มหาอุทกภัยที่จู่โจมประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2554 ทำให้หลายภูมิภาคได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ว่ากันว่า ความรุนแรงในครั้งนั้นไม่ต่างจากสงครามแม้แต่น้อย…เพียงแต่มันเป็นสงครามจากภัยธรรมชาติ เวลานั้นไม่ว่าจะนักรบมืออาชีพหรือนักรบสมัครเล่น (พลเรือนทั่วไป)ต่างร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มากที่สุดจนสามารถเปลี่ยนสงครามน้ำให้เป็น “สงครามน้ำใจ” ได้ในที่สุด
ผม (ผู้พันเบิร์ด หรือ พันโท วันชนะ สวัสดี) มีโอกาสได้ร่วม “รบ” ในครั้งนี้ด้วย การรบครั้งนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญของกองทัพบกเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนโดยตรงทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า พวกเขาจะมีความอบอุ่นและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ครั้งนั้นผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น “รองโฆษกกองทัพบก” หน้าที่หลักคือ ทำความเข้าใจกับประชาชนและประสานงานให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ส่วนทหารนายอื่น ๆ ก็มีหน้าที่ต่าง ๆ กันไป ช่วยคนยกของ ปลูกสร้าง ซ่อมแซม ฯลฯ เรียกว่าทุกคนในกองทัพล้วนมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
ผมถือว่า “ถ้าทุกคนที่มีอาชีพสุจริตทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ นั่นแหละคือการทำความดีที่ดีที่สุดแล้วไม่ต้องมานั่งคิด มาแสวงหาว่า เราต้องทำอะไรถึงจะเรียกว่า ‘ความดี’”
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้ดี ก็ย่อมส่งผลไปถึง “ภาพรวม” ไม่ว่าจะระดับจังหวัด ระดับภาคส่วน หรือแม้แต่ในระดับประเทศ สังคมโดยรวมก็จะมีความสุขครับ
ที่พูดมาอาจจะดูเป็นทางการเกินไปนิดเอาเป็นว่าลองเปลี่ยนบรรยากาศมาฟังเรื่องเก็บตกจากน้ำท่วมดูบ้างแล้วกันนะครับ
อย่างที่บอกว่า หน้าที่หลักของผมคือประสานงานและทำความเข้าใจกับประชาชน การนั่งเรือออกไปดูพื้นที่จริงจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ครั้นจะไปแค่ผม พลขับ และเรือเปล่า ๆ มันก็ดูไม่คุ้มค่า ก็ต้องนำเครื่องอุปโภคบริโภคลงเรือไปแจกด้วยเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว
ทุกวันพอขับเรือออกไปได้ไม่เท่าไรก็จะมีคนลุยน้ำมาขอติดเรือออกไปด้วย เราก็ช่วยเหลือกันไปเท่าที่ทำได้ เพราะเหตุการณ์ตอนนั้นมันลำบากจริง ๆ จะคนแก่ คนพิการคนป่วยก็ต้องช่วยขนย้ายออกไปให้ได้ ถ้าน้ำหนักเกิน ทหารก็ลงจากเรือไปเดินลุยน้ำแทน หรือถ้าที่ไหนกระสอบทรายแตก ทำนบกั้นน้ำเสียหาย เราก็ต้องไปแก้ไข เรียกว่าถึงผมจะไม่ได้มีหน้าที่ด้านนี้โดยตรง แต่ก็อดไม่ได้ ต้องลงไปช่วยอย่างไม่มีเงื่อนไข
ไม่ใช่แค่คนที่มีลมหายใจเท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือ ครั้งหนึ่งผมต้องไปรับศพเพื่อไปทำพิธีที่วัดด้วย!
ภาพวันนั้นยังติดตาไม่หาย ญาติของผู้ตาย 3 คนร้องไห้ถือกระถางธูปเดินลุยน้ำออกมา ทหารก็ช่วยกันแบกศพขึ้นมาใส่ท้ายเรือ แต่แทนที่เราจะออกเรือไปวัดได้เลย มันกลับไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะมีคนมาขอให้เราไปช่วยคนที่บ้านอีกหลังหนึ่ง เราก็จำเป็นต้องหาที่ร่ม ๆ เพื่อจอดเรือรอ ญาติของศพก็นั่งกันหน้าละห้อย ไหนจะเสียใจ ไหนจะกลัวว่าศพจะส่งกลิ่นออกมาเพราะอากาศร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
“พี่ไปช่วยเขาเถอะ พวกเรารอได้”
ผมทิ้งเรือไว้ แล้วเดินลุยน้ำออกไปยังบ้านหลังนั้น ก่อนจะกลับออกมาพร้อมคุณยายคนหนึ่ง ตอนนั้นธูปไหม้หมดดอกพอดี เรือจึงได้กลับออกไปพร้อมกับทหาร 2 นาย ประชาชน 4 คน และศพอีก 1 ศพ
ตลอดเวลาที่ปฏิบัติภารกิจ เชื่อไหมครับว่า บางวันทหารแทบไม่มีเวลากินข้าว เขาต้องแก้ปัญหาเองด้วยการพกขนมปัง ข้าวเหนียวไม่ก็ขนมนิด ๆ หน่อย ๆ ติดกระเป๋าไว้กินแก้หิว ส่วนแดดก็แรงเหลือเกิน จนหลายคนตัวไหม้แบกกระสอบทรายกันจนปวดหลัง ขุดดินกันจนมือแตก และที่น่าเห็นใจที่สุด แต่หลายคนคิดไม่ถึงก็คือ พลขับที่ขับรถทหารคันใหญ่ ๆ นั่นแหละครับ
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างเราขับรถยนต์เกียร์ออโต้ ถ้าต้องเดี๋ยวจอดเดี๋ยววิ่ง บางทีเรายังเมื่อยยังเบื่อเลย แล้วนี่รถคันใหญ่ ๆ เกียร์ธรรมดา เวลาเข้าเกียร์ต้องเหยียบคลัตช์ไปด้วย พวงมาลัยไม่มีพาวเวอร์ คิดดูว่าจะเมื่อยขนาดไหน ยิ่งถ้าต้องขับโดยไม่ได้หยุดพักทั้งวัน เจอเปลวแดดสะท้อนผิวน้ำจนตาพร่าก็ยิ่งทรมาน
ทั้งหมดนี้ผมมองว่า มันมากกว่าคำว่า “หน้าที่” ไปแล้ว เพราะเขาทำด้วยใจจริง ๆ ทำด้วยจิตใจที่อยากช่วยเหลือเพื่อนมุนษย์ หิวก็ไม่บ่น ร้อนก็ไม่เกี่ยง ยิ้มสู้ ลุยอย่างเดียว
แต่น่าประทับใจที่พี่น้องประชาชนก็มีน้ำใจกลับมาให้ทหารเหมือนกันนะครับ บางคนใช้เศษกระดาษหรืออะไรที่หาได้เขียนคำ “ขอบคุณ” ส่งกำลังใจมาให้พวกเรา ผมเองยังเก็บเอาไว้ดูจนวันนี้ เวลาเหนื่อย ๆ พอหยิบขึ้นมาดู ก็มีกำลังขึ้นมาอีกครั้ง บางคนก็หาน้ำ ขนม มาให้ พวกเราก็ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
การทำความดีไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “คน” ด้วยกันเท่านั้นนะครับ แต่เราสามารถทำความดีกับ “อะไร” ก็ได้ จะสิ่งของ สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ ได้หมด เพียงแค่ขอให้ลงมือทำจริง ๆ เท่านั้นเอง
อย่าแค่ “คิด” ว่าจะทำ เพราะเท่านั้นมันยังไม่พอครับ
เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี