วาสนา ลาทูรัส

จากแม่ค้าไข่สู่เจ้าของกระเป๋าผ้าพันล้าน “นารายา (Naraya)” วาสนา ลาทูรัส

จากแม่ค้าไข่สู่เจ้าของกระเป๋าผ้าพันล้าน ” นารายา (Naraya)” วาสนา ลาทูรัส

คุณธรรมนำหัวใจ คุณ วาสนา ลาทูรัส ประธานกรรมการบริหาร บริษัทนารายณ์  อินเตอร์เทรด  จำกัด

แม้เคยคิดฆ่าตัวตายเพราะทำธุรกิจล้มเหลว  แต่เพราะความไม่ยอมแพ้และมุ่งมั่นของ คุณวาสนา  ลาทูรัส ทำให้วันนี้ธุรกิจ “กระเป๋านารายา” ประสบความสำเร็จเป็นสินค้ายอดนิยมอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย

“ครอบครัวของดิฉันเป็นคนจีน ประกอบอาชีพค้าขาย พอโตขึ้นมาหน่อยก็ไปขายไข่ไก่และถุงพลาสติกในตลาดประตูน้ำ ขายอยู่นานหลายปี หลังจากคุณแม่เสียชีวิตจึงขายร้านและเปลี่ยนไปเป็นไกด์ที่เมืองโบราณ ทำให้มีโอกาสพบรักกับสามีชาวกรีซ (วาสิลิโอส  ลาทูรัส) ที่มาท่องเที่ยวเมืองไทยและหาลู่ทางทำธุรกิจ  หลังแต่งงานดิฉันช่วยสามีทำธุรกิจส่งออกอะไหล่รถและส่งออกสินค้าทุกชนิดตามที่ลูกค้าต้องการ

“โชคร้ายที่ธุรกิจส่งออกอะไหล่รถไม่ประสบความสำเร็จทำให้มีหนี้สินกว่า 18 ล้านบาท  ต้องขายบ้าน  ขายรถ  เครียดจนแทบอยากฆ่าตัวตาย ถึงขนาดไปกราบลาพระในห้องพระคิดว่าจะไม่อยู่แล้ว แต่นาทีที่กราบพระเสร็จก็คิดขึ้นมาได้ว่าเรายังมีมือไม้ครบ 32  ทำไมถึงท้อล่ะ  น่าจะลองสู้ต่อ  เมื่อคิดได้อย่างนี้  ใจจึงสงบและหันมาคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง

“มานึกได้ว่าตัวเองเคยมีประสบการณ์ส่งออกกระเป๋าผ้าให้เพื่อนสามี คือช่วยสั่งสินค้าและตรวจสอบสินค้าก่อนส่งให้เขา เมื่อเริ่มเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจ จึงตัดสินใจนำสต๊อกกระเป๋าผ้าที่มีอยู่มาเปิดหน้าร้านขายที่ห้างนารายณ์ภัณฑ์ โดยสามีมาช่วยทำธุรกิจ หลังจากนั้นยังทำการตลาดโดยไปเปิดบู๊ธสินค้าที่งานแฟร์ต่างประเทศ

“ช่วงแรกที่เริ่มทำธุรกิจก็รู้สึกท้อบ้าง  อย่างตอนที่ไปเปิดบู๊ธที่ประเทศสิงคโปร์ พอได้ออร์เดอร์มา ไปสั่งสินค้ากับชาวบ้านแรงงานท้องถิ่นเพื่อให้เขาช่วยผลิตให้ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าสินค้าล็อตแรกเปียกน้ำเสียหายทั้งหมดเห็นแล้วแทบทรุด สรุปว่าสินค้าทั้งหมดใช้ไม่ได้ ต้องคืนออร์เดอร์ให้ลูกค้าไป ตอนหลังจึงหันมาตั้งโรงงานผลิตสินค้าเอง เพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิตได้ง่ายขึ้น

“ปัจจุบันนารายามีร้านในประเทศ 23 แห่ง และสาขาในต่างประเทศอีก 13 แห่ง สาเหตุที่แบรนด์นารายาประสบความสำเร็จ เพราะเราเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา ผลิตสินค้ามีคุณภาพ  และมีการพัฒนาสินค้าให้แปลกใหม่เสมอ  มีคำศัพท์ทางการตลาดที่ชอบพูดกันว่า  แบรนด์ลอยัลตี้คือรักแบรนด์นี้ก็ต้องใช้สินค้าแบรนด์นี้  แต่สำหรับดิฉันจะใช้คำว่า  เราต้องเป็นแบรนด์ลอยัลตี้ของลูกค้ามากกว่า  คือรักลูกค้าก็ต้องทำสินค้าให้ดีที่สุด  ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่านารายาผลิตสินค้าดีมีคุณภาพ

“นอกจากนั้นดิฉันเชื่อว่าการเป็นผู้บริหารที่ดีต้องมีคุณธรรมในการทำงาน  เพราะหากไม่มีคุณธรรมจะทำงานลำบากและธุรกิจไม่มีวันประสบความสำเร็จ ดิฉันมีพนักงานกว่าสามพันคน  ต้องใส่ใจพนักงานเหล่านั้น  เราสร้างโรงอาหารสุขภาพให้พนักงาน  สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้น่าอยู่เพื่อพวกเขาจะได้ทำงานอย่างมีความสุข  ที่สำคัญคือ มองพนักงานเป็นลูก  ทำให้มีเมตตาต่อเขา  คือผิดก็ดุ  ทำดีก็ให้รางวัล  ดังนั้นเวลาเห็นพนักงานประสบความสำเร็จในการทำงาน  ดิฉันก็มีความสุขกับเขาด้วย  เพราะมองว่าพวกเขาเป็นครอบครัวเดียวกัน

“พนักงานจะรู้กันดีว่าดิฉันมีกฎเหล็กในการทำงานว่า ถ้ามีปัญหา  ห้ามซุกไว้ใต้พรม  แต่ต้องรีบมาบอก  การที่ดิฉันมีวิธีคิดแบบนี้ช่วยให้แก้ปัญหาได้ทันเวลา  สังเกตว่าปัญหาที่มักพบในการทำงานคือการสื่อสาร  เพราะคนไทยมีนิสัยขี้เกรงใจ  มีอะไรไม่ค่อยถาม  ไม่ค่อยบอก  ดังนั้นเวลาสื่อสารกับลูกน้อง  ดิฉันมักบอกว่าถ้าไม่เข้าใจให้ถาม  อย่าปล่อยให้ค้างคาใจ  และการสื่อสารที่ดีควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรจะได้ไม่กลายเป็นปัญหาว่าอีกฝ่ายไม่ได้พูดอย่างนั้น  หรือเข้าใจไม่ตรงกัน

“นอกจากนั้นบริษัทยังมีแรงงานชาวบ้านช่วยผลิตสินค้ามากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เราจึงต้องมีทีมงานที่เรียกว่า ‘เมคเกอร์’ ทำหน้าที่ดูแลชาวบ้านที่ผลิตสินค้าให้เรา การบริหารพนักงานซึ่งเป็นชาวบ้านค่อนข้างยากกว่าพนักงานทั่วไป เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เรียนไม่สูง  บางครั้งสื่อสารกันลำบาก  ดิฉันต้องคอยถามทีมงานเมคเกอร์เสมอว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า ถ้ามีปัญหาจะได้แก้ไขทัน

“เรื่องที่ประทับใจคือ ปีที่น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ไม่รู้มาก่อนว่าพนักงานของเรานั่งเฝ้าโรงงานที่ขอนแก่น คอยดูระดับน้ำขึ้น พอเขาคิดว่าน้ำต้องท่วมแน่ ๆ ก็รีบประสานงานกับทหารให้ช่วยขนของย้ายไปไว้ที่อื่น  โชคดีที่ขนของทัน ยังคิดอยู่ว่าถ้าวันนั้นพนักงานไม่ทำอย่างนั้น  ดิฉันคงเสียหายไปกว่าสิบล้านบาท  เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกว่าพนักงานรักบริษัทคงเพราะเขามีความสุขในการทำงานกับเรา  จึงได้ใส่ใจบริษัทอย่างนั้น”

เพราะใช้คุณธรรมในการทำงาน  ใส่ใจลูกค้า  ทำให้ทุกวันนี้เธอประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอย่างงดงาม

 

 เรื่อง กองบรรณาธิการ

ภาพ  ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ

ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “เคล็ดลับความสำเร็จของ 10 มหาเศรษฐีไทย”

คอลัมน์ Scoop นิตยสาร Secret ฉบับที่ 174

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.