แด่ดวงวิญญาณอันสูงศักดิ์ ตำนานการสร้างอาคารปฏิบัติธรรม วัดมหาธาตุ
ในคืนที่พระจันทร์เต็มดวง แสงจันทร์สว่างนวลจะสาดส่องลงมายังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทำให้พระราชานุสาวรีย์ซึ่งประดิษฐานอยู่หน้าอาคารปฏิบัติธรรม “เบญจมราชวรานุสรณ์” ดูราวกับมีชีวิตและมีความงามสง่าดุจดังเทพเทวาลงมาจุติ วัดมหาธาตุ
ทว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่า กว่าจะมีอาคารปฏิบัติธรรม “เบญจมราชวรานุสรณ์” ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์แห่งนี้ ได้มีเหตุการณ์เหนือธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย…
ช่วงปลายปี 2550 คุณวิฑูร มิ่งขวัญ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้รับการบอกเล่าจากแม่บ้านประจำโรงยิมของมหาวิทยาลัยว่า วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังทำความสะอาดเก็บกวาดบริเวณโรงยิมในตอนย่ำรุ่ง เธอเกิดความรู้สึกว่ามีใครกำลังจ้องมองอยู่จากบนอัฒจันทร์ เมื่อเธอเงยหน้ามองขึ้นไปที่บันไดอัฒจันทร์ก็เห็นชายหนุ่มหน้าตาดี ดูมีสง่าราศี แต่สีหน้าเศร้าหมอง ชายผู้นั้นไว้ผมรองทรง ใส่เสื้อและกางเกงสีขาว สวมรองเท้าสีดำ อีกทั้งยังปรากฏแสงรัศมีเรืองรองโดยรอบ เธอจ้องมองด้วยความตื่นตะลึง พลันนึกเอะใจว่าใครจะเข้ามาในโรงยิมนี้ได้อย่างไร เพราะประตูล็อกหมดทุกด้าน เมื่อเงยหน้าขึ้นมองอีกครั้ง ภาพของชายลึกลับก็อันตรธานไป!
ต่อมาไม่นานก็ถึงวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดของคุณวิฑูร เขาจึงจัดแจงทำบุญวันเกิดและทำสังฆทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณดวงนั้น หลังจากทำบุญเสร็จแล้ว ปริศนาเรื่องชายหนุ่มผู้นั้นก็ยังค้างคาใจ จนที่สุดจึงนำเรื่องนี้ไปเล่าให้เพื่อนรักสองพี่น้องคือคุณจุฬาวัลย์ พงษ์สุทธิมนัส และ คุณรัตติญา นำเจริญกุล ฟัง เพราะทราบว่าคุณจุฬาวัลย์เป็นผู้มีความสามารถพิเศษในการสื่อความจากไพ่ ปรากฏว่าชายผู้นั้นคือผู้สูงศักดิ์ที่มีบุญญาธิการสูง ทั้งสามคนจึงช่วยกันค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และพบว่าสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตนั้น ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิตฯ ทำให้ทั้งสามท่านเดาว่า ชายปริศนาผู้นั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแน่นอน
หลังจากนั้นคุณจุฬาวัลย์ได้ไปค้นดูรูปเก่า ๆ จากหนังสือประวัติศาสตร์ โดยพยายามเลือกเฟ้นหารูปชายวัยรุ่นรูปงาม สุดท้ายไปติดใจพระฉายาลักษณ์ของพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 5 จึงนำไปถ่ายสำเนา และมอบหมายให้คุณวิฑูรไปหาสำเนาภาพถ่ายของนักศึกษาที่จัดว่าหน้าตาดีในปัจจุบัน ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับหนุ่มน้อยในภาพและไว้ผมรองทรงเหมือนกัน ประมาณ 10 ภาพ แล้วนำไปให้แม่บ้านดู ปรากฏว่าแม่บ้านชี้ไปที่พระฉายาลักษณ์ของพระราชโอรสพระองค์นั้นด้วยความมั่นใจ ซึ่งก็คือภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร นั่นเอง!
หลังจากนั้นคุณจุฬาวัลย์จึงสื่อความจากไพ่อีกครั้ง คราวนี้ได้สื่อสารกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร โดยตรง พระองค์ตรัสว่า ที่มาปรากฏพระองค์ในวันนั้น เพราะมีพระราชกิจที่จะต้องดูแลทรัพย์สินของแผ่นดินสืบต่อจากพระราชบิดา ซึ่งการนี้จะบรรลุผลก็ต่อเมื่อลูกหลานสายตรงของพระองค์ที่ทรงไว้ซึ่งพระบุญญาธิการและพระบารมีเสมอกับพระองค์อีกทั้งดำรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ได้รำลึกถึงพระองค์และทำบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล
ประการสำคัญที่สุด พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์อย่างสมบูรณ์ถูกต้องตามหลักโบราณราชประเพณี เพื่อให้ลูกหลานและประชาชนได้สักการะบูชา เมื่อการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล จะถือว่าพระองค์ทรงสามารถปฏิบัติพระราชกิจได้อย่างครบถ้วนในการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ส่วนสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ของพระองค์นั้น ทรงระบุว่าจะต้องอยู่ ณ บริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญเสมอคู่กรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะต้องตั้งอยู่ในเขตชุมชน ณ บริเวณศูนย์กลาง ซึ่งสามารถดึงดูดให้ชาวต่างชาติที่สัญจรไปมาสังเกตเห็นได้ ซึ่งความที่สื่อออกมาสร้างความหนักใจให้คุณวิฑูรและเพื่อนทั้งสองคนเป็นอย่างมาก ต่างท้อแท้ว่าการนี้ใหญ่หลวงเกินกำลังความสามารถ
จนวันหนึ่งเมื่อสบโอกาส ทั้งสามท่านจึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาคุณยศ เอื้อชูเกียรติ ผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ ดร.นฎาประไพ สุจริตกุล บังเอิญหลังจากนั้นบุตรชายคนโตของทั้งคู่ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุฯ และในวันลาสิกขา พระมหาไสว ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯและผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนานานาชาติ กล่าวว่า ทางวัดมีโครงการที่จะจัดสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระครบรอบ 84 พรรษา แต่ยังติดขัดปัญหาด้านแบบและทุนทรัพย์ในการดำเนินการ คุณยศจึงรับปากว่าจะช่วยสนับสนุนด้านการประสานงานและเรื่องแบบกับกรมศิลปากร รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ เท่าที่จะทำได้ ในที่สุดโครงการจัดสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯจึงเสร็จสมบูรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ยิ่งกว่านั้น เมื่อคุณยศและคุณนฎาประไพได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมีจิตศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เพื่อปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ พร้อมกับพระราชทานนามต่อท้ายเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระโอรสว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ทั้งคู่ก็ยิ่งมีความมุ่งมั่นศรัทธาที่จะให้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศขึ้นที่นี่
และเป็นที่น่ายินดี ที่ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการวัดมหาธาตุฯไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างพระรูปหล่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเนื้อสำริด ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง เพื่อประดิษฐานหน้าอาคารปฏิบัติธรรม “เบญจมราชวรานุสรณ์” โดยการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 และกลายเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนทั่วไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา
*จากหนังสือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในเส้นทางสู่การจัดสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเบญจมราชวรานุสรณ์ และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง ดร.นฎาประไพ สุจริตกุล
เรียบเรียง เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ
ภาพประกอบ ตั๋ง ตั๋ง
บทความน่าสนใจ
วิญญาณทหารกล้า จะปกปักรักษาผืนแผ่นดินไทยตลอดไป
Dhamma Daily : โศกเศร้ากับผู้ที่เสียชีวิต ทำให้วิญญาณไม่ไปสู่สุคติจริงหรือไม่