เมื่อโชคชะตาทดสอบใจ จุ๋ม นรีกระจ่าง คันธมาส (จบ)
หากย้อนเวลากลับไปได้ สิ่งที่ จุ๋ม นรีกระจ่าง คันธมาส อยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือเรื่องนิสัยของตัวเอง สมัยที่ร้องเพลงอยู่กับค่ายเพลงคีตา
ตอนนั้นเด็กผู้หญิงจากชนชั้นกลางคนหนึ่งได้รับโอกาสมากมาย กลายเป็นนักร้องที่มีแต่คนเอาอกเอาใจ สามปีที่อยู่ใน “บ้านคีตา” จุ๋มไม่คิดเลยว่าจะมีวันที่บ้านหลังนี้จะแตกทำให้หลงระเริงว่าชีวิตมีแต่คนมาชื่นชม ได้ใช้ชีวิตหรูหราร้องเพลงในงานกาลาดินเนอร์ มีรายได้เดือนละเป็นแสนๆจึงใช้อารมณ์กับทุกคนที่อยู่รอบข้าง โดยเฉพาะกับทีมงานจนทำให้เวลาใครเห็นจุ๋มเดินมาก็จะหนีกระเจิง คล้ายกับว่ายายตัวร้ายมาแล้ว รีบหลบไปดีกว่า ยังไงยังงั้น
แต่โชคดีที่ “ความไม่น่ารัก” ของจุ๋มในวันนั้นเลือนหายไปได้เพราะมีความทุกข์เข้ามาเป็นตัวช่วย
…หลังจากค่ายเพลงคีตาปิดตัวลง จุ๋มได้เห็นสัจธรรมของความไม่แน่นอน จากที่เราเคย “มี” อะไรในวันนั้น เราก็จะ “ไม่มี” อีกต่อไปวิกฤติครั้งนั้นทำให้จุ๋มหันมามองตัวเองชัดๆ อีกครั้ง และพบว่าสิ่งที่ตัวเองเคยทำมานั้นไม่ดีเลย ทั้งใช้อารมณ์ หงุดหงิดง่าย และวีนได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ชุดไม่สวยก็โวยวาย รองเท้าไม่ใช่แบบที่ชอบก็โกรธ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีวิธีพูดคุยจัดการที่ดีกว่านี้ แต่ตอนนั้นกลับเกรี้ยวกราดเอากับคนอื่นตลอดเวลา
นี่จึงเป็นหน้าต่างบานแรกๆ ที่เปิดให้จุ๋มรู้จักตัวเองดีขึ้น จนทุกวันนี้เมื่อพี่ๆ ทีมงานของค่ายเพลงแห่งนี้มาเจอจุ๋มอีกครั้งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อะไรกันนะที่ทำให้จุ๋มเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้”
ถ้าให้อธิบาย จุ๋มต้องบอกว่าจุ๋มได้ค้นพบว่ามนุษย์เรามีศักยภาพในตัวสูงมาก เราสามารถที่จะทำทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ถ้าเรางัดด้านดีออกมาใช้ เราจะรู้ว่าตัวเองทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและคนอื่นได้อีกมาก นอกจากนั้นจุ๋มยังได้อ่านหนังสือเยอะมาก เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาต่างๆ ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม ซึ่งทั้งหมดนี้ค่อยๆขัดเกลาจิตใจเราให้อ่อนโยนลง โดยเฉพาะพุทธศาสนา ที่ช่วยให้จุ๋มเข้มแข็งในขณะที่ชีวิตต้องพบเจอกับมรสุมที่ซัดสาดเข้ามา…
หลังจากที่น้องสาวของจุ๋มตาบอดในปี 2544 อีกราวหกปีต่อมาจุ๋มก็ต้องตั้งสติอีกครั้ง เมื่อสามีล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง
จุ๋มกับสามีแต่งงานกันเงียบๆ เพราะต่างก็อายุมากด้วยกันทั้งคู่ หลังจากจดทะเบียนสมรสที่เมืองไทย จุ๋มและสามีวางแผนไปใช้ชีวิตคู่ด้วยกันที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถานที่ที่แฟนจุ๋มทำงานอยู่สัก 2 ปี หลังจากนั้นจะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยด้วยกัน แต่เราใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุขอยู่ที่ลอนดอนได้เพียงไม่กี่เดือน อาการเจ็บป่วยของสามีก็เริ่มปรากฏให้เห็น
เขามีอาการเหม่อลอย กินอาหารแล้วอาเจียน และมีอาการบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ “พี่ตุ้ย” คนเดิม ตอนแรกจุ๋มคิดว่าเขาคงจะเครียดกับงานมากเกินไป แต่สิ่งที่ปรากฏหลังจากนั้นทำให้รู้ว่าต้องมีความผิดปรกติเกิดขึ้นกับเขาแน่นอน เพราะวันหนึ่งหลังจากสามีอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ เขาก็เดินไปนั่งสวมรองเท้าที่ม้านั่งหน้าแมนชั่นเพื่อไปทำงาน ส่วนจุ๋มก็ทำนั่นทำนี่อยู่ในบ้าน แต่พอเดินกลับออกมาอีกที พบว่าสามีนอนหมดสติอยู่ตรงนั้นแล้ว
ในวันนั้นเองเจ้านายของสามีก็ส่งตัวเขากลับประเทศไทยด่วนโดยมีจุ๋มตามกลับมาทีหลัง ครั้งแรกที่คุณหมอตรวจดูอาการของเขาไม่พบว่ามีความผิดปรกติอะไร เราเลยคุยกันว่าน่าจะเป็นเพราะความเครียด แต่แล้วอาการของเขาก็ทรุดลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายคุณหมอต้องเจาะเนื้อเยื่อบริเวณคอมาตรวจ
ผลที่ออกมาทำให้เราสองคนบีบมือกันแน่น คุณหมอบอกว่า เขาเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย ฟังแล้วจุ๋มรู้เลยว่า คำว่า “มะเร็ง”มันทำให้คนตายไปแล้วครึ่งตัว แต่สำหรับสามีของจุ๋มเขากลับมีกำลังใจที่เข้มแข็ง และพูดให้เรารู้สึกดีขึ้นว่า เขาจะต้องหาย เพราะเขาเพิ่งแต่งงาน และพูดเล่นกับจุ๋มว่าถ้าทำคีโมเขาจะไม่หล่อเหมือนเดิมแล้ว จุ๋มเลยได้แต่บอกเขาว่า “ให้หายก่อนเถอะ เรื่องอื่นไม่สำคัญ”
จุ๋มตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะเป็นภรรยาที่ดี ดังนั้นต่อให้เขาป่วย จุ๋มก็จะอยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นระยะเวลาเป็นเดือนๆที่เขานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล จุ๋มก็มานอนที่โรงพยาบาลด้วย ส่วนในช่วงกลางคืนก็ออกไปร้องเพลงกับศิลปินคนอื่นๆ ของ “Be My Guest”
แม้ช่วงเวลานั้นจะผ่านไปอย่างยากลำบาก แต่จุ๋มคิดว่าจะทำให้เต็มที่ทั้งดูแลสามีและงาน จนวันที่คุณหมอเดินมาบอกว่า สามีคงอยู่ได้ไม่เกินสองชั่วโมงแล้วนั่นแหละ จึงได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าทุกชีวิตไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการ คนที่เรารักไม่สามารถจะอยู่กับเราได้อย่างที่ใจคิดจริงๆ
ในวาระสุดท้ายของเขา จุ๋มสวดมนต์ให้เขาฟัง โดยมีคุณแม่และน้องสาวของเขายืนอยู่ข้างๆ และได้บอกกับเขาว่า “เราจากกันในชาตินี้…แต่สักวันเราจะได้เจอกันในรูปแบบใหม่”
หลังจากนั้นลมหายใจของเขาก็แผ่วลงๆ เรื่อยๆ จนหมดลมหายใจจุ๋มจึงเดินไปบอกพยาบาลด้วยใจที่สงบนิ่งว่า “เขาไปแล้ว” โดยไม่ร้องไห้ฟูมฟายแต่อย่างใด เพราะเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี
ภาพของเขาในวันที่นอนแน่นิ่ง แบมือให้รดน้ำศพ ยิ่งสอนใจจุ๋มได้หลายอย่าง สอนให้ไม่ประมาทกับความตาย ให้รู้ว่าตัวเราเองก็ไม่สามารถหนีความตายได้พ้น และให้รู้ว่าแม้แต่คนที่เรารักก็ต้องตายจากเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่น้องชาย น้องสาว…คนใดคนหนึ่งต้องจากเราไป เราก็จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับให้ได้ อย่าคิดว่า “ยังไม่ถึงคิวของเรา” หรือ “ยังไม่ถึงคิวของคนที่เรารัก” เป็นอันขาด
ทุกวันนี้แม้สามีจะจากไปแล้ว แต่สำหรับจุ๋มยังรู้สึกเหมือนเขาอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา ยังคอยเป็นกำลังใจให้เราในวันที่อ่อนล้าเช่นเดิม และหลังจากสามีเสียได้ไม่นาน บ้านที่เคยอยู่อาศัยมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยก็โดนยึด เพราะพ่อนำบ้านไปค้ำประกันให้หลานคนหนึ่ง
ถ้าไม่ตั้งสติให้ดี ตอนนั้นจุ๋มคงตัดสินใจโกนหัวบวชชีไปแล้ว แต่ด้วยความที่รู้ว่าการหนีไปบวชไม่ได้ทำให้เราเข้าใจชีวิต เป็นได้เพียงแค่การกลบเกลื่อนความทุกข์เท่านั้น ทำให้จุ๋มใช้เพียงหลักธรรมเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจให้ตัวเองและครอบครัว
เมื่อไรที่พ่อแม่เริ่มจิตตก เราจะพยายามดึงจิตท่านขึ้นมา อย่างน้องชายเป็นโรคนอนไม่หลับ แม่ก็จะเป็นทุกข์ว่าทำไมน้องเป็นแบบนี้ทำไมน้องเรียนจบปริญญาโทแล้ว แต่ชีวิตยังไปไม่ถึงไหนเลย และมีแต่คำถามทำไมๆๆ เต็มไปหมด จนจิตใจหดหู่หม่นหมอง จุ๋มต้องพูดให้ท่านเห็นถึง “ความเป็นธรรมดา” ของสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วเราต้องยอมรับมันให้ได้ ไม่ควรหนี ไม่ควรดิ้นทุรนทุรายแต่ต้องหาทางอยู่กับมันให้ได้
สำหรับจุ๋ม วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราอยู่กับปัญหาต่างๆ ได้คือการรู้จักสับคัตเอ๊าต์ชีวิตตัวเอง เวลาไปทำงานจุ๋มจะไม่แบกความพิการของน้องความตายของสามี ความไม่สมบูรณ์ของครอบครัวขึ้นไปบนเวทีด้วย แต่เราวางไว้ข้างหลัง แล้วทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด ให้คนที่เราอยู่ด้วยขณะนั้นมีแต่ความสุข ความเบิกบานใจ
นอกจากนี้จุ๋มยังเป็นคนค่อนข้างเข้มงวดกับชีวิต เวลาทำอะไรจะทำด้วยใจ ไม่เคยใช้ชีวิตไปวันๆ ถ้ารู้ว่าสิ่งไหนดีจะทำเดี๋ยวนั้นเลย ไม่รีรอ เพราะรู้ว่าเวลาในชีวิตของเราเหลือน้อยลงทุกวัน เราต้องเร่งทำแต่สิ่งดีๆ และสิ่งหนึ่งที่จุ๋มทำคือการช่วยเหลืองานของ โรงพยาบาลศรีธัญญา ของ กรมสุขภาพจิต บางครั้งที่นี่จะเชิญจุ๋มไปร้องเพลงหรือพูดคุย ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้จุ๋มอยากช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์ทางใจอย่างจริงจัง นี่คือเหตุที่จุ๋มตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโททางด้านจิตวิทยา เพื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะได้นำความรู้อย่างเป็นระบบไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น จุ๋มยังชอบบริจาคเงินตามตู้รับบริจาคต่างๆ ซึ่งทำให้เราวัดค่าความเห็นแก่ตัวของเราได้อย่างชัดเจน ว่าเราจะเก็บเงินไว้ช็อปปิ้งหรือจะนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือผู้อื่น จุ๋มชอบลองดูว่าตัวเองจะทำได้ไหม ถ้าทำได้ใจเราจะเบิกบานมีความสุข และภูมิใจว่านอกจากจะเลี้ยงดูพ่อแม่และน้องๆ ได้แล้ว ยังสามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้
ที่สำคัญคือ ทำให้เห็นว่าเงินมีค่าก็จริง แต่คนเราสามารถทำตัวให้มีค่าได้มากกว่าไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า
ดังนั้น สิ่งที่จุ๋มวางแผนไว้คือการทำรายการ “ธรรมะกับเพลง” ซึ่งจะเป็นการหยิบยกเอาเพลงที่ให้กำลังใจมาให้แขกในรายการช่วยกันขบคิดว่าเพลงเหล่านี้ให้แง่คิดดีๆ กับชีวิตเราได้อย่างไรบ้าง เช่นเพลง“เธอผู้ไม่แพ้” ของ พี่เบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์ จุ๋มหวังว่าจะช่วยให้คนที่อ่อนล้า หมดสิ้นกำลังใจในสังคมยืนหยัดได้อีกครั้ง
ณ ตอนนี้หากใครกำลังท้อแท้ จุ๋มอยากส่งความปรารถนาดีไปให้และอยากบอกว่า
“ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาขอให้ใช้ชีวิตด้วยความตื่นรู้และเบิกบาน ขอให้ผ่านปัญหาทุกอย่างไปได้ด้วยพลังใจอันเข้มแข็งนะคะ”
Secret Box
แง่คิดดีๆ จากชีวิตคุณจุ๋ม – นรีกระจ่าง คันธมาส
• อย่าประมาทกับความตาย จงเตรียมตัวรับมืออยู่เสมอ
• รู้จักสับคัตเอ๊าต์ชีวิตตัวเอง เมื่อมีปัญหาอย่านำไปปะปนกับงานหรือเรื่องอื่นๆ
• ต้องเร่งสร้างแต่กรรมดี เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าตัวเองจะมีชีวิตยืนยาวแค่ไหน
บทความน่าสนใจ
ท้อแท้ แต่อย่า “ท้อถอย” กับ 7 ข้อคิด และ คำคมสร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟให้ชีวิต
ปรับเปลี่ยนทัศนคติ เอาชนะ “ความท้อแท้”
Q: ถ้ารู้สึกท้อแท้กับชีวิต ไม่มีกำลังใจ เราควรทำอย่างไร
“กำลังใจ” จากผู้ชายที่ไม่เคยท้อแท้ คริสโตเฟอร์ เบญจกุล
หนุ่ม กะลา กับช่วงเวลาที่พบ “ธรรม” – จากวันที่ทุกข์ถึงวันที่ซึ้งธรรม