ชีวิตที่พอและพร้อมของ วันทนีย์ จิราธิวัฒน์
“พร้อมและพอ” คือนิยามชีวิตของ คุณปุ๊ – วันทนีย์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด
ก่อนจะมาอยู่ในจุดของความพร้อมเป็นผู้ให้อย่างสมบูรณ์แบบ เธอเล่าถึงเส้นทางชีวิตว่า
“หลังจากเรียนด้านการโรงแรมจบ ปุ๊ทำงานด้านการโรงแรม อยู่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ทำเทรนนิ่งให้พนักงาน”
เมื่อลูกทั้ง 3 คนขึ้นชั้นมัธยมปลาย เธอลาออกมาดูแลลูก ๆ เพราะมองว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จึงอยากดูแลลูก ๆ อย่างใกล้ชิด หลังจากลูกเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เธอมีเวลาว่างมากขึ้น และเห็นว่าบริษัทกลุ่มเซ็นทรัลมีมูลนิธิเตียงจิราธิวัฒน์ ซึ่งตอบโจทย์การทำงานเพื่อสังคม
“ปุ๊อยากทำงานเกี่ยวกับมูลนิธิ แต่ไม่ได้อยากเอาเงินหรือสิ่งของไปบริจาคแล้วจบ สิ่งที่ทำต้องสามารถต่อยอดได้และมีความยั่งยืน เงินทุกบาทที่ใช้ต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
ด้วยเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่ต้องการทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง จึงทำให้เธอเข้ามาดูแลมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์เต็มเวลา
“หลักการทำงานของมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ คือส่งเสริมความก้าวหน้าและทำประโยชน์ที่ยั่งยืนให้แต่ละท้องถิ่นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแบ่งออกเป็นสี่ด้าน คือ หนึ่ง ด้านอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย สอง ด้านการศึกษา สามด้านสิ่งแวดล้อม และสี่ ด้านการพัฒนาอาชีพตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เราให้ความสำคัญกับข้อสุดท้ายมากที่สุด เพราะถ้าไม่มีอาชีพที่ดี อีกสามข้อก็ไม่เกิดขึ้นหากมีอาชีพที่ดีแล้ว สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลาน ถือเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เราจึงเข้าไปช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือกลุ่มของชาวบ้าน โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เพราะต้องการให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังปลอดภัยต่อผู้ประกอบอาชีพและผู้บริโภคอีกด้วย
“ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเงินที่เราเอาไปช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ คือเงินบริจาคที่มาจากบริษัทในเครือเซ็นทรัลทั้งหมดเมื่อมันเป็นเงินบริจาค เราต้องเอาไปสร้างประโยชน์แก่สังคมให้ได้มากที่สุด ปุ๊บอกลูกน้องทุกคนว่า งานของเราเป็นงานที่ต้องช่วยเหลือคน จึงต้องประหยัดงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ เราต้องกินอยู่แบบธรรมดาที่สุด ถูกที่สุด แล้วเอาเงินทั้งหมดนี้ไปช่วยคนอื่น ไม่มีการเบิกเบี้ยเลี้ยงอะไรทั้งสิ้นซึ่งทุกคนก็ยอมรับได้ ทุกคนมีความสุขกับการได้ทำงานที่เป็นผู้ให้”
เมื่อถามถึงหลักในการทำงาน เธอบอกว่า
“ปุ๊ถือศีล 5 อย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว เพราะศีลเป็นสิ่งกำหนดการปฏิบัติตัวของเรา ส่วนเรื่องของการบริหารจัดการคน ใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ปุ๊มองว่าทุกคนมีความสำคัญและมีดีในตัวเอง ทุกคนอยากทำดี เราต้องดึงตรงนั้นออกมา ปุ๊ให้คุณค่ากับลูกน้องทุกคน สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง หรือถ้าปุ๊พูดอะไรออกมาแล้วไม่เห็นด้วยบอกได้เลย ยินดีรับฟัง เพราะถือว่าทุกคนมีสิทธิ์ มีมุมมองแตกต่างกัน
“ปุ๊อยู่ต่างประเทศมาตลอดตั้งแต่อายุ 12 ปี จะมองไปในมุมหนึ่ง ในขณะที่คนที่โตมาในต่างจังหวัดจะมีอีกมุมมองหนึ่ง หลายครั้งเขามีความรู้มากกว่าเราด้วยซ้ำ เราต้องฟังให้มากแล้วเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ บางอย่างเราไม่รู้ เขาก็สอนเราได้ ไม่ใช่ว่าเป็นเจ้านายจะต้องเก่ง ต้องรู้ทุกอย่างมันไม่ใช่”
แม้จะเป็นงานที่ไม่ได้หวังผลกำไรตอบแทน แต่ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคในการทำงาน
“ตอนที่ไปเป็นวิทยากรให้งานโอทอปจังหวัดหนองคายได้เจอกับคุณสุเนตร ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนอยู่ที่อำเภอพบพระจังหวัดตาก เป็นชุมชนม้งที่ทำข้าวเหนียวลืมผัว เขามาขอให้มูลนิธิไปช่วยเหลือ เมื่อลงพื้นที่จึงรู้ว่าเขาปลูกข้าวพันธุ์ดี แต่ต้องใช้โรงสีข้าวโบราณของชุมชนเพื่อนบ้าน เนื่องจากไม่มีโรงสีของตัวเอง
“เรื่องแรกที่เรากังวลคือ อำเภอพบพระเป็นพื้นที่ที่ดินมีแคดเมียมสูง แล้วข้าวเป็นพืชที่ดูดแคดเมียม อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ จึงปรึกษากับอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พออาจารย์เก็บตัวอย่างดินกับเมล็ดพันธุ์ไปตรวจ ปรากฏว่าไม่มีสารตัวนี้อยู่ในดินและข้าวเพาะปลูกบนเขา เราก็เบาใจ
“เมื่อตัดสินใจว่าจะทำโรงสีข้าวให้เป็นสมบัติของชุมชนก็เกิดปัญหาว่า คนในชุมชนหลายคนมองว่าเราเข้ามาทำแบบนี้เพราะต้องการผลประโยชน์จากเขาหรือเปล่า แต่ปัญหาคือเขาพูดและฟังภาษาไทยไม่ได้ ทำให้ทำงานยากขึ้นไปอีกเราก็ต้องพยายามสื่อสารผ่านล่ามและแสดงให้เห็นว่าเราช่วยด้วยใจ ทำให้เขาไว้ใจด้วยการไปหาเขาบ่อย ๆ เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ จนตอนนี้เขาสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนได้”
คุณสมบัติสำคัญสำหรับงานที่ต้องช่วยเหลือคนอื่นคือการเป็นคนหูตากว้างไกลและมองหาทุก ๆ โอกาสในปัญหา
“อย่างกรณีของพี่ยิ่งที่อยู่ในชุมชนบ้านบ่อเหมืองน้อยจังหวัดเลย เขาปลูกแมคาเดเมีย ในขณะที่มีชาวบ้านอีกไม่น้อยที่ยังไม่มีอาชีพ เราจึงเข้าไปสนับสนุนอาชีพโดยการลงทุนให้ชาวบ้านปลูกป่าแมคาเดเมียทั้งหมด 10,000 ต้นในเนื้อที่ 400 ไร่ แต่ปัญหาคือแมคาเดเมียเป็นพืชที่ให้ผลระยะยาว ต้องรอ 5 - 7 ปีจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ระหว่างที่รอผลผลิต ชาวบ้านไม่มีรายได้ เราจึงให้เขาปลูกไหลสตรอว์เบอร์รี่ (ต้นอ่อนของสตรอว์เบอร์รี่) เราลงทุนให้เขาประมาณ 250,000 บาท เขาขายได้ 300,000 บาท เพียงปีแรกก็ได้กำไรเลย
“ทีนี้การปลูกไหลสตรอว์เบอร์รี่ทำได้แค่ช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม แล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แค่ช่วงฤดูหนาวเท่านั้น แต่เราอยากให้เขามีรายได้ตลอดทั้งปี จึงให้ปลูกมะเขือเทศด้วย และสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ให้แปรรูป การแปรรูปช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างเห็นได้ชัด ปกติแล้วมะเขือเทศกิโลกรัมละ 50 บาท หลังจากแปรรูปเป็นมะเขือเทศ
อบแห้ง สามารถขายได้กิโลกรัมละเกือบ 2,000 บาท ทำให้ชาวบ้านมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวตลอดทั้งปี”
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาของชุมชนหนึ่งอาจใช้ไม่ได้กับอีกชุมชนหนึ่ง เพราะแต่ละชุมชนมีความพร้อมและต้องการแตกต่างกันไป
“เช่นชุมชนในจังหวัดชัยนาทที่ทำข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิกเขาบอกว่าไม่ต้องการโรงสี เพราะเขาไม่สามารถบริหารจัดการได้ เมื่อเขาบอกความต้องการชัดเจนแบบนี้ เราก็ต้องทำตามความต้องการของเขา ในขณะที่ทุกคนอาจเห็นว่ามะขามเก็บจากต้นแล้วกินได้เลย แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ที่เรามีมะขามหวานกินตลอดทั้งปีเพราะผ่านการแช่เย็น แล้วต้องอบความร้อนเพื่อป้องกันไม่ให้ขึ้นรา แต่ชุมชนปลูกมะขามหวานแห่งหนึ่งที่เพชรบูรณ์ไม่มีโรงงานแปรรูปเลย มูลนิธิจึงเข้าไปทำห้องเย็นโรงอบ และห้องแปรรูปให้ ซึ่งนอกจากใช้เป็นที่เก็บมะขามหวานแล้ว ยังสามารถแปรรูปผลผลิตเป็นสินค้าอย่างอื่น เช่นมะขามรสบ๊วย มะขามคลุกน้ำตาล สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมได้อีกด้วย”
ไม่ว่าจะพบเจออุปสรรคมากน้อยเพียงใด ก็ไม่ทำให้เธอท้อถอยเลยแม้แต่น้อย เพราะผลที่ได้รับคือความสุขที่ใช้เงินซื้อไม่ได้
“ครั้งหนึ่งปุ๊ลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดพัทลุงซึ่งมีโครงการทำข้าวสังข์หยด ได้เจอกับพี่มาลีซึ่งเป็นคนที่มีแววตามุ่งมั่นและดูมีความหวังอยู่ตลอดเวลา เราไปช่วยสร้างโรงแปรรูปให้กับชุมชน พอชุมชนของเขามีรายได้ดีและมั่นคง เขาก็ไปถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับอาชีพให้ชุมชนอื่นต่อ เขาไม่เอาตัวรอดคนเดียว นอกจากนี้พี่มาลียังดึงญาติพี่น้อง คนในชุมชนที่ไปทำงานที่อื่นให้กลับมาทำงานที่บ้าน ปุ๊มีความสุขที่การช่วยเหลือของเราได้รับการต่อยอดไปเรื่อย ๆ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเธอไม่เคยหวังว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนใด ๆ
“ปุ๊ไม่อยากได้หน้า ไม่อยากได้ตำแหน่ง ไม่อยากได้ยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่อยากได้อะไรเลยจริง ๆ แม้กระทั่งเรื่องลูกก็ไม่ได้หวังอะไร แค่เขาไม่ทำให้หนักใจ เป็นเด็กเรียนดีมีความรับผิดชอบก็พอแล้ว ครอบครัวก็ดีอยู่แล้ว ชีวิตมีครบทุกอย่างแล้ว ปุ๊พอแล้วนะ”
“พอ” คำสั้น ๆ ที่ทำให้คนเรามีความสุข
เรื่อง อุรัชษฎา ขุนขำ ภาพ วรวุฒิ วิชาธร สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์