มีฝันก็ต้องลงมือทำ: ตุ๊ก – กีรติพร แซ่ฮ่ำ

   “เรียนจบแล้วอยากจะเป็นอะไร” คำถามนี้คงมีคำตอบหลากหลาย ตามแต่ใจหนุ่มสาวจะนึกฝัน กลับกันคำถามนี้อาจมีคำตอบเพียงไม่กี่อย่างสำหรับผู้มีดวงตามืดบอด

ตุ๊ก – กีรติพร แซ่ฮ่ำ เดินทางมาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อมาฝึกงานฝ่ายสำนักพิมพ์ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลชิชชิ่ง จำกัด มหาชน สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เธอออกเดินทางไกล ขับเคลื่อนให้เธอมาเรียนรู้งานในบริษัทสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนให้เธอกล้าเช่าหอพักอยู่เพียงลำพังในกรุงเทพฯ และขับเคลื่อนให้เธอกล้าทำสิ่งที่แตกต่างจากคนตาบอดคนอื่นๆ คงเป็นอะไรไม่ได้…นอกจากความฝัน

ตัวตนของตุ๊ก

ตุ๊กเล่าว่า แม้จะเกิดในจังหวัดนราธิวาส แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่สุราษฎร์ธานี เพราะที่นั่นมีโรงเรียนเฉพาะทางสอนคนตาบอด เมื่อเรียนจนมีความพร้อมระดับหนึ่ง จึงได้ขยับไปเรียนร่วมกับเด็กปกติ โดยตอนเย็นต้องกลับไปพักในหอพักประจำที่โรงเรียนสอนคนตาบอด

เมื่อขึ้นมหาวิทยาลัย ตุ๊กเลือกเรียนคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ด้วยสาเหตุว่า เธอชอบสนทนากับชาวต่างชาติ

“หนูชอบเรียนภาษาตั้งแต่ตอน ม.3 ครั้งหนึ่งมีฝรั่งมาทำกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษและสอนดนตรีที่โรงเรียนช่วงวันหยุดรัฐธรรมนูญ มีฝรั่งผู้หญิงคนหนึ่งมานั่งคุยอยู่กับเราแทบตลอดเวลา เขาเป็นคนน่ารักมาก ความน่ารักมันฉายออกมาทางบุคลิกเลย เรียกว่าถูกชะตาเขาด้วย หลังจากกิจกรรมวันนั้นหนูก็โทรไปคุยกับเขาอาทิตย์ละวัน นั่นทำให้หนูรักที่จะเรียนภาษาอังกฤษ ตั้งแต่นั้นมาจึงอยากคุยกับฝรั่ง พอขึ้นชั้นมัธยมปลายคะแนนด้านภาษาดีกว่าวิชาอื่นๆ โดยเฉพาะภาษาไทยและอังกฤษ พอขึ้นมหาวิทยาลัยจึงเลือกเอกภาษาอังกฤษตลอดหลักสูตร”

 

ฝันวัยเยาว์ที่ดับลง

เธอเล่าว่า การได้เป็นนักร้องคือฝันแรกในวัยเยาว์ของเธอ แต่วันนี้จำต้องพับเก็บลงไปแล้ว

“ตอนเด็กๆ หนูชอบฟังเพลงมากและได้เป็นนักร้องประกวดสมัยเรียนมัธยม พอมีงานประกวดทีไร อาจารย์ก็จะส่งเราไปประกวดในนามโรงเรียน ใช้เพลงแนวลูกทุ่งประกวด”

เมื่อเรายุให้ตุ๊กร้องเพลงให้ฟัง เธอได้แต่หัวเราะ ก่อนจะปฏิเสธ

“ไม่ได้ร้องมาประมาณ 2 ปีแล้วค่ะ เพราะเจออะไรมาเยอะ เจอทัศนคติจากคนที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี จนเลิกฝันไปแล้ว อย่างครั้งหนึ่งสมัยมัธยมเคยโดนปฏิเสธไม่ให้ประกวด เขาบอกว่ากลัวเราจะชนะเพราะได้คะแนนสงสารจากคณะกรรมการ ตอนนั้นเราจริงจังกับการร้องเพลงมาก จึงเสียใจมาก

“อีกทีตอนอยู่ชมรมคอรัสที่มหาวิทยาลัย ตอนไปร้องเพลงออกงาน พอแสดงเสร็จ พิธีกรแนะนำกับคนในงานว่า ‘น้องคนนี้เป็นเด็กพิเศษ’ คนในงานจึงเอาเงินมาให้เรา พิธีกรก็พูดอีกว่า ‘มีใครจะให้อะไรน้องอีกบ้าง’ หนูรู้สึกแย่มาก ทำไมต้องเอาเงินมาให้ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวประมูลอะไรสักอย่าง เชื่อไหมว่า วันนั้นหนูได้เงินเยอะมาก ประมาณห้าพันบาท คนในวงมาบอกเราว่า อยากได้บ้าง หนูได้แต่คิดว่า มันน่าอยากได้ตรงไหน (หัวเราะ) ด้วยความที่คนในสังคมสงสารเรา ทำให้เจอเรื่องอะไรแบบนี้ตลอด จนความฝันเรื่องร้องเพลงดับไปแล้ว”

ตุ๊ก – กีรติพร แซ่ฮ่ำ

คิดต่าง

ตุ๊ก ตั้งคำถามต่อสังคมเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของคนตาบอด

“มีรุ่นพี่ที่ตาบอดเล่ากันมารุ่นต่อรุ่นเยอะว่าจบแล้วไปสมัครงาน เขาก็ไม่รับ เพราะถูกคิดแทนว่าทำไม่ได้ จึงหันไปเปิดหมวก ขอทาน ขายลอตเตอรี่ เป็นหมอนวด คอลเซ็นเตอร์ ทำไมสังคมถึงคิดว่าเราทำได้แค่นี้ ออกไปไกลกว่านี้ไม่ได้เหรอ หนูอยากทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่อาชีพพวกนี้บ้าง ไม่อยากอยู่ในวังวนแบบนี้ ถ้าจบมาแล้วต้องทำอาชีพพวกนี้ เราจะเรียนปริญญาตรีกันไปทำไม จบมัธยมแล้วก็ออกไปขายลอตเตอรี่กันเลยก็ได้ไหม”

 

ฝันใหม่ในวงการหนังสือ

เมื่อฝันในการเป็นนักร้องของเธอดับลง ฝันใหม่ก็เข้ามาแทนที่ เธอบอกว่าครั้งนี้จะไม่ทำให้ฝันดับมอดลงไปง่ายๆ อีก

“หนูเริ่มจากอ่านหนังสือเรียนตอนเด็กๆ ไปเจอหนังสืออะไรก็หยิบมาอ่านหมดหรือแม้แต่บอร์ดที่โรงเรียนก็ชอบอ่าน หาเหตุผลไม่ได้หเลยว่าทำไมถึงชอบ ช่วงมัธยมปลายเริ่มอ่านวรรณกรรมเยาวชน จิตวิทยาบ้าง จนปัจจุบันชอบอ่านหนังสือนิยาย โดยเฉพาะกิ่งฉัตร (ปาริฉัตร ศาลิคุปต) ชอบมาก อ่านทุกเรื่องเลยค่ะ ด้วยความที่เรามีข้อจำกัด ทำให้เราไม่สามารถอ่านได้ทุกเล่มบนโลกใบนี้ แต่ก็อ่านเท่าที่มีให้เราอ่าน และชอบเก็บสะสมหนังสือด้วย บางทีที่บ้านก็บ่นว่า เก็บทำไม จะอ่านก็อ่านไม่ได้ แต่หนูชอบ บอกไม่ถูก (หัวเราะ)”

 

สงสัยไหม…คนตาบอดอ่าน-เขียนหนังสือได้อย่างไร

ตุ๊กเล่าต่อถึงสาเหตุที่มาฝึกงานหนังสือ

“ด้วยความที่ชอบหนังสือ จึงอยากทำงานในแวดวงนี้ รู้นะคะว่าโอกาสมันหายากเพราะหาคนที่ยอมรับเรายาก กว่าจะได้มาฝึกงานที่นี่ก็ถูกปฏิเสธมาเยอะ ไม่มีใครเขาคิดหรอกว่าตาบอดแล้วจะทำงานได้”

ตุ๊กเล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยนำไอดารี่ให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอ่าน อาจารย์ชมว่าเขียนดี อาจารย์ท่านนี้จึงสนับสนุนความฝันของเธอเต็มที่ด้วยการช่วยติดต่อหาที่ฝึกงานให้ กระทั่งได้ฝึกที่บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งฯ

“ตอนแรกไม่คิดเลยว่าจะได้มาฝึกที่นี่ เพราะดูใหญ่เกินตัว เคยอ่านคำนำบรรณาธิการในหนังสือแล้วรู้สึกว่าเขาอยู่ไกลเราจังเลย แต่วันนี้เราได้มาเจอเขา ได้มาอยู่ตรงนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ตอนที่รู้ว่าบริษัทตอบรับดีใจมาก แต่ไม่กี่วินาทีต่อมาก็เริ่มกดดัน กลัวหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องทัศนคติที่คนจะมองเรา โอกาสเรามีน้อยมาก ไม่ใช่เพราะเราทำไม่ได้ แต่เป็นเพราะคนส่วนใหญ่คิดแทนไปแล้วว่าเราทำไม่ได้”

 

ความสงสาร สิ่งที่ไม่เคยต้องการ

ตุ๊กบอกว่า เธอและคนตาบอดทุกคนไม่ต้องการให้ใครมาสงสาร เราจึงถามเธอต่อว่า ในความเป็นจริงแล้วคนตาบอดต้องการให้คนอื่นมองพวกเขาด้วยสายตาแบบไหน

“หนูไม่ได้อยากให้ใครมาสงสาร อยากให้มองเราเป็นคนปกติมากกว่า อย่างตอนมาฝึกงานที่นี่แรกๆ หนูเครียดมากเลยนะคะ เพราะพี่ๆ เป็นห่วงหนูมาก ไม่ยอมให้หนูขยับตัวไปไหน เขาบอกว่า ‘เดี๋ยวช่วยๆ กันดูแล’ แต่จริงๆ แล้วหนูสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การที่คนอื่นบอกว่าต้องมาดูแลเรา คนตาบอดเขาจะรู้สึกแย่นะคะว่าเราแย่ขนาดนั้นเลยหรือ ถึงต้องมีคนมาคอยดูแล การที่เราไม่ได้ทำอะไร มันก็เหมือนกับว่าตัวเราเป็นสิ่งของ การคนที่ปฏิบัติไม่ปกติกับเรา จะทำให้เรารู้สึกว่าเราอยู่คนละชนชั้นกับคนในสังคม เป็นคนแปลกแยก”

เธอ เล่าว่า ไม่นานหลังจากปรับจูนกับพี่ๆ ในที่ฝึกงานได้แล้ว เธอก็เริ่มได้ทำงานอย่างเด็กฝึกงานปกติ โดยทำหน้าที่ช่วยพี่ๆ พิจารณาต้นฉบับ ออกสัมภาษณ์ หัดเขียน รวมทั้งเดินไปหยิบนู่น แบกนี่เหมือนคนอื่นๆ

“ยิ่งมีคนพยายามปกป้องเรา เราจะยิ่งรู้สึกแย่ หนูจะรู้สึกดีเวลาที่มีคนๆ หนึ่งก้าวเข้ามาแล้วเข้าใจเราง่ายๆ เข้าใจว่าหนูทำได้ทุกอย่าง ปฏิบัติกับหนูเหมือนคนปกติ กล้าทำให้เราไม่รู้สึกแปลกแยกในสายตาคนอื่น”

 

เดินหน้าต่อ แม้ต้องเผชิญเรื่องร้ายๆ

หลายครั้งเธอต้องถูกคนพูดจาทำร้ายใจซ้ำๆ ทำให้เธอเกือบล้มเลิกฝันไปหลายครา

“หนูเคยปล่อยให้ความฝันนี้หลุดไปหลายครั้ง เพราะเจอเรื่องแย่ๆ มามาก หลายครั้งเรื่องพวกนั้นก็กัดกินเข้าไปข้างใน ไม่ว่าเจอกี่ครั้ง ก็ยังรู้สึกแย่ ได้แต่ปล่อยให้ความรู้สึกนั้นเลือนลางไปเอง แต่ที่สุดแล้วหนูก็เลือกเดินต่อ หนูรู้ว่ากว่าจะได้เป็นเหมือนฝันก็ต้องเจอการปฏิเสธอีกเยอะในอนาคต แต่ก็จะลองดู ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

“หนูคิดว่าในเมื่อเปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนที่ตัวเอง ห้ามตัวเองว่าอย่าไปคิดมาก พยายามคิดบวก เจอเรื่องอะไรต้องพยายามทิ้งไปให้ได้ ไม่รู้จะเอาคำพูดคนเก็บมาคิดทำไม”

กีรติพร แซ่ฮ่ำ

Secret ของตุ๊ก

ตุ๊ก เล่าถึงเคล็ดลับที่ทำให้เธอกล้าที่จะฝันและมุ่งหน้าทำตามฝันนั้นอย่างทุกวันนี้

“เราต้องหาตัวเองให้เจอก่อนว่าเราชอบอะไรเพราะการไปแบบไม่มีจุดหมาย ก็ไม่รู้ความฝันมันอยู่ตรงไหน พอหาจุดหมายเจอ ก็ต้องกล้าที่จะนำพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น การเชื่อว่าตัวเองทำได้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีทัศนคติที่ดีกับตัวเองว่าเราทำได้ แม้ว่าเราจะเจอเรื่องแย่ๆ ก็ไม่เป็นอะไร ดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย ผลเป็นยังไงค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ฝันแล้วก็ต้องลงมือค่ะ”

วันนี้ตุ๊กพูดแทนคนตาบอดทุกคนแล้วว่า คนตาบอดจะมีฝันสักกี่ร้อย กี่พันอย่างย่อมได้ เพราะไม่ว่าฝันนั้นดูไกลเกินเอื้อมแค่ไหน…พวกเขาก็ทำได้ทั้งนั้น

 

เรื่อง รำไพพรรณ บุญพงษ์ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.