ความเหงา

อยู่คนเดียวก็ได้ไม่ตายหรอก! มาหาวิธีจัดการความเหงากันเถอะ

ความเหงา จัดการได้…ไม่เห็นต้องกังวล

เคยไหม…ที่อยากปลีกตัวออกจากวงสังคม รู้สึกไม่มีความสุข และจู่ๆ ก็อยากร้องไห้ขึ้นมา ความเหงา 

เคยไหม…ที่อยู่ดีๆ ก็อยากโทรศัพท์โทร.หาคนนี้ คนโน้น คนนั้นไปเรื่อยๆ…จนกว่าจะพอใจ

เคยไหม…ที่กระหน่ำเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างบ้าคลั่งและต้องคอยอัพเดตข่าวสารอยู่ตลอด

และเคยไหม…ที่แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่ก็รู้สึกเปล่าเปลี่ยวหัวใจอย่างบอกไม่ถูก แบบที่เรียกกันว่า “Lonely in the crowd”

ถ้าคำตอบส่วนมากคือ “ใช่”  นั่นหมายถึงว่า คุณกำลังถูกภาวะ “เหงา (loneliness)” เกาะกินหัวใจเข้าแล้ว จะเหงามากหรือเหงาน้อยก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “คุณมีวิธีจัดการกับความเหงาอย่างไร” จะเลือกเปลี่ยนความเหงาให้กลายเป็นยาวิเศษ หรือจะเลือกให้ความเหงาเป็นเพชฌฆาตประหัตประหารชีวิตคุณ… คุณเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินใจ

 

ถึงเวลา “จ้องตา” กับความเหงา

เมื่อความเหงาอยู่ใกล้ชิดกับเราเหมือนเงาตามตัว เราจะมีวิธีรับมือกับความเหงาได้อย่างไร บางคนพอใจที่จะ “เป็นเพื่อนกับความเหงา”หรือ “มีความเหงาเป็นเพื่อน” เพราะมั่นใจในระดับและประเภทความเหงาของตนที่ควบคุมได้ แต่บางคนก็เลือกที่จะจัดการความเหงาให้หายไปทั้งแบบเป็นครั้งเป็นคราว หรือถ้าเป็นไปได้…ก็อยากจัดการความเหงาชนิดไม่ให้กลับมาเหงาได้อีก แต่ละแบบมีวิธีอย่างไร ตามมาดูกันเลย

 

อาหารถูกใจคลายความเหงาได้

Psychological Science ซึ่งเป็นวารสารด้านจิตวิทยาชื่อดังของสหรัฐอเมริการะบุว่า ในช่วงที่พบเจอปัญหา อุปสรรคหนักๆหรือตกอยู่ในภาวะเหงา โดดเดี่ยว หากได้นึกถึงอาหารที่เราชื่นชอบ มีความทรงจำที่ดีๆ กับอาหารนั้น หรือได้กลับไปลิ้มชิมรสอีกครั้ง สามารถทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นและเหงาน้อยลงได้

จอร์แดน ทรอยซี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล (University at Buffalo) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อคิดไว้ว่า “อาหารที่กินแล้วสบายใจสามารถจะเยียวยาความเหงาได้ชะงัด”

 

 วิธีจัดการความเหงาแบบเป็นครั้งเป็นคราว 

– กล้าเผชิญหน้ากับความเหงาด้วยการยอมรับและเข้าใจ

– ค้นหาสาเหตุของความเหงา แล้วค่อยๆ ลองปรับแนวคิด หันมาคิดแบบบวกๆ ดูบ้าง

– หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายหรือหางานอดิเรกที่รักและชื่นชอบมากๆ ทำในเวลาว่าง เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง (ทางที่ดีควรเลี่ยงการฟังเพลงเศร้าๆ เหงาๆ) ทำสมาธิ ทำงานฝีมือ มีสัตว์เลี้ยงคู่ใจ

– โทร.คุยกับเพื่อนเก่าหรือแชตกับเพื่อนใหม่ทางเฟซบุ๊ก หรือจะท่องโลกไซเบอร์เพื่อเปิดประสบการณ์ให้กับตัวเองบ้างก็ได้ แต่ควรทำอย่างพอดีๆ และมีสติ จะได้ไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ของโลกออนไลน์จนไม่สนใจโลกใบนี้ (อีก) เลย

– ลองทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมดูบ้าง เช่น เป็นอาสาสมัครช่วยงานองค์กรหรือมูลนิธิที่ทำงานเพื่อสาธารณกุศล หรือหากิจกรรมทำเพื่อผู้อื่นเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

– พักผ่อนอย่างเพียงพอ นอนหลับให้มีคุณภาพ (บางครั้งข้อนี้แค่ข้อเดียวก็สามารถแก้ปัญหาได้หมด)

– หาเวลาพูดคุย คลุกคลีกับครอบครัวให้มากขึ้น เน้นความสัมพันธ์แบบ face to face

 

 วิธีจัดการความเหงาแบบไม่ให้กลับมาเหงาอีก 

พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ กล่าวไว้ในหนังสือ เป็นมิตรกับตนเอง ว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนรักตัวเอง แต่น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่กลับไม่สามารถอยู่กับตัวเองได้ หากอยู่คนเดียวเมื่อใด ไม่นานก็จะรู้สึกกระสับกระส่าย หรือถูกความเหงาเกาะกุมจิตใจ คนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามหนีตัวเองด้วยการทำตนให้วุ่นวายกับสิ่งต่างๆที่อยู่นอกตัว หรือไม่ก็วิ่งหาผู้คนเพื่อมีใครสักคนที่เป็นเพื่อนหรือคู่รักทั้งนี้เพียงเพื่อจะได้หายเหงานั่นเอง…

“มิตรที่สำคัญที่สุดคือตัวเราเอง ต้องรู้จักตัวเองและเป็นมิตรกับตัวเราเองให้ได้ เพราะถ้าเราเป็นมิตรกับตัวเองแล้วเราจะพบกับความสุข

“ที่เราวิ่งวุ่นกันทุกวันนี้ มัวดิ้นรน ไขว่คว้า เสาะแสวงหาสิ่งต่างๆก็เกิดจากการที่เราไม่มีความสุขภายในเพียงพอ เราคิดแต่จะหาสิ่งอื่นจากภายนอกมาเติมเต็มใจให้เต็ม แต่แล้วมันก็ไม่สุขจริง แต่ถ้าเราเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะพบกับความสุข

“ความสุขเหล่านั้นก็คือ รางวัลจากการที่เราได้เป็นมิตรกับตัวเอง”

มาถึงตรงนี้คุณคงต้องตัดสินใจเองแล้วละค่ะว่าจะเลือกจัดการกับความเหงาแบบไหน แบบเป็นครั้งเป็นคราวหรือแบบถาวร แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกแบบใด  ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณเสมอ

 

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์


บทความน่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.