเฝ้าปฐพีเท่านั้นเอง

อาจารย์หวังว่า ศิษยานุศิษย์ทั้งญาติโยมทั้งหลาย คงปฏิบัติได้ตามที่กล่าวมานี้ทุก ๆ คน

 

ฉบับที่ ๖

การทำความเพียรเพื่อละกิเลสนั้น ไม่ใช่เรื่องเล่น กิเลสในใจมนุษย์นี้ก็จะพากันเกิด พากันตาย ในอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด

ด้วยเหตุนั้น พุทธบริษัทสี่ที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่

๐ จงเพียรทำทานการกุศลจนวาระสุดท้ายหมดลมหายใจ

๐ จงเพียรพยายามรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

พร้อมขันติอดทนทุกคนจนตราบเท่ายาวชีวัง…ตลอดชีวิต ด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใสจริง ๆ

ให้พากันทำความเพียร นั่งสมาธิ ยืนก็ให้เป็นสมาธิ เดินไปมาก็ให้เป็นสมาธิ ถอยหลังก็ให้จิตเป็นสมาธิ ไปรถไปเรือก็ให้เป็นสมาธิ ลงจากรถ ขึ้นจากเรือ ก็ให้เป็นสมาธิ ขึ้นเครื่องบินก็ให้เป็นสมาธิ ขณะโดยสารเครื่องบินก็ให้เป็นสมาธิ

เวลาพูดก็ให้เป็นสมาธิ เวลาคิดก็ให้เป็นสมาธิ ตลอดเวลากลางวันก็ให้เป็นสมาธิ ตลอดเวลากลางคืนก็ให้เป็นสมาธิ

อยู่ดีก็ให้เป็นสมาธิ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้เป็นสมาธิ ครั้นสุดท้ายเวลาจะตายยิ่งให้เป็นสมาธิอย่างเยี่ยมยอด ถอดถอนอาสวะกิเลสออกให้หมดสิ้น ก็ดับขันธ์เจ้าสู่ปรินิพพาน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

ฉบับที่ ๗

เวลาเขียนธรรมอยู่นี้ อยู่ในกึ่งกลางพรรษานี้ ให้พากันระลึกถึงพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ท่านพระโยคาฯให้พยายามตั้งจิตในก่อนเข้าพรรษาว่า ในพรรษาจะทำความเพียรแผดเผากิเลสให้หมดภายใน ๗ วัน พระโยคาวจรเจ้าก็ละกิเลสได้เป็นพระโสดาบัน บางท่านก็เป็นพระสกิทาคา บางท่านเป็นพระอนาคา องค์สำคัญได้สำเร็จอรหันต์ภายใน ๗ วันเท่านั้นเอง

บางท่านก็ยังไม่สำเร็จเร็ว ท่านก็ตั้งสัตย์อธิษฐานใหม่ภายในเจ็ดวันข้างหน้าอีก ถ้ายังไม่สำเร็จก็ตั้งจิตว่า ครึ่งพรรษาให้สำเร็จ ถ้ายังไม่สำเร็จก็ตั้งจิตทำความเพียรต่อไปในวันใดวันหนึ่งในกลางพรรษานั้น

ถ้าหากยังไม่สำเร็จ ท่านก็ตั้งจิตให้เด็ดเดี่ยวเต็มที่ ว่าไม่เกินในคืนวันออกพรรษา วันมหาปวารณา เมื่อวันมหาปวารณาผ่านไปแล้ว พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายที่จำพรรษาอยู่ในอาวาส พร้อมด้วยญาติโยมก็สำเร็จมรรคผล เห็นแจ้งซึ่งพระนิพพานตามอุปนิสัยวาสนาของตน

ฉะนั้น พวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ผู้ได้สาธยายฟังธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว จงให้ทำความเพียรละกิเลสให้หมดสิ้นไปภายในพรรษานี้ ทุกคนที่มีชีวิตอยู่นี้เทอญ

 

ฉบับที่ ๘

การละกิเลสเป็นของว่าง่าย การเอากิเลสเป็นของยาก คนทุกคนที่เกิดมา หาเอาแต่กิเลสมาเพิ่มใหม่เรื่อยไป

เมื่อเราเกิดมามีกิเลสตัวเดียว ผู้ชายก็ชายคนเดียว ไม่ได้กอดคอหญิงมาแต่เมื่อเกิด ผู้หญิงเมื่อเกิดมาเป็นผู้หญิงคนเดียว ไม่ได้กอดคอชายมาแต่เกิด ทั้งชายและหญิงเมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่ และก็เปลือยกายออกมาทุกคน ในเวลานั้น ไม่มีสมบัติในโลกใดๆ เป็นของตัว เมื่อใหญ่แล้วจึงดิ้นรนวุ่นวายหาเอาสมบัติในโลกนี้ จึงได้เกิดความยุ่งยากร้อยแปดอย่างนี้แหละ

เราทั้งหลาย อาจารย์เองจึงแสดงธรรมว่า ละกิเลสเป็นของง่าย ให้ดูตัวอย่างที่อ้างมาให้เห็น เมื่อพิจารณาเห็นแจ้งดังกล่าวสอนมานี้แล้ว จงพากันตื่น ลุกขึ้นกราบพระ ๓ หน ไหว้พระสวดมนต์ เข้าที่นั่งสมาธิ ละกิเลสที่พ่วงเข้ามาใหม่นี้ออกไปให้หมด ถ้ายังไม่หมดให้ลุกขึ้นยืนหยัดละกิเลสให้หมดไปในเวลายืนนี้ ถ้ายังไม่หมดอีก ให้ก้าวเดินจงกรมต่อสู้กับกิเลส ภาวนาละกิเลส ความโกรธ ความโลภ ความหลงให้หมดสิ้นไปในทางเดินจงกรมนั้น ถ้ายังไม่ตาย เราผู้เดินภาวนาก็ให้เดินต่อไปจนหมดลมหายใจล้มตายตรงทางเดินจงกรมนั้นเลย

 

ฉบับที่ ๙

การภาวนากิเลสให้หมดไปจริง ๆ นั้น ต้องปฏิบัติดังนี้

เมื่อกำหนดรูปร่างกายของเรา บริกรรมกำหนดลมหายใจจนจิตตั้งมั่นดีแล้ว ต้องกำหนดรูปร่างกายของเราเอง นับตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ไปตลอดจนหมดในร่างกายนี้ ให้เห็นตามความเป็นจริงที่มันตั้งอยู่ และมันเสื่อมไปด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วย มีทวารทั้ง ๙ เป็นสถานที่ไหลออกไหลเข้าซึ่งของไม่งาม

คนที่เกิดมาแล้วมักจะหลง ไม่ค่อยกำหนดดูว่า ตัวเรานี้เมื่อมาปฏิสนธิในท้องของมารดา ต้องมาเอาก้อนอสุภกรรมฐานอยู่ในท้องมารดา นานถึง ๑๐ เดือนจึงได้คลอดออกมา ในวันคลอดนั้นปฏิกูลขนาดไหน ในบริเวณคลอดเต็มไปด้วยน้ำเลือด น้ำเหลือง กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว

นี้แหละ รูปกายนี้เป็นของไม่งาม จงกำหนดให้เห็น ก็จะได้พิจารณาไปถึงวันตาย สุดท้ายนี้เมื่อได้ฟังธรรมกัณฑ์นี้แล้ว จงพากันกำหนดกายอันเป็นอุบายละกิเลสให้หมดไป

—-

“..อยู่บริสุทธิ์เสียอย่าง..อะไรก็ช่าง..เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้..”

 

ฉบับที่ ๑๐

โลกนี้มีแต่เรื่องทุกข์ ความสบายในโลกนี้ไม่มี จงพากันตั้งจิตให้มั่น อย่าหวั่นไหว ก็จะเห็นว่าโลกนี้เป็นทุกข์ กายมันก็ทุกข์เพราะความเจ็บไข้ไม่สบายต่าง ๆ นานา ทั้งที่ล่วงมาแล้วก็นับครั้งไม่ได้ ทุกข์ในการบริโภคอาหาร  ทุกข์เวลาแสวงหาอาหาร ทุกข์ในการแสวงหาที่อยู่อาศัย ทุกข์กับเครื่องนุ่งเครื่องห่ม ทุกข์ในการแสวงหายาแก้โรค รูปร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ลำบากเต็มทน ผู้ใดทนได้ก็อยู่ไป ผู้ใดทนไม่ได้ก็ตายไป นี้แหละทุกข์กาย

ทุกข์จิตใจนั้นไม่มีเวลาพอ ทุกข์เพราะตัณหาความอยากได้ไม่มีเพียงพอ ที่พอในจิตนี้ไม่มีเสียแล้ว ถ้าใครปล่อยจิตตามตัณหา ไม่ภาวนา ยิ่งทุกข์ ถ้าหากผู้ใดมารู้ว่า จะละตัณหาให้ได้ก็ด้วยการตั้งใจทำสมาธิภาวนา ก็ให้เริ่มตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ไม่ประมาทในการรักษาจิต เพ่งพินิจอยู่แต่ในกายกับจิตเท่านั้น จนกระทั่งจิตรู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ ก็จะพ้นทุกข์ทุกคนแล

 

ฉบับที่ ๑๑

พระธรรมวินัยเป็นครูเป็นอาจารย์ให้แก่ทุกคน แต่ทุกคนต้องทำตามพระธรรมวินัย อย่าล่วงเกิน อย่าประมาทพลาดพลั้ง ให้มีสติทุกขณะ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ทุกขณะใจคิดธรรมารมณ์

อย่าหลงใหลไปในข้างที่ดีจนดีแตก อย่าให้จิตหลงไปในทางชั่วจนถอนตัวไม่ขึ้น จงระลึกอยู่เสมอว่า พระธรรมท่านพร่ำสอนเราอยู่ทุกลมหายใจ ว่าให้ทำดีทางกาย ให้พูดดีทางวาจา ให้คิดดีทางใจ

พระวินัยนั้นสอนให้ละออกไป สิ่งใดไม่ดี ผิดศีล อย่าทำ อย่าพูด ไม่ให้พากันทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ไม่ให้ความโลภอยากได้มานอนอยู่ในดวงใจ จนประพฤติผิดพระวินัย ไม่รู้สึกตัว ถ้าทุกคนทำตามครู คือ พระวินัยที่กล่าวมา ก็จะได้รับแต่ความสุข ความเจริญอย่างเดียว ดังนี้แล

 

ฉบับที่ ๑๒

การฝึกหัดทำจิตในสมาธิภายใน ให้ทำอยู่เสมอไม่ว่าเวลาใด จิตให้มีความระลึกอยู่ในดวงจิต ดวงที่รู้อยู่ภายใน คอยระวังจิตดวงในไม่ให้หลงทางตามสังขารจิต

จิตที่ไปไม่เอา ให้เอาดวงจิตที่รู้อยู่ ดวงจิตที่รู้อยู่นี้ไม่ได้ไปที่ไหน ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่ภายในนี้เอง ขณะใดที่จิตสังขารมันไปก็ยังไม่รู้อยู่ว่า จิตของเราไปไหน ขณะจิตสังขารมันกลับมาก็ว่ามันกลับมา ให้ทุกคนกำหนดให้ได้ว่า จิตดวงในนี้อยู่ภายในนี้แล้ว ไม่ต้องไปหาที่อื่น

จงรู้เฉพาะหน้าเฉพาะใจอยู่เสมอ ๆ ให้รู้ได้ทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง ทั้งนอน ตั้งมั่นอยู่ในดวงจิตดวงที่รู้อยู่นี้ นอกจากจิตที่รู้อยู่นี้…ทั้งหมดเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน นอกจากจิตที่รู้อยู่นี้…เป็นทุกข์ นอกจากจิตที่รู้อยู่นี้…ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ควรลุ่มหลงไปกับเรื่องใด ๆ ทั้งหมด ควรรู้อยู่ในเวลาปัจจุบันอย่างเดียว

ถ้าผู้ปฏิบัติมาทำความเพียรเพื่อละกิเลส รวมกำลังลงไปสู่ดวงจิตที่รู้อยู่นี้ให้เต็มที่แล้ว ก็จะเกิดความรู้แจ้งได้แสงสว่างในธรรมปฏิบัติทุก ๆ คนไป ฯ

 

ขอบคุณที่มา : หนังสือละอองธรรม หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ๑๐๐ ปี ชาตกาล , ๒๕๕๕

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

“จงปฏิบัติธรรม อย่าได้เป็นผู้ประมาท” คำสอนของ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

ผู้มีความเพียรเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ คำสอนของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร

วัดอยู่ที่ดวงใจคน พระธรรมเทศนาโดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

“ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน” หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล อาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.