“ยามขึ้นอย่าหลง ยามลงอย่าท้อ” ธงชัย ประสงค์สันติ (1)

ในชีวิตของผมเคยคิดไว้ว่า อยากจะทำหนังสือสักเล่มหนึ่ง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของตัวเอง ว่ากว่าจะมายืนตรงจุดนี้ผมผ่าน ความทุกข์ ความท้อ ความเหน็ดเหนื่อย ความสนุกสนาน ความร่าเริงเบิกบาน มาอย่างไรบ้าง

ผมอยากให้แง่คิดกับคนอื่น โดยเฉพาะกับหนุ่มอีสานที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง อยากบอกเขาว่า  “อย่ามัวหลงระเริง บากบั่นเข้าสิ” เพราะความบากบั่นนี่แหละที่ทำให้คนได้ดีมาเยอะแล้ว

หลายคนอาจจะพอรู้มาบ้างว่าชีวิตวัยเด็กของผมค่อนข้างลำบาก แต่ลำบากขนาดไหนอาจจะจินตนาการยาก เดี๋ยวผมเล่าให้ฟังเลยดีกว่า

 

ชีวิตรันทด แต่เปี่ยมสุข

แรกเริ่มพ่อผมรับจ้างขี่สามล้ออยู่ที่ตัวเมืองโคราช ส่วนผมอยู่กับน้องอีก 4 คนที่บ้านนอกกับแม่ เมื่อพ่อฐานะดีขึ้นก็มารับพวกเราไปอยู่ด้วยกันที่โคราช เช่าบ้านเดือนละ 600 บาท โดยให้ผมเรียนที่โรงเรียนวัดสระแก้ว สถานที่ที่ผมอยู่อาศัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นสลัม แต่มีชื่อสวยหรูว่า ชุมชนถนนราชนิกูล เด็กๆ แถวนั้นส่วนใหญ่ถือถุงปุ๋ยเก็บขยะกันทั้งนั้น

ผมเองก็ถือถุงปุ๋ยไปเก็บพลาสติกตามใต้ถุนบ้าน เก็บทองแดงเวลางานย่าโมเลิกแล้วมีเศษไม้เหลือ ผมก็ไปเคาะเอาตะปูมาชั่งกิโลขายหรือไม่ก็ไปที่ศาลเวลาเขาเผาเอกสาร มีคลิปทองแดงก็ไปเก็บมาขายขีดละสิบสลึง

ผมพยายามทำงานทุกอย่างเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะทำได้ ทั้งช่วยพ่อขายหนังสือพิมพ์เป็นลูกมือพ่อค้าขายไอศกรีมตอนหลังเลิกเรียนไปขายน้ำที่สนามม้า ถีบสามล้อ ฯลฯ เวลาไปเรียนก็ได้เงินไปแค่วันละ 6 สลึง เพราะหิ้วปิ่นโตเถาเดียวไปกินกับน้องอีก 6 คนที่โรงเรียน

ใครอาจจะคิดว่าชีวิตของผมลำบาก รันทดแต่ตอนนั้นผมกลับไม่รู้สึกอย่างนั้นเลยกลับคิดว่าทำไมชีวิตของเราถึงสนุกอย่างนี้ สนุกเหมือนไม่ได้เกิดมาเป็นลูกคนจนเลยละครับ ยิ่งครอบครัวเราอบอุ่น ก็ยิ่งทำให้ผมเป็นคนเฮฮา ร่าเริงแจ่มใส มีอารมณ์ขันมาตั้งแต่เด็ก

เชื่อไหมว่าตอนเด็กๆ ผมเคยเกือบได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์มาแล้ว ด้วยความกล้าแสดงออกของผม ตอนเรียนอยู่ ป.5 ผมก็ไปฝึกเป็นเชียร์ลีดเดอร์ คิดดูนะครับ เด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ดำๆ ไม่สวมรองเท้า พยายามตะเบ็งเสียงร้องเพลงทำท่าทำทาง สุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะดูแปลกๆ เพี้ยนๆ กว่าเพื่อนคนอื่น ครูเลยให้ไปทำอย่างอื่นแทน

พวกครูบาอาจารย์บอกว่าผมเป็นเด็กซื่อๆ และบอกว่าผมเป็นตัวตลก เลยจัดให้ผมไปเล่นตลกในงานกีฬาประจำจังหวัด เล่นไปเล่นมาคนก็ชอบมุกของผม ผมก็เล่นไปเรื่อยทั้งงานลูกเสือ งานวันครู งานวันเด็ก สุดท้ายเริ่มกลายเป็นการเดินสาย วิ่งรอกจากโรงเรียนนั้นไป

โรงเรียนนี้ ก็ได้เงิน 300 – 600 บาท เมื่อเห็นว่าได้เงินดี ผมก็เริ่มมองอนาคตของตัวเองว่าน่าจะไปทางนี้ได้ ประกอบกับตอนนั้นฐานะทางบ้านเริ่มไม่ดี ผมจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนกลางคันตอน ม.ศ.4 เพื่อไปสมัครเป็นนักเรียนการแสดงของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งเปิดรับสมัครเป็นรุ่นแรก

 

สู้ชีวิตในกรุง กินนอนกับยาม

ช่วงนี้ถือได้ว่าชีวิตของผมค่อนข้างลำบากมาก ด้วยความที่ไม่มีเงิน แม้จะสอบติดเข้าเรียนโรงเรียนการแสดงได้แล้วก็จริง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าผมจะพักที่ไหน อย่างไร เพราะลำพังเงินที่ได้ติดตัวมาน้อยนิดเหลือเกิน ต้องประหยัดไว้เป็นค่าอาหาร เมื่อคิดไปคิดมา วันนั้นหลังจากไปร่วมพิธีเปิดโรงเรียนการแสดงแล้ว ผมก็บอกกับคนทำความสะอาดของสถานีโทรทัศน์ว่า พรุ่งนี้จะเปิดเรียนแล้ว ยังไม่มีที่นอนเลย เขาแนะว่าให้ไปนอนที่บ้านพักของยามไปก่อน ผมก็นอนเรื่อยมา

ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น ตอนเข้ากรุงเทพฯมาใหม่ๆ ผมมีเงิน600 บาท แต่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ 3 – 4 เดือนเลยทีเดียว เพราะกินแต่ไข่เค็ม มาม่า และอาศัยกินกับยามบ้าง ก็ถัวเฉลี่ยกันไป บางครั้งผมรับหน้าที่ต้มมาม่าให้ยาม 20 กว่าคนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน หรือไม่ก็ไปเด็ดผักบุ้ง ต้มถั่วเขียวมากินกันเป็นกะละมัง

ชีวิตของผมได้อยู่กับคนร้อยพ่อพันแม่ กลางคืนนอนเรียงกันเป็นตับ สนุกสนานไม่ทุกข์ร้อนอันใด แป๊บๆ เวลาก็ผ่านไป 7 ปี ผมเรียนจบจากโรงเรียนการแสดง และเริ่มเข้าสู่วงการด้วยการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ ลูกอีสาน

ช่างเป็นบทที่พอเหมาะพอเจาะกับผมจริงๆ เพราะตัวจริงผมก็ลูกอีสาน ตอนนั้นเล่นเป็นลูกชายของ ลุงคำพูน บุญทวี บอกได้คำเดียวว่ามันมาก แต่ด้วยความที่คิดว่าเล่นหนังอย่างเดียวคงไม่ได้เงินมากผมจึงทำงานในกองถ่ายไปด้วย ทั้งเสิร์ฟน้ำ แบกไฟ ช่วยวิ่งหาของ ทำทุกอย่าง  ที่สุดเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสิ้น ผมก็ได้รับเงินมากที่สุดในชีวิต คือเกือบ 20,000 บาท ผมนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อแหวนนากวงหนึ่งส่วนที่เหลือนำไปให้แม่ทั้งหมด

จากนั้นมาผมก็ได้บทแสดงมาเรื่อยๆ เป็นตัวประกอบทั้งในละครและภาพยนตร์ และเริ่มเป็นที่รู้จักจากการแสดงเรื่อง ขบวนการคนใช้บุญเติมร้านเดิมเจ้าเก่า ตัวประกอบอดทน กลิ่นสีและกาวแป้ง และบ้านผีปอบ

ต่อมาชีวิตของผมหักเหอีกครั้ง เมื่อได้รับการชักชวนจากคุณประภาส ชลศรานนท์ ให้มาเป็นนักร้องในวง สามโทน ของคีตาเรคคอร์ด ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ผมชอบเขียนเพลงและชอบร้องเพลงทั้งๆ ที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องดนตรีมากนัก และจนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังไม่อยากเชื่อว่าคนจะจดจำเพลงของเราได้ และมีคนชื่นชอบพวกเรามากขนาดนี้ มันเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยนึกไม่เคยฝันมาก่อน เหมือนหลายๆเรื่องในชีวิตของผมที่ย้อนมองกลับไปแล้วบอกได้คำเดียวว่า “ผมมาไกลกว่าที่คิด”

 

ชีวิตที่ไกลเกินฝัน

ทุกวันนี้สื่อและผู้คนให้นิยามความเป็น “ธงชัย ประสงค์สันติ”ของผมว่า เป็นนักแสดง นักร้อง พิธีกร ผู้กำกับ และเจ้าของบริษัท คำพอดี และบริษัท พอดีคำ เป็นตลกแบบไม่ไร้สาระ มีความสุภาพไม่เกินขอบเขต มีความรู้รอบตัวสูง ซื่อๆ คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น มีอารมณ์ขันแบบคึกคัก พลอยให้คนรอบข้างรู้สึกเป็นกันเอง

หลายคนชื่นชอบบทบาทการเป็นพิธีกรของผม ทั้งในรายการคำพิพากษา Small Talk สู้เพื่อแม่ และ คุณพระช่วย ซึ่งจากการมุ่งมั่นในการทำงานตรงนี้ ทำให้ผมได้รับ “รางวัลพิธีกรแห่งปี ไนน์เอ็นเตอร์เทนอะวอร์ดส 2008”

เมื่อนั่งมองย้อนชีวิตของตัวเอง ผมคิดว่าตัวเองเดินทางมาไกลกว่าที่คิดไว้มาก จากเด็กจนๆ คนหนึ่งกลายมาเป็นเจ้าของบริษัทเล็กๆ มีพนักงานสิบกว่าคน บอกได้คำเดียวว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้เหนื่อยสุดใจขาดดิ้น โดยเฉพาะการมีบริษัทเป็นของตัวเอง ต้องใช้ทั้งประสบการณ์ความอดทน ความตั้งใจจริง การแก้ปัญหา และการเรียนรู้งานเฉพาะหน้า เพราะผมไม่ได้เรียนจบสาขาไหนมาเลย มีเพียงครู เพื่อน และคนรอบข้างมากมายที่ช่วยสอนบทเรียนดีๆ ให้แก่ผม ให้ทั้งความรู้ให้ความเชื่อมั่น ให้โอกาส และให้กำลังใจมากมายจนผมเอ่ยชื่อไม่หมด

อดีตที่ผ่านมามีค่ากับผมมากๆ ผมเชื่อว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว แม้ว่ามันจะไม่ดี ผิดพลาด หรือมีข้อตำหนิบ้าง อย่างไรมันก็เป็นเรื่องราวที่เราต้องผ่าน เป็นบาดแผลที่ทำให้เราแข็งแรง และระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก

เล่าถึงชีวิตหนักๆ ของผมไปแล้ว คราวหน้าจะเล่าให้ฟังว่า เวลาผมมีความสุขผมทำอะไร ผมสอนลูกๆ อย่างไร และสนใจธรรมะมากน้อยแค่ไหน ฉบับหน้าจะเล่าให้ฟังครับ

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.