เป้ วงมายด์

ถึงจะเกเรแค่ไหน ผมก็จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจให้ได้ – เป้ วงมายด์

ถึงจะเกเรแค่ไหน ผมก็จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจให้ได้ – เป้ วงมายด์

ผม – เป้ บดินทร์ เจริญราษฎร์ ( เป้ วงมายด์ ) ว่าผู้ชายทุกคนมี “จุดอ่อน” เหมือน กันคือการแพ้น้ำตาผู้หญิงครับ ยิ่งถ้าผู้หญิงคนนั้นเป็น “แม่” และน้ำตานั้นหลั่งออกมาเพราะเราด้วยแล้ว ผู้ชายก็ยิ่งรู้สึกแย่และเสียใจไปพร้อม กัน

ตั้งแต่จำความได้ ผมสร้างปัญหาให้พ่อกับแม่มาตลอด และแทบไม่เคยทำอะไรให้ท่านภูมิใจเลย ทั้งก้าวร้าว ทั้งเกเร ดื้อรั้นเถียงหัวชนฝา ฯลฯ ที่หนักที่สุดถึงขั้น “กำหมัด” ตั้งท่าจะชกแม่ก็เคยมาแล้ว

พอเข้าโรงเรียนก็สร้างวีรกรรมไว้มากมาย เริ่มตั้งแต่เรื่องเบา ๆ เช่น แต่งกายไม่เรียบร้อย ผิดระเบียบ โดดเรียน ไปจนถึงขั้นชกต่อยกับเพื่อน (บ่อยมาก) ชุดนักเรียนมอมแมมกลับบ้านทุกวัน ฯลฯ ขนาดช่วงบวชเณรผมยังเคยแอบหนีออกจากวัดเพื่อไปซ้อมดนตรีกับเพื่อน ๆ พอแม่รู้เข้าก็ต้องไปตามผมกลับ

ตอนนั้นผมไม่เคยรู้ว่าพ่อกับแม่รู้สึกอย่างไรที่ต้องไปพบอาจารย์ฝ่ายปกครองเกือบทุกอาทิตย์ ไม่เคยรู้ว่าแม่รู้สึกอย่างไรที่ผมหนีออกจากวัดทั้งผ้าเหลือง และไม่เคยรู้ว่าทำไมแม่ถึงลาออกจากงานที่รักเพื่อมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว (มารู้ทีหลังว่าแม่อยากมีเวลาดูแลผมให้มากขึ้น อยากเจอผมทั้งตอนเช้าและเย็น)

ผมรู้แค่ว่าอยากเป็นที่สนใจ อยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อน เท่านั้นเอง

โชคดีว่าผมยังทำคะแนนได้ดีจึงสอบผ่านเลื่อนชั้นมาได้เรื่อย ๆ ถึงอย่างนั้นพอจะขึ้นชั้น ม.4 โรงเรียนก็ “ตัดสิทธิ์” ไม่ให้ผมเรียนต่อเพราะความประพฤติย่ำแย่เกินจะรับได้ ผมพยายามดิ้นรนจนหาโรงเรียนใหม่ได้ แต่ถึงจะเป็นโรงเรียนใหม่ผมก็ยังเกเรเหมือนเดิมกลางวันเรียนบ้าง โดดบ้าง ส่วนวิชาดนตรีก็เริ่มแก่กล้ามากขึ้นถึงขั้น “แอบ” ไปเล่นดนตรีตามผับกับเพื่อน ๆ แต่แล้ววันหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตก็มาถึง ตอนนั้นเป็นเทศกาลสอบมิดเทอมครับแทนที่ผมจะอ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัดเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ผมกลับนอนเล่นเกมอยู่ในห้องแทน…สักพักก็ได้ยินแม่พูดกับพ่อเบา ๆ ว่า

นี่เราเลี้ยงเขามาแบบไหนกันแน่ เขาถึงได้เป็นแบบนี้” แม่พูดไปก็ร้องไห้ไปด้วย นั่นหมายความว่าผมทำให้แม่เสียใจอย่างหนักจนต้องร้องไห้ออกมา

น้ำตาของแม่ในวันนั้นทำให้ผม เริ่ม คิดได้ว่าพ่อกับแม่รู้สึกแย่แค่ไหนที่ผมเป็นแบบนี้ ผมตัดสินใจทันทีว่าต่อจากนี้ไปผมจะ เติมเต็มในส่วนที่พ่อแม่ต้องการให้ได้

ผมเริ่มตั้งใจเรียนมากขึ้นแล้วหันมาทำกิจกรรมดี ๆ แทน จนได้รับเลือกเป็น “ประธานนักเรียน” ส่วนเรื่องดนตรีที่รักและซุ่มซ้อมมานานก็ถึงเวลาโชว์ฝีมือเสียที ด้วยการเข้าประกวดพานาโซนิค สตาร์ ชาเลนจ์ ในปี พ.ศ. 2546 และก็สามารถคว้าแชมป์ได้สำเร็จ เป็นอันว่า…เส้นทางสายดนตรีเปิดกว้างสำหรับผมและเพื่อน ๆ วงมายด์ (Mild) แล้ว

ผมเริ่มมองไปถึงการเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็ได้แค่มอง เมื่อแม่ยื่นคำขาดว่าแม่อยากให้เป้เรียนอะไรก็ได้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเยอะ เพื่อจบไปจะได้ทำงานดีเป้เรียนให้แม่ได้ไหม” ที่บอกอย่างนี้เพราะแม่ยังมองว่านักร้องนักดนตรีเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ไม่มั่นคง ผมก็เลยตกลงตามใจแม่

จากนั้นผมต้องจัดตารางชีวิตใหม่หมด ไหนจะต้องไปเล่นดนตรีตามผับ ไหนจะเตรียมทำเพลง และที่สำคัญที่สุดคือต้องเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์ ช่วงนั้นผมต้องตื่นตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปโรงเรียน ตอนเย็นไปเรียนพิเศษต่อ จากนั้นไปเล่นดนตรีกับเพื่อน ๆ จนถึงห้าทุ่มแล้วค่อยกลับบ้าน ไปอ่านหนังสือต่อถึงตีสองเป็นอันจบกิจกรรมในหนึ่งวัน ถึงจะเหนื่อยแค่ไหนผมก็บอกตัวเองไว้ว่า “ต้องทำให้ได้ ห้ามเสียฟอร์มเด็ดขาด”

ในที่สุดผมก็ผ่านด่านทดสอบแรกเมื่อสามารถสอบเข้าคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตามที่แม่ต้องการ จากนี้ต่อไปก็ถึงเวลาไล่ล่าปริญญา 2 ใบพร้อม ๆ กันคือ ปริญญาจากการเรียนและปริญญาจากดนตรี ซึ่งอย่างหลังคือ ลมหายใจของผมเลยครับ

ทุกเช้าวันศุกร์ผมต้องแพ็คกระเป๋าเดินทางเตรียมพร้อมเอาไว้ พอเลิกเรียนปั๊บ ผมก็ขึ้นรถทัวร์มุ่งตรงมาทำอัลบั้มที่กรุงเทพฯเลย จากนั้นพอคืนวันอาทิตย์ผมก็นั่งรถทัวร์กลับเชียงใหม่ ฝ่ายพ่อกับแม่ก็ได้แต่เป็นห่วง กลัวว่าผมจะไม่ไหว กลัวจะเรียนไม่จบ ฯลฯ แต่ผมก็สู้ยิบตา เพราะอยากทำให้ท่านเห็นว่า “ผมทำได้”

วันหนึ่งระหว่างที่เราพ่อแม่ลูกทานข้าวกันอยู่ในร้านอาหารแล้วมีเพลงของวงมายด์เปิดขึ้นมา ตอนแรกพ่อกับแม่ฟังกันเงียบเลยครับ แต่พอรู้ชัดว่าเป็นเสียงผมท่านก็อมยิ้มเพียงเท่านั้นผมก็รู้แล้วว่า “ท่านยอมรับผมแล้วจริง ๆ”

ตลอดเวลาสี่ปีครึ่งที่ผมใช้ชีวิตเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ผมทำอัลบั้มได้ถึงสองอัลบั้ม ผมเริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงและเรียนจบในที่สุด ซึ่งอย่างหลัง พอพ่อกับแม่รู้เข้าท่านก็ดีใจยิ้มไม่หุบทีเดียว ถึงขั้นสั่งพริ้นต์แผ่นไวนิลขนาดยักษ์ พร้อมข้อความว่าขอแสดงความยินดีกับนายบดินทร์ เจริญราษฎร์” ติดไว้หน้าปากซอย แล้วก็ปิดซอยเลี้ยงฉลองอย่างใหญ่โต

วันรับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นวันที่ผมจดจำไปตลอดชีวิตเพราะในวันนั้นพ่อกับแม่ดูมีความสุขที่สุดในโลก ส่วนปริญญาด้านดนตรี ผมก็มีเช็คเงินสด 6 หลักมาให้พ่อกับแม่ดู วันนั้นเองเป็นวันที่ท่านทั้งสองเข้าใจแล้วว่าอาชีพนักร้องนักดนตรีไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดเลย ยิ่งล่าสุดผมมีโอกาสเอากุญแจบ้านหลังใหม่ไปให้แม่ ซื้อรถคันใหม่ให้พ่อ นั่นก็ยิ่งตอกย้ำว่า “ผมทำได้” ดนตรีสร้างชีวิตผม ดนตรีเปลี่ยนชีวิตผมจริง ๆ

ผมเริ่มเล่นดนตรีด้วยความรัก อยากทำเพลงดี ๆ ให้วงตัวเองร้อง อยากให้เพลงดัง แต่ในวันนี้ผมเริ่มอยากเขียนเพลงให้คนอื่นร้องบ้าง ยิ่งถ้าเพลงของผมช่วยให้เขา “เกิด” ในวงการนี้ได้ ผมจะถือว่ามันเท่มาก ๆ เลย

ในวันที่ผมเติบโตขึ้น ผมเริ่มมองเห็นอดีตเห็นตัวเองที่เคยเกเร เคยก้าวร้าวผมยิ่งรู้สึกเสียใจว่า “ทำไปทำไม” มาวันนี้ผมรู้แล้วว่าอะไรก็ไม่เท่ ไม่มีค่ามากเท่ากับการใช้เวลาที่มีอยู่ “ดูแลและตอบแทน” พ่อแม่ให้มากที่สุด ให้สมกับที่ท่านดูแลผมมาตลอด 27 ปี…โดยที่ไม่เคยมีคำว่า “ไม่ได้” เลยสักครั้ง 

 

Secret BOX

เมื่อใดที่คุณล้ม จงลุกขึ้นอีกครั้ง แล้วพยายามยืนให้ “มั่นคง” กว่าเดิม

เป้ วงมายด์ (บดินทร์ เจริญราษฎร์)

 

เรื่อง: วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ: สรยุทธ พุ่มภักดี

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.