พศิน อินทรวงค์ กับเส้นทางแห่งสุขในโลกแห่งธรรม

พศิน อินทรวงค์ เดินไปสู่ความสุข

พศิน อินทรวงค์ อดีตนักแต่งเพลง ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนหนังสือธรรมะ เจ้าของผลงาน สมถะเท้าขวา วิปัสสนาเท้าซ้าย, ตีตั๋วดูตัวตน, อำนาจพลังจิต, พระพุทธเจ้าสอนเศรษฐี ฯลฯ อะไรทำให้ชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จในทางโลกคนหนึ่งหันมาสนใจธรรมะอย่างจริงจัง

ชีวิตในวัยเด็กของคุณพศิน

ผมเติบโตมากับความขัดแย้งในตัวเอง  พ่อผมเป็นวิศวกรที่ชอบทำธุรกิจ ขณะเดียวกันก็สนใจธรรมะมาก  พ่อปลูกฝังทั้งสองเรื่องนี้ให้ผม  สมัยเด็ก ๆ เคยถามพ่อว่าเป็นวิศวกรกับเป็นพระอรหันต์อย่างไหนดีกว่ากัน  พ่อตอบว่าวิศวกรพ่อก็เป็นอยู่  ดีบ้างไม่ดีบ้าง  ดังนั้นเป็นพระอรหันต์จึงดีกว่าเพราะเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ทุกข์  ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก  ได้ยินแล้วผมรู้สึกว่าการเป็นพระอรหันต์น่าจะมีอะไรพิเศษกว่าคนทั่วไป  นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจธรรมะ

ที่บ้านของผมมีหนังสือเยอะมาก  เรียกว่าเป็นห้องสมุดย่อม ๆ ได้เลย  หนังสือที่ผมอ่านอย่างจริงจังเป็นเล่มแรกคือสามก๊ก ตอนนั้นอยู่ ป. 2 ที่อ่านไม่ใช่เพราะอยากอ่าน แต่อ่านเพราะอยากได้จักรยาน อ่านเสร็จแล้วไปตอบคำถาม  ถ้าตอบถูกพ่อจะซื้อจักรยานให้  สามก๊กจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอ่านหนังสือคล่อง นอกจากนี้ผมยังได้อ่านหนังสือของนักเขียนเก่ง ๆ อีกหลายท่าน เช่น  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  หลวงวิจิตรวาทการกิมย้ง  โกวเล้ง  ไปจนถึงหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์ต่าง ๆ  เมื่ออ่านแล้วก็มานั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพ่อพ่อไม่ได้คุยกับผมแบบเด็ก  แต่เราคุยกันแบบผู้ใหญ่  ผมจึงเป็นเด็กที่ค่อนข้างโตเกินวัย  จนเรียกได้ว่าไม่มีวัยไร้เดียงสาเหมือนเราเป็นผู้ใหญ่ในร่างเด็กน่ะแหละครับ

สิ่งที่ผมสงสัยมาตลอดคือเรื่องของความตาย  เมื่อคนเราเกิดมาย่อมต้องตาย  ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง  แล้วอย่างนี้เราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร  หากว่ากันตามสูตรของการบริหารจัดการ  สิ่งไหนที่ทำแล้วได้ผลลัพธ์เป็นศูนย์  ทำแล้วมีค่าเท่ากับไม่ทำ  นั่นคือการกระทำที่สูญเปล่า ผมคิดว่าก็คล้ายชีวิตคนเรา  เริ่มที่ศูนย์ จบที่ศูนย์  เกิดมาใช้ชีวิตไปสักพักแล้วก็ตาย  ถ้าเทียบชีวิตเป็นตรรกะ  1 + 1 ไม่ใช่ 2  แต่เป็น 0 ถ้าอย่างนั้นเราฆ่าตัวตายตอนนี้เลยดีไหมเพราะผลลัพธ์ก็เท่ากัน  นี่คือความสงสัยที่ตอบตัวเองไม่ได้ในตอนนั้นแล้วความสงสัยเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตอย่างไรบ้างคะ

ผมกลายเป็นคนทำอะไรสุดโต่ง  เหมือนใช้ชีวิตของตนเองเป็นเครื่องมือแสวงหาความจริงบางอย่าง  กลายเป็นนักเรียนที่ชอบทำผิดระเบียบ  ไปโรงเรียนสาย  กลับบ้านดึกเกเรมากจนโรงเรียนเชิญผู้ปกครองไปพบ  ถูกทำโทษหน้าเสาธงเป็นประจำ  ผลการเรียนออกมาแปลก ๆ  เช่น  ตอนมัธยมต้นผมได้เกรด 4 เจ็ดวิชา และเกรด 0 เจ็ดวิชา  คือวิชาไหนชอบผมจะอ่านหนังสือเป็นสิบ ๆ รอบ  ท่องจนขึ้นใจ  แต่วิชาไหนไม่ชอบก็ไม่สนใจเลย  เรียกว่าไม่มีความพอดีในชีวิต  ซึ่งทำให้แม่เป็นห่วงผมมาก  แต่การเป็นเด็กมีปัญหาบ่อย ๆ มีข้อดีเหมือนกัน  เป็นข้อดีในข้อเสีย  เพราะมันสอนให้ผมรู้จักแก้ไขสถานการณ์ ทำให้ผมไม่กลัวปัญหา  ไม่กลัวความเปลี่ยนแปลง

พอขึ้นชั้นมัธยมปลาย  ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องเรียนเท่าที่ควร  เพราะค้นพบว่าตนเองมีความสามารถแต่งเพลงได้เรื่องราวความฝันของผมมันเกิดขึ้นง่าย ๆ  วันหนึ่งผมเล่นเพลงที่ตัวเองแต่ง  แล้วบันทึกเสียงใส่เทปคาสเส็ท  พอเอาไปให้เพื่อนที่โรงเรียนฟัง  ปรากฏว่าเพื่อนคนหนึ่งชอบมากถึงขนาดขอยืมเทปกลับไปฟังที่บ้าน  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ผมกลายเป็นเด็กที่ถือสมุดโน้ตไว้ในมือตลอดเวลา  คิดอะไรได้ก็จด  เวลามองอะไรก็คิดเป็นพล็อตเพลงหมด  มีประกวดแต่งเพลงที่ไหน  ผมส่งเพลงไปประกวดด้วยทุกที่  บอกตัวเองตั้งแต่วันนั้นว่ายังไงชีวิตนี้จะต้องเป็นนักแต่งเพลงอาชีพให้ได้

หลังจากเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการผมเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่เอแบค ช่วงนั้นถือเป็นช่วงเวลาไล่ล่าความฝันของตนเอง  นอกจากการแต่งเพลงแล้ว ผมอยากหาเงินใช้เอง  จึงคิดทำธุรกิจไปด้วย  ยุคนั้นตู้สติ๊กเกอร์บูมมาก  ผมจึงสั่งตู้มาจากญี่ปุ่น  เป็นตู้ที่ถ่ายภาพได้คมชัดและสามารถแต่งภาพได้  ปรากฏว่าลูกค้าชอบกันมากนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมสามารถหาเงินได้เป็นเรื่องเป็นราว ชีวิตมาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งตอนเรียนอยู่ชั้นปี 3 หลังจากทุ่มเทความพยายามมาหลายปี  ในที่สุดผมก็ได้เป็นนักแต่งเพลงสมใจ  ผมเริ่มต้นทำงานที่บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่จำกัด  (มหาชน)  มีเงินเดือนประจำ  เข้าทำงานอาทิตย์ละ 2 วัน ที่นั่นคือสวรรค์สำหรับผม  ได้เจอเพื่อนที่ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน  ได้ร่วมงานกับศิลปินเก่ง ๆ  เช่น  พี่ตู่ - นันทิดา แก้วบัวสาย, พี่ก้อย - ศรัณย่า  ส่งเสริมสวัสดิ์,  วงอินคา  และอีกหลายท่าน  ผลงานแรกที่ได้บันทึกเสียงคือเพลง “ดอกไม้ของเธอ  ความรักของฉัน” ของ คุณนิหน่า - สุฐิตา  ปัญญายงค์ช่วงนั้นรู้สึกสนุกกับชีวิตมาก  อยากเป็นอะไร  อยากมีอะไรก็สมหวังไปหมดทุกอย่าง  คณะที่ผมเรียนเป็นหลักสูตร 5 ปีพอขึ้นปี 4 ผมก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย  เพราะรู้สึกว่าการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยมันไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผมเนื่องจากเวลานั้นผมมีเรื่องที่ต้องทำหลายอย่าง

พศิน อินทรวงค์

ชีวิตที่สมปรารถนาไปเสียทุกอย่างคงทำให้ช่วงนั้นมีความสุขมากใช่ไหมคะ

ตอนนั้นถ้าใครดูภายนอกจะมองว่าผมมีชีวิตที่ดี  พูดง่าย ๆ ว่ามันเป็นชีวิตที่ได้อย่างใจเรา  แต่ส่วนตัวแล้วผมไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขอะไรมากมาย  ผมยังมีช่วงที่รู้สึกเหงา ขณะที่คำถามในวัยเด็กรุมเร้าเข้ามาเรื่อย ๆ ว่า  “เราเกิดมาทำไม”“ชีวิตคืออะไร” “ทำไมผมจึงเป็นผมอย่างทุกวันนี้” ความสงสัยพวกนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยได้คุยกับใคร  เพราะรู้ดีว่าคนที่ได้ยินได้ฟังจะหาว่าไร้สาระ  มันอาจเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับคนอื่น  แต่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผม  เวลานั้นผมเริ่มสังเกตเห็นว่าตัวเองนอนแค่วันละ 3 - 4 ชั่วโมง  กลายเป็นคนที่หยุดความคิดตัวเองไม่ได้  ผมไม่เคยหยุดคิด  มันก็เลยนอนไม่หลับ  เคยไม่นอนติดกันนานถึง 7 วัน  ขณะที่ไม่ได้นอนก็คิดแล้วเขียน  เขียนแล้วก็คิด  วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้นจนเริ่มกลายเป็นความทุกข์  ตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกกลัวความคิดของตัวเองมาก  เพราะตระหนักว่าเรากำลังตกเป็นทาสของความคิด  และถ้ายังปล่อยให้ความคิดเล่นงานอยู่แบบนี้  ผมอาจตายได้  จึงต้องหาวิธีจัดการกับตัวเองขั้นเด็ดขาด

ทำอย่างไรคะ

ผมเริ่มศึกษาเรื่องความคิด  อ่านทุกอย่างที่เป็นปรัชญาจิตวิทยา  และศาสนา  จำได้ว่าหนังสือธรรมะที่ผมอ่านเล่มแรก ๆ เป็นของท่านพุทธทาส  ผมหยิบหนังสืออานาปานสติของท่านมาอ่าน  แล้วทดลองทำสมาธิด้วยตนเอง  ก็พบว่ามันได้ผล  สมาธิช่วยหยุดความคิดของผมได้  นอกจากนี้ยังทำให้ผมมีความคิดที่เฉียบคมขึ้น  งานของผมเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก  สมาธิจึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงานและชีวิตของผมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากที่ทำงานเป็นนักแต่งเพลงไปพักใหญ่  เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน  ธุรกิจเพลงเริ่มซบเซา  เทปผีซีดีเถื่อนระบาดไปทั่วเมือง  ผมจึงลาออกจากแกรมมี่มาเปิดบริษัทส่วนตัว  เป็นบริษัทผลิตสื่อประชาสัมพันธ์การตลาด  โดยเน้นไปที่การผลิตบทเพลงประจำองค์กร  จำได้ว่าสามเดือนแรกติดต่อบริษัทไปเป็นร้อย  แต่ไม่มีงานเข้ามาเลย  ทุกบริษัทปฏิเสธทั้งหมด  ลูกค้าไม่รู้ว่าเพลงประจำองค์กรคืออะไร  มีไว้ทำไม  และทำไมต้องมี  หลังจากปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนออยู่พักใหญ่ ในที่สุดก็เริ่มมีงานเข้ามาในเดือนที่สี่  ความรู้สึกเหมือนคนอยู่กลางทะเลทรายแล้วเจอโอเอซิส  ดีใจมาก  เพลงองค์กรที่แต่งเป็นเพลงแรกคือเพลงของโรงเรียนกวดวิชาดาว้องก์  จากนั้นก็มีงานติดต่อเข้ามาเรื่อย ๆ  บางเดือนมีงานเข้ามาเยอะจนแต่งเพลงแทบไม่ทัน  ถือเป็นช่วงชีวิตที่ผมตั้งตัวได้สำเร็จ  ตอนนั้นอายุประมาณ 26 - 27 ปี  แต่มีบ้านมีรถยนต์  มีเงินเก็บ  และมีบริษัทเป็นของตัวเอง

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้มาเป็นนักเขียนคืออะไรคะ

หลังจากเปิดบริษัทมาได้ประมาณสามปี  ผมมีโอกาสไปบวชเรียนที่จังหวัดพัทลุง  แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ  แต่ก็ทำให้ผมตกผลึกทางความคิดหลายอย่างเกี่ยวกับชีวิตตัวเองผมอยากมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น  เพราะก่อนหน้านั้นทำงานเยอะมาก  คิดอยากจะเขียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราว  รู้สึกว่าการเขียนหนังสือเป็นงานที่สนุก  ทำแล้วมีความสุข  เราสามารถอยู่กับการทำงานตรงนี้ได้นานโดยไม่รู้สึกเบื่อ  อีกอย่างหนังสือเป็นเครื่องมือช่วยเหลือคนอื่นได้  ที่สำคัญ ผมชอบวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของนักเขียน แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนทำอะไรได้ทีละอย่าง  พอทำงานเขียนไปสัก  มีงานเพลงเข้ามาก็ต้องพักงานเขียนไว้ก่อน  เป็นอย่างนี้ตลอด  เขียน ๆ หยุด ๆ มีผลงานออกมาบ้าง  แต่ก็ไม่ต่อเนื่อง  จึงตัดสินใจเด็ดขาดที่จะพักงานแต่งเพลงทั้งหมด  แล้วมาทุ่มเวลาให้กับการทำงานเขียนหนังสืออย่างจริงจัง

ผมเขียนตารางชีวิต  แล้วเริ่มต้นใช้ชีวิตตามตาราง  ตื่นตั้งแต่ตีสี่  ทำสมาธิก่อนแล้วจึงออกไปวิ่งตอนตีห้า  จากนั้นอาบน้ำ  รับประทานอาหาร  พอเก้าโมงเริ่มนั่งลงที่โต๊ะทำงานเขียนงานไปเรื่อย ๆ  บ่ายโมงพักกินข้าว  เสร็จแล้วทำงานต่อจนถึงห้าโมงเย็น  ผมทำอย่างนี้ทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม จนผลิตต้นฉบับออกมาได้เกือบสิบเล่ม  จากนั้นก็มีงานเขียนทยอยออกมาเรื่อย ๆ  ปีละ 6 เล่ม  ทุกวันนี้นอกจากงานเขียนก็มีองค์กรต่าง ๆ ติดต่อให้ไปเป็นวิทยากรเสมอ ๆ

ธรรมะสอนอะไรคุณพศินบ้าง

ธรรมะสอนให้ผมรู้ว่าชีวิตเป็นของชั่วคราว  เราแต่ละคนถือเวลาไว้แค่คนละ 1 วินาทีเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งหมดก็กลายเป็นอดีต  อนาคตคือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  แล้วทำไมมนุษย์ยังชอบวางแผนต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า  ผมเคยเป็นคนชอบวางแผนล่วงหน้าห้าปี  สิบปี ว่าชีวิตของฉันจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ตอนนี้ไม่แล้ว เพราะเข้าใจแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงคืออะไรเราวางแผนได้  แต่เราต้องบอกตัวเองด้วยว่าความเปลี่ยนแปลงอาจเข้ามาทักทายเราได้ทุกเมื่อ และมันจะมาแน่

วันหนึ่งผมอาจกลายเป็นคนพิการ  เป็นมะเร็ง หรือเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นก็ได้  ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมดสิ่งเดียวที่ทุกคนมีคือเวลาในปัจจุบัน วินาทีต่อวินาที  แค่หายใจเข้า หายใจออก  สิ่งที่เป็นของจริงมันมีอยู่เท่านี้  ไม่ว่าจะมีความต้องการมากไปกว่านี้แค่ไหน  แต่ธรรมชาติให้เราได้เพียงแค่นี้  พระพุทธเจ้าจึงทรงให้ความสำคัญกับอานาปานสติมาก  เพราะท่านต้องการให้เราตื่นจากฝัน แล้วใช้ชีวิตอยู่กับหนึ่งวินาทีที่เป็นของเราจริง ๆ

การมีมุมมองเรื่องความแน่นอนคือความไม่แน่นอน  ส่งผลให้มุมมองด้านความรักของเราต่างจากคนอื่นๆ บ้างไหมคะ

ทุกวันนี้ผมก็มีภรรยามีครอบครัวแล้ว  การมองเห็นธรรมะไม่ได้ทำให้ความรักของผมแตกต่างไปจากคนอื่น  ยังมีความรู้สึกร้อน หนาว  หิว  เหนื่อย  เพียงแต่ผมตระหนักว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของจีรังยั่งยืนอะไร  ทั้งสุขและทุกข์ล้วนเหมือนกัน  มีช่วงเวลาผ่านมาและผ่านไป  การมีมุมมองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องชั่วคราวไม่ได้สร้างปัญหาอะไรในความสัมพันธ์  อย่างครอบครัวของผม  เราจะพูดคุยกันด้วยหลักแห่งความจริงที่ว่า  “ชีวิตคือเรื่องชั่วคราว” เรามาพบกันเพียงชั่วคราว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องทำไม่ดีใส่กันและผมจะมองดูทุกอย่างแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คือโยนิโสมนสิการ  ได้แก่  การมองด้วยปัญญา  เห็นว่าทุกอย่างพาไปสู่กฎไตรลักษณ์  มีเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  ดังนั้นไม่ว่าผมจะอยู่กับใคร  ผมจะไม่มีภาวะบีบคั้น  กดดัน  ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง  เพราะเราเข้าใจว่าทุกคนก็คือชั่วคราวไม่ต่างอะไรจากตัวเรา

พศิน อินทรวงค์

มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยู่ในสังคมวัตถุนิยมให้ละกิเลสบ้างไหมคะ  เพราะคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายสักเท่าไรนัก

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าธรรมชาติของจิตนั้นต้องการความสุข  จิตอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีความสุข  ความสุขมีด้วยกันห้าระดับ  ได้แก่  ความสุขทางกาย  ความสุขทางใจ  ความสุขจากสมาธิ  ความสุขจากการกำหนดรู้ตามจริง  และความสุขจากวิมุติหรือการหลุดพ้น

สองระดับแรกเป็นความสุขในชั้นหยาบ  เป็นความสุขที่ยังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก  อำนาจของวัตถุนั้นมีผลกับความสุขในสองระดับนี้แน่นอน  ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม  ส่วนความสุขในสามระดับหลังเป็นความสุขในชั้นละเอียดที่อำนาจวัตถุเข้าไปไม่ถึง  เพราะเป็นความสุขที่ปะทุจากภายใน  เป็นความสุขที่ไม่ยึดโยงอยู่กับสิ่งภายนอกทั้งรูปและนาม

เมื่อจิตไม่มีศักยภาพพอจะหาความสุขในชั้นละเอียดมันก็จำเป็นต้องมีความสุขในชั้นหยาบไปก่อน  เหมือนคน

ที่ไม่มีเงินกินของแพงก็ต้องกินของถูกไปก่อน  ไม่อย่างนั้นเขาก็อยู่ไม่ได้  ดังนั้นวิธีที่เราจะทำให้คนในสังคมลดค่านิยมทางวัตถุลงไป จึงไม่ใช่การพยายามไปบอกว่าวัตถุเป็นสิ่งไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้  แต่ต้องแทนที่ความสุขของเขาด้วยความสุขที่ละเอียดกว่านั้น  ต้องเปิดโอกาสให้เขามาเรียนรู้หลักธรรมต่าง ๆ  รวมถึงการวิปัสสนา  ซึ่งเป็นวิธีที่จะเข้าไปช่วยเปลี่ยนสภาพจิตใจอย่างตรงไปตรงมาที่สุด  ถึงตอนนั้นจิตที่มีสติปัญญาก็จะทิ้งความสุขแบบหยาบไปเอง

กิเลสในใจคนเหมือนสิงโต  เมื่อใดที่สิงโตถูกขังและไม่ให้อาหารมันเพิ่ม  พลังของมันก็จะร่อยหรอลงไป  การปฏิบัติเพื่อละกิเลสเบื้องต้นคือการไม่ตามใจตัวเอง  พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่าทวนกระแสกิเลส  คือไม่ตามใจความอยากซึ่งรวมถึงอยากดีและไม่ดี  เช่น  อยากได้เสื้อผ้าสวย ๆ ก็ไม่ซื้อแรก ๆ อาจทรมานใจ แต่นาน ๆ ไปเราจะเกิดความสุขใจว่าเราละได้ ต้องค่อย ๆ พยายามละจากสิ่งหยาบ ๆ ภายนอกก่อนหลวงปู่มั่นเคยกล่าวไว้ว่า  “ถ้าเราต้องการความสุขในชั้นละเอียดกว่า เราต้องละชั้นหยาบให้ได้ก่อน” นั่นหมายความว่าเมื่อคุณเดินห่างออกจากฝั่งโลกียะมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับคุณเข้าใกล้ฝั่งโลกุตตระมากขึ้นเท่านั้น

เป้าหมายในชีวิตต่อจากนี้คืออะไรคะ

พระพุทธศาสนาของเรามีคำคำหนึ่งที่น่าสนใจ  คือคำว่า “สันโดษ” แปลว่าความพอใจ สิ่งนี้ทำได้ยากมาก เพราะความพอใจคือขั้วตรงข้ามกับคำว่าความอยาก  ถ้าเป็นไปได้ผมอยากใช้ชีวิตเดินไปให้ใกล้กับคำคำนี้ให้มากที่สุด  นั่นคือเป้าหมายภายใน  ส่วนเป้าหมายภายนอก  ผมตั้งใจจะเขียนหนังสือต่อไปเรื่อย ๆ  เพราะงานเขียนเป็นงานที่ผมรัก  แม้วันข้างหน้ากลายเป็นมหาเศรษฐีก็ยังเลือกที่จะเขียนหนังสืออยู่  ผมตั้งใจว่าจะจับหลักธรรมที่เป็นแก่นมาเขียนมากขึ้นแต่จะสร้างงานเขียนที่มีจิตวิญญาณของความเป็นสากล  คืออ่านแล้วไม่รู้ว่าเป็นงานเขียนที่อยู่ในกรอบของศาสนา  เพื่อให้คนต่างศาสนานำหลักธรรมของพระพุทธเจ้าไปใช้ได้อย่างไม่เคอะเขิน

เคยมีผู้อ่านท่านหนึ่งแต่งกายในชุดสุภาพสตรีมุสลิมหยิบหนังสือ ตีตั๋วดูตัวตน ขึ้นมา แล้วถามว่า “นี่คือหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนารึเปล่า” ผมตอบว่า “ไม่ใช่ มันคือหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง” ไม่กี่วันต่อมาเธอส่งข้อความเข้ามาขอบคุณ  และบอกว่าเธอชอบหนังสือเล่มนี้มาก  และยังซื้อเพิ่มอีกหลายเล่มเพื่อนำไปแจกเพื่อน

ผมถือว่าตัวเองเป็นหนึ่งในบุคคลที่โชคดีที่สุดในโลกหนึ่ง  ผมได้รู้แล้วว่าชีวิตคืออะไร และจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรสอง  ผมได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและมีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่ผมทำ  สาม  ผมมีฐานะและความสบายกายตามอัตภาพไม่เดือดร้อนเงินทอง  สี่  ทุกคนในครอบครัวรักและดูแลผมเป็นอย่างดี  ห้า  ผมคบความเปลี่ยนแปลงเป็นเพื่อน  เราสนิทกันมากและเพื่อนคนนี้ก็ไม่มีวันทิ้งผมไปไหน  นับข้อดีของชีวิตได้ตั้งห้าข้อ  ถ้ายังไม่พอใจกับชีวิตอีกผมก็คงเป็นคนที่โลภมากเกินไป

เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า  “ตราบใดที่ดำเนินชีวิตอย่างมีสติและมีธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเป็นที่พึ่งชีวิตของเราก็ย่อมพบทางออกที่ดีเสมอ” 


เรื่อง สุญญตา  ภาพ สรยุทธ  พุ่มภักดี  สไตลิสต์ ณัฏฐิตา  เกษตระชนม์

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 เรื่องเกี่ยวกับความคิดที่สำคัญสุดๆ แต่แทบไม่มีใครรู้!!! โดยคุณพศิน อินทรวงค์
ดับความโกรธ เกลียดด้วยการเจริญเมตตา โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

พาใจของเรากลับบ้าน เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.