ถ้าหนู เคยนอกใจแฟน แต่ตอนนี้สำนึกผิดแล้ว อยากทราบว่าหนูจะได้รับ ผลกรรม อย่างไรบ้าง
ถาม: ถ้าหนู เคยนอกใจแฟน แต่ตอนนี้สำนึกผิดแล้ว อยากทราบว่าหนูจะได้รับ ผลกรรม อย่างไรบ้าง และต้องทำอย่างไรจึงจะได้รับผลกรรมน้อยลง หรือไม่ได้รับผลกรรมเลยคะ
พระวิชิต ธมฺมชิโต ตอบปัญหาในเรื่องนี้ไว้ว่า
ตอบ พระพุทธศาสนาเชื่อในหลักกรรม แต่ไม่ได้ให้ความสนใจ ว่าสิ่งที่ทำให้เราเป็นอยู่ขณะนี้เกิดจากการกระทำใดในอดีต หรือสิ่งที่เราทำขณะนี้จะส่งผลอะไรบ้างในอนาคต พระพุทธองค์ตรัสว่า ผลจากการกระทำ (กัมมวิบาก) เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด เพราะเป็นสิ่งที่พ้นวิสัยที่ปุถุชนจะรู้ชัดได้ เหมือนเรากินแอ๊ปเปิ้ลผลหนึ่ง เรารู้ได้คร่าว ๆ ว่าหวาน อร่อย และอิ่ม แต่การไปตามดูว่าองค์ประกอบทุกชนิดในแอ๊ปเปิ้ลจะมีผลอย่างไรต่ออวัยวะร่างกาย หรืออารมณ์จิตใจบ้างนั้น เป็นไปไม่ได้และไม่มีประโยชน์อะไร
ประกอบกับหลักกรรมในพุทธศาสนานั้นระบุว่า กรรมที่ทำไปแล้วไม่สามารถลบล้างได้ หากทำสิ่งผิดพลาด (อกุศลกรรม)ไปแล้ว สิ่งที่ทำได้คือทำกรรมดี (กุศลกรรม) ใหม่เพิ่มขึ้น และไม่ทำอกุศลกรรมเดิมเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นเราควรอภัยต่อความผิดพลาดของตนเองในอดีตนั้นเสีย ไม่ต้องคิดถึงเรื่องนั้น รวมทั้งผลเสียที่จะตามมา เพราะการคิดทุก ๆ ครั้งคือการทำอกุศลกรรมครั้งใหม่เพิ่มขึ้นเหมือนใช้มีดกรีดซ้ำลงบนแผลเดิม ผลเสียก็ยิ่งทบทวีคูณ ทางที่ดีเราควรหันมาทำความดีที่จะช่วยให้ชีวิตคู่ในปัจจุบันราบรื่นมั่นคง แม้ในอนาคตอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่สู้ดีเกิดขึ้นกับชีวิต ก็ไม่ต้องคิดเชื่อมโยงกับความผิดพลาดในอดีต ปุถุชนมีโอกาสผิดพลาดได้ทั้งนั้น แต่เราควรใช้ความพลาดพลั้งนั้น
เป็นบทเรียนเพื่อการเติบโต อย่าปล่อยให้เหตุการณ์นั้นซ้ำเติมเราอีกด้วยการเฝ้าย้ำคิดหรือกังวลถึงผลของมันเลย ในบทความเรื่อง “เอาอย่างนี้ดีมั้ย” ซึ่งเขียนโดย ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล
พูดถึงเรื่องของกรรมเอาไว้ว่า เคยถามคนคนหนึ่งว่า “เชื่อว่ามีชาติหน้าไหม” คนถูกถามตอบว่า เชื่อสิ “แล้วเชื่อว่ามีชาติที่แล้วไหม” ก็ต้องเชื่อสิชาตินี้ก็คือชาติที่แล้วของชาติหน้าไม่น่าถาม คนถามยิ้มหลังโดนค้อนเสียหนึ่งที “แล้วเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมไหม” เชื่อ “เชื่อว่าอย่างไร” ก็ใครทำกรรมอะไรไว้ต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างที่เขาพูดกันว่า กรรมสนองกรรมนั่นแหละ
ความเชื่อแบบนี้มักถูกนำมาใช้เวลาที่คนคนหนึ่งถูกใครทำร้ายรังแก เอาเปรียบ ทำให้ต้องเจ็บช้ำน้ำใจ เมื่อหมดทางแก้ไข คนส่วนใหญ่มักยอมจำนนปล่อยให้อีกฝ่ายทำร้าย โดยการคิดเสียว่า เราคงเคยทำกรรมกันมา ก็ชดใช้กันไป ใช้ ๆ มันไปเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องมาพบกันอีก บางคนก็ยกเอากฎแห่งกรรมขึ้นมาปลอบใจตัวเองว่า เดี๋ยวมันต้องถูกกรรมสนองเหมือนที่มันทำกับเรา บางทีก็คิดว่ามันจะต้องชดใช้กรรมที่มันทำเอาไว้ ต้องทุกข์ทรมานมากกว่าเรา รากของความคิดแบบนี้มักแฝงไปด้วยความอาฆาตพยาบาท ไม่ใช่ความรู้สึกปลงจริงๆ ความอาฆาตพยาบาท ความโกรธแค้นที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกจะทำให้ทั้งสองฝ่ายผูกเวรจองกรรมกันต่อไปอีกหลายภพหลายชาติ สลับกันทำร้าย สลับกันแค้น หมุนกันไปวนกันมาอยู่อย่างนั้น กงล้อแห่งกรรมยังคงหมุนไปตามแรงเหวี่ยงของความโกรธแค้น
ความพยาบาทอาฆาตไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ หากต้องการหักกงล้อแห่งกรรมนี้ลง ก็ต้องหยุดแรงเหวี่ยง โดยการสลายความแค้นอาฆาตลงด้วยการเจริญเมตตา เมื่อเราเกิดความเมตตาต่ออีกฝ่ายที่ทำร้ายเราได้ การให้อภัย การอโหสิกรรมก็จะเกิดขึ้นได้ การให้อภัยคนที่ทำร้ายเรานั้นไม่ง่ายเลย ใช่ ไม่ง่าย ต้องบอกว่ายากถึงยากที่สุดน่าจะถูกกว่า แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินวิสัยของมนุษย์ เพราะมันเป็นวิวัฒนาการของจิตมนุษย์ เป็นระบบของธรรมชาติที่มนุษย์จะต้องพัฒนาจิตวิญญาณผ่านกระบวนการของกรรม ยังมีมนุษย์ส่วนหนึ่งที่เมื่อชีวิตของเขาต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก หรือต้องเจ็บปวดจากการกระทำของคนบางคน เขาเหล่านั้นเฝ้าแต่โกรธแค้นอาฆาตสาปแช่งอีกฝ่าย โดยลืมนึกถึงเรื่องกฎแห่งกรรม หรือเรื่องกรรมสนองกรรมว่า ความทุกข์ที่เรากำลังได้รับอยู่นี้ แท้จริงแล้วคือผลของกรรม หรือการกระทำของเราในอดีต เราต้องเคยทำให้ใครบางคนเป็นทุกข์อย่างนี้มาก่อน
ถ้าเรามั่นใจว่าชาตินี้เราไม่เคยทำผิดคิดร้ายกับใครอย่างนี้มาก่อนเลย ถ้าเช่นนั้นคงเกิดจากอดีตกาลนานโพ้น คือในอดีตชาติที่เราจำไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ เรื่องราวหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราทั้งสุขและทุกข์เป็นผลของกรรมหรือวิบากกรรม เราเป็นผู้สร้างเหตุแห่งกรรมนั้นด้วยตัวเอง ถ้าเรายอมรับเรื่องกฎแห่งกรรมด้วยใจที่เป็นกลาง แล้วพิจารณาลึกลงไปว่าตอนที่เราเป็นผู้สร้างเหตุหรือเป็นฝ่ายทำร้ายเขาให้ได้รับความทุกข์และความเจ็บปวด เช่นที่เรากำลังได้รับอยู่นี้ เขาคนนั้นคงเจ็บปวดทุกข์ทรมาน น่าสงสารไม่ต่างจากเราในตอนนี้ ควรเปลี่ยนจากความรู้สึกสงสารตัวเองไปสงสารอีกฝ่ายที่เคยถูกเราทำร้าย เฮ้อ นี่เราสลับกันแค้น สลับกันอาฆาตมากี่ภพกี่ชาติแล้วนี่ พอหรือยังทันทีที่จิตเกิดสลดสังเวชเห็นโทษของกรรมนั้น ๆ จิตเกิดปัญญาขึ้นแล้ว เมื่อจิตมีปัญญา การให้อภัย การอโหสิกรรมก็ทำได้ง่าย กงเกวียนกำเกวียนที่หมุนเวียนมานานกี่ภพกี่ชาติไม่รู้ ก็ถึงกาลหักสะบั้นลงอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอีกแล้ว ความโกรธ ไม่มีอีกแล้วความแค้นอาฆาตพยาบาท มีเพียงเมตตา เมตตา เมตตาเท่านั้นที่งอกงามขึ้นในจิตดวงนี้
แต่ถ้าความโกรธแค้นอาฆาตยังมีอำนาจเหนือจิตใจ ยังตะโกนก้องว่า ยัง ยังไม่พอ กงล้อแห่งกรรมนี้ก็จะยังคงหมุนต่อไปอีกนานแค่ไหนไม่มีใครรู้ จนกว่าจิตของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะเกิดปัญญา มีดวงตาเห็นธรรม มองเห็นทุกข์โทษของผูกเวรจองกรรม เปิดใจยอมรับกฎแห่งกรรม เรียนรู้และพัฒนาจิตอย่างแท้จริง จนในที่สุดสามารถปล่อยวางความอาฆาตพยาบาทลงได้ กรรมนั้นก็เป็นอันยุติ เพราะกฎมันเป็นเช่นนั้น เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ธรรมโอสถที่ใช้รักษาโรคแค้นโรคอาฆาตมีชื่อว่า อภัยเมื่อรู้อย่างนี้แล้วยังจะแค้นกันต่อไปทำไมให้เสียเวลา อโหสิกรรมกันเสียชาตินี้เลยดีกว่าไหม
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
ภาพ : https://pixabay.com
บทความน่าสนใจ
ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : แฟนนอกใจ ไปมีลูกกับผู้หญิงอีกคน
ปัญหาธรรมประจำวันนี้: จีบแฟนชาวบ้าน แต่ไม่สำเร็จ ผิดศีลข้อ3 หรือไม่
Dhamma Daily : ศีลข้อที่สาม ที่ให้ละเว้นการประพฤติผิดทางกามครอบคลุมเรื่องใดบ้าง