เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว วรเชษฐ์ เอมเปีย หรือ เชษฐ์ วงสไมล์บัฟฟาโล มือกลองอารมณ์ดีที่มีฝีไม้ลายมืออันเป็นเอกลักษณ์เป็นหนึ่งในนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคที่ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อครุ่งเรืองหลังจากนั้นเขากลับหายหน้าหายตาจากวงการไปนาน เราได้พบเขาอีกครั้งในฐานะของ “เกษตรกร”
ซีเคร็ต บุกไปเยี่ยมเยียนคุณเชษฐ์ถึงที่บ้านในจังหวัดชลบุรี เขาต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง พร้อมพาลัดเลาะชมสวนชมต้นไม้ที่ปลูกมากับมือ และพาไปดูท้องนาซึ่งเต็มไปด้วยรวงข้าวที่รอเก็บผลผลิตด้วยความภาคภูมิใจ
ทำไมเขาจึงเลือกหันหลังให้ชีวิตที่เคยฟุ้งเฟ้อ และกลับมาใช้ชีวิตธรรมดา ๆ โดยยึดหลัก “ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา” ที่บ้านเกิดวันนี้เขาพร้อมถ่ายทอดเรื่องราวให้ฟังแล้ว
ดนตรีอยู่ในสายเลือด
ผมเกิดและเติบโตที่อำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี ครอบครัวของผมไม่ได้ร่ำรวยอะไร พ่อเป็นครูสอนดนตรี ท่านจึงสอนให้ผมเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากเล่นดนตรีไทยเกือบทุกชนิด ผมเลือกเอาดีกับระนาดทุ้ม ไปประกวดที่ไหนก็ได้รางวัลกลับมาพอโตขึ้นมาหน่อยพ่อก็สอนให้เล่นดนตรีสากลตอนนี้เองที่ผมเริ่มหลงรักการตีกลองเข้าให้แล้ว
เมื่อขึ้นชั้นมัธยมปลาย ผมเริ่มประกวดดนตรีสากลจนได้แชมป์หลายรายการ และเคยได้แชมป์ระดับประเทศด้วย เรียกว่าดังใช้ได้เลยแหละ ช่วงนั้นมีงานเล่นดนตรีไม่ขาดสายวิชาความรู้ที่พ่อให้มากลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่ทำให้ผมส่งตัวเองเรียนได้
แต่ถึงใคร ๆ จะบอกว่าผมเล่นดนตรีเก่งแล้ว แต่ผมคิดว่าแค่มีประสบการณ์อย่างเดียวยังไม่พอ ผมอยากเรียนรู้โน้ตดนตรีและทฤษฎีดนตรีสากลเพื่อให้เข้าใจการเล่นดนตรีอย่างแท้จริง จึงโหมทำงานหนักเพื่อเก็บเงินจำนวนเกือบหมื่นไปลงคอร์สเรียนที่กรุงเทพฯ แม้การเดินทางไป - กลับจะเป็นไปอย่างลำบาก แต่ผมก็ไปเรียนไม่เคยขาดตั้งใจเรียน เก็บเกี่ยวความรู้มาให้ได้มากที่สุดเพราะมีเงินเรียนเพียงแค่คอร์สเดียวเท่านั้น
หลังมีพื้นฐานแล้ว ผมนำมาใช้พลิกแพลงในการเล่นดนตรี ทำให้เล่นได้ดีขึ้นและยิ่งมั่นใจมากขึ้น จนหลงคิดว่า ตัวเองเก่งแบบไม่มีใครสู้ได้แน่ ๆ และด้วยความคิดแบบนี้แหละที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ
ครั้งหนึ่งตอนอยู่ชั้น ม.6 ผมเตรียมตัวเข้าประกวดดนตรีของภาคตะวันออก แต่ด้วยคิดว่าเก่งแล้ว ทะนงตัวว่าอย่างไรก็คงไม่มีใครสู้ได้ เพราะชนะมาหลายรายการแล้ว จึงหนีการฝึกซ้อมไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนสำมะเลเทเมาจนพ่อทนไม่ไหวไปตามตัวจนเจอและตีผมต่อหน้าเพื่อน ๆ ผมอายและเสียหน้ามาก จึงหนีออกจากบ้านไป
แต่ก่อนวันแข่งขันผมรู้สึกกังวลขึ้นมาจึงแอบกลับมาที่บ้าน และได้ยินพ่อกับแม่คุยกันเรื่องการแข่งขัน พ่อพูดขึ้นว่า
“ถ้าไม่มีเชษฐ์ คงต้องล้มเลิกการแข่งไป”
เมื่อผมได้เห็นสีหน้าผิดหวังของพ่อก็รีบวิ่งเข้าไปกราบท่าน และสัญญาว่าจะไม่ทำให้ท่านเสียใจ วันรุ่งขึ้นจึงไปแข่งขันกับวงซึ่งก็ได้รางวัลชนะเลิศกลับมา เหตุการณ์นี้สอนใจผมเสมอว่า อย่าไปคิดทะนงว่าตัวเองเก่ง เพราะจะทำให้ทั้งตัวเราและคนอื่นเสียหายได้ คนที่ล้มเหลวคือคนที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว
ฝันที่ไม่เป็นจริง
หลังจบ ม.6 ผมมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ตามความฝัน ผมและเพื่อนตั้งวงดนตรีด้วยกัน แล้วไปรับจ้างเล่นดนตรีตามผับบาร์แต่ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิดเราต้องอยู่อย่างขัดสน เพราะโดนโกงค่าจ้างอยู่ซ้ำ ๆ จนอยากเลิกทำอาชีพนี้
แต่แล้วก็มีเพื่อน ๆ ชวนมาเล่นดนตรีแบ็กอัพให้ศิลปิน ตอนนั้นเป็นการรวมวงของสมาชิก 4 คน คือ หนึ่ง - พนัส อภิชาติ-พงศ์บุตร (คีย์บอร์ด) ดิษ - ประดิษฐ์ วรสุทธิ-พิศิษฎ์ (ร้องนำ / เบส) เต็น – ธีรภัค มณีโชติ (กีตาร์) และตัวผมเป็นมือกลอง ซึ่งต่อมาก็คือวงสไมล์บัฟฟาโล (Smile Buffalo) ที่ทุกคนรู้จักนั่นเอง
การหันมาเล่นวงแบ็กอัพให้ศิลปินทำให้ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ พี่แทนวงเอาท์ไซเดอร์ จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นวงแบ็กอัพในช่วงที่มาทัวร์คอนเสิร์ตที่เมืองไทย พอเริ่มสนิทกันพี่แทนจึงแต่งเพลงดีเกินไป และ ฟ้ายังฟ้าอยู่ ให้วงของเรา โดยวางแนวเพลงไว้เป็นแบบอัลเทอร์เนทีฟร็อคซึ่งเป็นแนวเพลงค่อนข้างใหม่ในสมัยนั้น
เรียกได้ว่าพี่แทนเป็นผู้ปั้น วงสไมล์บัฟฟาโล ขึ้นมา เพราะเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือและชี้แนะให้เราเล่นและร้องแบบมีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำของคนฟัง เราทำเพลงกับพี่แทนอยู่เป็นปีจนได้เพลงเดโมครบ 10 เพลง ก่อนที่พี่แทนจะบินกลับออสเตรเลีย จากนั้นเราสี่คนก็ลุยกันต่อ หวังจะไปให้ถึงฝันสูงสุดคือการออกเทป
ผมยังจำวันที่เราสี่คนไปเสนอเทปเดโมกับค่ายเพลงได้อย่างแม่นยำ วันนั้นทุกคนต่างแต่งตัวกันแบบที่เรียกว่าหล่อที่สุดในชีวิตเราเริ่มไปค่ายเพลงใหญ่ ๆ ก่อน แต่ต้องกลับมาด้วยความผิดหวังทุกครั้งไป บางค่ายไม่แม้แต่จะเปิดเพลงของเราฟังด้วยซ้ำ
นั่นคงเป็นเพราะเราไม่ได้หล่อแบบดาราที่มาเป็นนักร้องซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น แต่ที่เจ็บใจที่สุดคือ ตอนเข้าไปที่ค่ายเพลงแห่งหนึ่งเขาเปิดเพลงของเราฟังและพูดกับเราว่า
“วงของคุณฝีมือดีนะ แต่เราขอเพลงของคุณให้ดารามาร้องได้ไหม แล้ววงคุณก็เล่นแบ็กอัพให้”
พอได้ยินผมถึงกับนั่งกุมขมับต่อหน้าเขาเลย มันรู้สึกเสียใจอย่างบอกไม่ถูก ทำไมไม่มีใครเชื่อว่าเราทำได้ ทำไมเขาสนใจแต่รูปร่างหน้าตา โดยไม่มองความสามารถของเราเลย แต่ในใจก็ฮึดสู้ว่า ยังไงเราต้องออกเทปสวนกระแสให้ได้
แล้ววันหนึ่งผมก็ได้เจอคนที่เข้าใจความตั้งใจและเห็นฝีมือของเรา นั่นคือพี่บอย โกสิยพงษ์ แห่งค่ายเบเกอรี่มิวสิคที่ฟังเพลงของเราแล้วชอบ ทั้งยังตกลงจะออกเทปให้เราหลังจาก วงโมเดิร์นด็อก ที่เซ็นสัญญากันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่เราจำต้องปฏิเสธเพราะเพลงของสไมล์บัฟฟาโลเป็นแนวเพลงใหม่เหมือนกันจึงรอเวลาไม่ได้แต่อย่างไรผมก็ซาบซึ้งและขอขอบคุณพี่บอยจากใจและนับถือพี่เขาเสมอมา
เราทั้งสี่คนตระเวนเสนอเพลงตามค่ายต่าง ๆ แต่ทุกที่ก็เงียบหายไปหมด ผมและเพื่อน ๆ เครียดมาก เพราะตอนนั้นไม่ได้รับงานประจำ เงินทองก็ไม่มีใช้จ่าย ต้องอยู่อย่างอด ๆ อยาก ๆ ไปวัน ๆ ช่วงเวลานั้นผมทั้งท้อและเสียใจ จึงตัดสินใจหนีกลับบ้านไปคนเดียว โดยเขียนจดหมายขอโทษทุกคนว่าจะไม่เล่นดนตรีแล้ว
ครั้งหนึ่งผมเคยคิดว่าจะกลับมาพร้อมกับความสำเร็จ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นอย่างใจหวัง ผมกลับบ้านด้วยสภาพที่โทรมและผอมแห้ง เมื่อเห็นแม่ก็โผเข้ากอดท่านและบอกว่า
“หนูกลับมาบวชให้แม่นะ”
จากนั้นผมก็ทิ้งทุกอย่างเพื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ผมตั้งใจเรียนรู้ธรรมะและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ตอนนั้นจิตใจสงบมาก พ่อแม่ก็ชื่นใจ ญาติโยมก็ชื่นชม
แต่บวชได้ไม่นานนัก ชีวิตของผมก็มาถึงทางแยกอีกครั้ง
(โปรดติดตามตอนต่อไปฉบับหน้า)
เรื่อง วรเชษฐ์ เอมเปีย เรียบเรียง เชิญพร คงมา ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์ ผู้ช่วยช่างภาพ กำพล ยอดเมือง แต่งหน้า - ทำผม ภูดล คงจันทร์